‘ไทยสมายล์บัส’ ปฏิรูปรถเมล์ไทย ส่ง ‘HOP Card’ ตั๋วร่วมขนส่งสาธารณะ

‘ไทยสมายล์บัส’ ปฏิรูปรถเมล์ไทย ส่ง ‘HOP Card’ ตั๋วร่วมขนส่งสาธารณะ

“บัตรโดยสารใบเดียว” เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่หลายรัฐบาลขับเคลื่อน เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการเดินทางใช้ระบบขนส่งสาธารณะ รวมไปถึงตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ Cashless Society หรือสังคมไร้เงินสด

โดยปัจจุบันกระทรวงคมนาคมมุ่งพัฒนาส่วนของ “ตั๋วร่วม” ที่จะรองรับระบบขนส่งทางราง ผ่านร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... สามารถบริหารจัดการต้นทุน ค่าโดยสาร และมาตรฐานบริการ รวมทั้งประชาชนสามารถใช้บัตรโดยสารเพียงใบเดียวในการแตะจ่ายตลอดการเดินทาง คาดว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเสนอรัฐสภาพิจารณาภายในเดือน ธ.ค. 2567 - ก.ค. 2568

ขณะที่รถโดยสารประจำทาง หรือ “รถเมล์” ซึ่งเป็นขนส่งสาธารณะ มีประชาชนใช้บริการเฉลี่ยต่อวันสูงถึง 1 ล้านคนต่อวัน ปัจจุบัน “ไทยสมายล์บัส” ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ครองเส้นทางเดินรถ 123 เส้นทาง และครองสัดส่วนผู้โดยสารอยู่ที่ 3 แสนคนต่อวัน มีเป้าหมายจะพัฒนาตั๋วร่วมในแบบฉบับรถเมล์ ภายใต้ชื่อ “HOP Card” ให้สามารถรองรับแตะจ่ายบริการขนส่งสาธารณะ ตลอดจนร้านค้า ร้านอาหารและบริการต่างๆ ที่อยู่โดยรอบเส้นทางเดินรถ

กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด หรือ TSB กล่าวว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายยกระดับระบบขนส่งมวลชนของไทยให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ ซึ่งหนึ่งในหลายประเทศที่มีลักษณะโครงสร้างการคมนาคมขนส่งใกล้เคียงกับประเทศไทย คือ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง ปัจจุบันมีการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งรุดหน้าเป็นอย่างมาก หลายเมืองได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ ปรับเปลี่ยนมาสู่พลังงานสะอาดที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (EV Bus)

‘ไทยสมายล์บัส’ ปฏิรูปรถเมล์ไทย ส่ง ‘HOP Card’ ตั๋วร่วมขนส่งสาธารณะ

อีกทั้งระบบขนส่งของหลายประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะไต้หวัน พบว่ามีการต่อยอดบริการผู้โดยสารด้วยบัตรโดยสารใบเดียวสามารถเชื่อมโยงระบบการใช้บริการได้ครบถ้วน รถ-เรือ-ราง ไล่เรียงตั้งแต่ รถไฟฟ้า Metro Taipei, Kaohsiung Metro & LRT, Metro Taiyuan, Metro Taichung, New Taipei Metro, รถไฟ Taiwan Railway,รถไฟความเร็วสูง, รถเมล์ EV Bus, รถรับส่ง Shuttle Bus, เรือเฟอร์รี่, รถแท็กซี่ ไปจนถึงบริการเช่าจักรยาน T-Bike และ You Bike

กลับกันในประเทศไทยของเรายังติดปัญหาไม่สามารถเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายได้อย่างแท้จริง แม้ปัจจุบันบริษัทฯ มีการนำร่องเชื่อมต่อรถเมล์ไฟฟ้า กับเรือโดยสารไฟฟ้าในเครือเรียบร้อยแล้ว และเจรจากับผู้ประกอบการขนส่งทุกรายให้เข้าร่วมใช้ระบบดังกล่าว แต่ต้องยอมรับว่ายังมีข้อจำกัดอีกมาก ซึ่งต้องอาศัยอำนาจของภาครัฐเข้ามาเป็นคนกลาง

‘ไทยสมายล์บัส’ ปฏิรูปรถเมล์ไทย ส่ง ‘HOP Card’ ตั๋วร่วมขนส่งสาธารณะ

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าปฏิรูปบริการรถเมล์ไทย ด้วยการศึกษาระบบบัตรโดยสาร “ไต้หวันโมเดล” สู่การต่อยอดบัตรโดยสาร HOP Card ให้สามารถใช้ชำระค่าสินค้า-บริการ ให้ได้เหมือนกับ Easy Card ของไต้หวัน ที่ใช้ซื้อของในร้านสะดวกซื้อ ใช้จ่ายค่าบริการร้านอาหาร สวนสนุก โรงแรม ขึ้นกระเช้าท่องเที่ยว พร้อมทั้งยังมีสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้บริการ

นอกจากบริษัทฯ ยังเตรียมพัฒนาบริการในแอปพลิเคชัน TSB Go Plus เพิ่มฟังก์ชันตอบโจทย์ผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง เช่น Personal AVM การแตะอัปเดตบัตรโดยสารด้วยเทคโนโลยี NFC จากสมาร์ตโฟน นอกเหนือจากบริการในปัจจุบันที่ผู้โดยสารสามารถตรวจสอบเวลาเดินรถ เช็กประวัติการเดินทางย้อนหลัง และร้องเรียนติชมพนักงานผู้ให้บริการได้

ด้านวรวิทย์ ชาญชญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ TSB เผยว่า “ตั๋วร่วม” ในไทยยังเป็นแค่เรื่องที่หลายฝ่ายต้องการพัฒนา แต่ยังไม่เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ซึ่งแท้จริงแล้วตั๋วร่วมควรใช้ได้ในทุกระบบขนส่ง ครอบคลุมไปถึงการซื้อสินค้า เพื่อให้ประชาชนพกบัตรเพียงใบเดียวในการใช้ชีวิตประจำวัน สร้างความสะดวกสบายในการใช้บริการขนส่งสาธารณะ

โดยปัจจุบันบริษัทฯ กำลังต่อยอดบัตร HOP Card ที่เคยเป็นเพียงบัตรใช้แตะจ่ายค่าโดยสาร ให้เป็นตั๋วร่วมในการใช้ขนส่งสาธารณะ ร้านค้า และบริการต่างๆ ที่อยู่ในเส้นทางเดินรถของไทยสมายล์บัส ซึ่งเบื้องต้นอยู่ระหว่างเจรจาหาพาร์ทเนอร์ผู้ประกอบการที่อยู่ตามแนวเส้นทางเดินรถในปัจจุบัน 123 เส้นทาง คาดว่าจะมีพาร์ทเนอร์เข้าร่วมกว่า 300 ราย โดยน่าจะเริ่มเห็นเป็นรูปร่าง 1-2 เดือนนี้

อีกทั้งบริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างเจรจากับ “ไมเนอร์กรุ๊ป” เพื่อนำบัตร HOP Card ใช้เป็นส่วนลดในการเข้าใช้บริการต่างๆ อาทิ โรงแรม สปา ร้านค้า และร้านอาหาร นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเชื่อว่าการขยายหาพาร์ทเนอร์ใช้บัตร HOP Card ยังจะช่วยเพิ่มช่องทางจำหน่ายบัตรโดยสาร สร้างการรับรู้ และทำให้บัตรโดยสารใบนี้เป็นตั๋วร่วมของประชาชนในการใช้บริการขนส่งสาธารณะ และซื้อสินค้าในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ คาดการณ์ว่า ด้วยกลยุทธ์เพิ่มพาร์ทเนอร์นี้จะทำให้จำนวนผู้ใช้บัตร HOP Card เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมีสมาชิก 1.3 แสนใบ และยอดลงทะเบียนใช้บัตร 5-6 หมื่นราย จะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนสมาชิกและยอดลงทะเบียนใช้บัตร 3 – 4 แสนรายภายในปีนี้

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังเตรียมออกแบบบัตรโดยสารให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์มากขึ้น โดยจะสนับสนุนศิลปินไทยในการออกแบบลายบัตรโดยสารแบบลิมิเตด และต่อยอดไปถึงบัตรโดยสารลายการ์ตูนลิขสิทธิ์ต่างๆ เพื่อตอบสนองกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ใช้บริการไทยสมายล์บัสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การพัฒนาบริการต่างๆ ของบริษัทฯ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณผู้โดยสารในปีนี้ให้ถึง 7 แสนคนต่อวัน เพิ่มจากปัจจุบันที่มีเฉลี่ย 3 แสนคนต่อวัน รวมทั้งเพิ่มรายได้จากค่าโดยสารสูงถึง 14 ล้านบาทต่อวัน จากปัจจุบันที่มีประมาณ 5 ล้านบาทต่อวัน โดยเป้าหมายเพิ่มปริมาณผู้โดยสารและรายได้ดังกล่าว จะทำให้บริษัทฯ กลายเป็นเบอร์ 1 ในการให้บริการรถโดยสารประจำทาง แซงหน้าองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ปัจจุบันครองแชมป์ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 6 แสนคนต่อวัน

‘ไทยสมายล์บัส’ ปฏิรูปรถเมล์ไทย ส่ง ‘HOP Card’ ตั๋วร่วมขนส่งสาธารณะ