‘ปานปรีย์’ ปลุกไทยตื่นรับมือความผันผวนเศรษฐกิจโลก

‘ปานปรีย์’ ปลุกไทยตื่นรับมือความผันผวนเศรษฐกิจโลก

“ปานปรีย์” ระบุ 15 ปีเศรษฐกิจโลกผันผวน เจอความเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ไทยไม่พ้นวิบากกรรม ชี้ไทยจําเป็นต้องปรับตัวให้ทันกระแสโลก แนะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ อัปสกิล หนุนอุตสาหกรรมเก่าปรับตัวสู่เศรษฐกิจยุคใหม่

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจไทย” ในโอกาสครบรอบ 27 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ในวันที่ 4 ก.ค.2567 ว่า เศรษฐกิจโลกผันผวนมาตลอด โดยช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ผันผวนมากสุดช่วงวิกฤติ Sub-Prime ปี 2551 และผลกระทบจากโควิด-19 ในปี 2563 

ขณะที่หลังปี 2563 การค้าการลงทุนโลกขยายตัวได้ไม่เต็มที่ ซึ่งมีปัญหาต่อเนื่องกับภาวะผลกระทบจากสงครามยูเครน-รัสเซีย และอิสราเอลกับปาเลสไตน์  รวมทั้งมีปัญหา Technological Disruption , โลกร้อน , ภูมิรัฐศาสตร์ ที่มีผลต่อการค้าการลงทุนโลก ซึ่งทําให้ธุรกิจปรับยุทธศาสตร์ และวางแผน global supply chain เพราะเกิดการย้ายฐานการผลิต

ทั้งนี้ ไทยพึ่งรายได้จากการส่งออกมากกว่า 70% ของ GDP และมีรายได้จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิเศรษฐกิจโลกจึงส่งผลทําให้การส่งออก และการลงทุนจากต่างประเทศที่เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาตลอดเริ่มมีปัญหาการย้ายฐานการผลิตออกจากไทย

โดยมูลค่าการส่งออกไตรมาส 1 ปี 2567 ลดลง 0.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้วจากผลกระทบเศรษฐกิจโลก รวมถึงจากการหดตัวของการผลิตเพื่อส่งออกจากการขยายตัวของการส่งออกที่ลดลง ส่งผลทําให้ GDP ไทยขยายตัวต่ำ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดไว้ที่ 2.2-2.7% ถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่นที่เป็นประเทศกําลังพัฒนาด้วยกันในอาเซียน

นายปานปรีย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจในประเทศมีปัญหาหนี้สาธารณะเพิ่มมาอยู่ระดับ 65.05% ทําให้การใช้จ่ายภาครัฐมีข้อจํากัด ขณะที่หนี้ครัวเรือนสิ้นปี 2567 มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นที่ 91.4% ต่อ GDP ซึ่งมีผลต่อการบริโภคในประเทศ 

รวมทั้งปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้งทําให้นโยบายการพัฒนาประเทศขาดความต่อเนื่อง นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยจะเจอกับปัญหาจากผันผวนจากปัจจัยภาคนอก เช่น อัตราเงินเฟ้ออัตราแลกเปลี่ยน ต้นทุนพลังงาน มาตรการกีดกันการค้าระหว่างประเทศ ล้วนส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย

 

 

ทั้งนี้ จากปัญหาที่กล่าวมา มองว่ารัฐบาลควรมีนโยบาย และมาตรการเพื่อปรับมาตรการ และทิศทางการบริหารเศรษฐกิจเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง และปัจจัยท้าทายต่างๆ ของโลก โดยมีข้อเสนอแนะทิศทางเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย 

1.ไทยกําลังเผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนเร็ว โดยความยืดหยุ่นในการปรับตัวของนโยบายเศรษฐกิจไทยสําคัญมาก 

2.วิสัยทัศน์การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศถูกทางแล้ว เช่น การปรับโครงสร้างสู่เศรษฐกิจดิจิทัล Industry 4.0 หรือต่อยอด Eastern Seaboard เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่หลายเรื่องขาดมาตรการรองรับชัดเจน และมีกฎระเบียบที่ต้องเร่งปรับปรุงให้ทันสมัย

3.การที่ไทยอยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่านสู่ Digital Economy, Green and Clean Economy คงทิ้งอุตสาหกรรมเก่าไปหาอุตสาหกรรมใหม่ทั้งหมดได้ แต่ต้อง Re-Balance การดูแลอุตสาหกรรมเก่าให้เข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบควบคู่การส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่

4.นโยบายเศรษฐกิจต้องตอบสนองการเปลี่ยนแปลงภาวะเศรษฐกิจโลก เช่น สงครามยูเครน-รัสเซีย ทําให้หลายประเทศขาดแคลนสินค้าที่นําเข้าจาก 2 ประเทศ ซึ่งอาจเป็นโอกาสที่ไทยส่งออกทดแทนได้ หรือกรณีพิพาท Chip War ระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งไทยจะชักชวนใครมาลงทุน Semiconductor หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อตอบโจทย์ Geopolitics และ Global Supply Chain ที่เปลี่ยนไป

5.เรียนรู้จากคู่แข่งขัน เวียดนามสร้างความชัดเจนทางนโยบายที่จับต้องได้ เช่น การเปิดเสรีทางการค้า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจ Digital การส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานสะอาด โดยสิงคโปร์มีวิสัยทัศน์ Resilient Growth ที่นํามาพัฒนาเป็นนโยบายบริหารทิศทางเศรษฐกิจได้เป็นรูปธรรม

6.ต้องให้ความสำคัญกับ Skilled Labour และต้องเร่งพัฒนาให้ฝีมือแรงงานให้รองรับอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งจะเป็นรากฐานสําคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต 

7.ภาคเอกชนคือ Key Economic Driver ของเศรษฐกิจใหม่ในอนาคต ภาครัฐคือ Key Facilitator สนับสนุนการสร้างโอกาสภาคเอกชนเข้าระบบเศรษฐกิจใหม่ได้เข้มแข็ง และยั่งยืน 

8.ภาคเอกชนควรทําข้อเสนอเศรษฐกิจ (White Paper) เสนอต่อรัฐบาล โดยเฉพาะหากมีประเด็นข้อคิดเห็นใหม่สําหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต

“There is no tomorrow! ถึงเวลาแล้วที่ต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ ก่อนที่จะสายเกินไป”นายปานปรีย์ กล่าว 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์