ธุรกิจ 'Health & Wellness' เทรนด์ธุรกิจแห่งอนาคต

ธุรกิจ 'Health & Wellness' เทรนด์ธุรกิจแห่งอนาคต

โลกเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย “ไทย”เป็นจุดหมายปลายทางของผู้สูงอายุและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดันธุรกิจ Wellness เติบโตแรงกรมพัฒน์ ฯ แนะผู้ประกอบการไทยปรับกลยุทธ์ให้ดึงดูดใจผู้บริโภคให้ตรงจุดรับเทรนด์ธุรกิจแห่งอนาคต

KEY

POINTS

Key Point

  • สถาบันโกลบอลเวลเนส ประกาศให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 3 ที่ได้รับการปักหมุดลงใน "ภูมิศาสตร์เวลเนส"
  • ไทย หมุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและผู้สูงวัย
  • มูลค่าตลาดสุขภาพและเวลเนสในไทยในปี 2019 อยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท
  •  แนวโน้มธุรกิจ Wellness ตั้งแต่ปี 2560-2566 อัตราการเติบโตของธุรกิจ เฉลี่ยเติบโตถึง 33%

ธุรกิจสุขภาพและเวลเนส (Health & Wellness) เป็นธุรกิจที่มีตลาดขนาดใหญ่และกําลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับโลกและในไทย โดยสถาบันโกลบอลเวลเนส (Global Wellness Institute; GWI)  ประเมินว่า ธุรกิจเวลเนสโลกมีมูลค่าถึงราว 5.61 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2022 มีแนวโน้มที่จะเติบโตไปจนถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2025 อีกทั้ง มีแนวโน้มเติบโต 9% CAGR เป็นการเติบโตต่อปีแบบทบต้น จนถึงปี 2027  

"ประเทศไทย"ถือเป็นจุดหมายปลายทางด้านสุขภาพที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้ความไว้วางใจเดินทางมารักษาโรคและดูแลสุขภาพพักผ่อนระยะยาวติดอันดับต้นๆ ของโลก ด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของบุคลากรและคุณภาพการให้บริการและ ระบบการรักษาพยาบาลของประเทศไทยมีชื่อเสียงระดับโลก ทั้งศาสตร์การดูแลสุขภาพแผนไทยที่มีชื่อเสียง บุคลากรที่มีคุณภาพ และ Service Mind ทั้งยังสามารถดูแลได้ครอบคลุมตั้งแต่เกิดไปจนถึงวัยชรา และรักษาได้ทุกโรค ที่สำคัญมีค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล จนกลายเป็นอีกหนึ่งจุดขายที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเมืองไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้สถาบันโกลบอลเวลเนส ประกาศให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 3 ที่ได้รับการปักหมุดลงใน "ภูมิศาสตร์เวลเนส" (Geography of Wellness)

สำหรับมูลค่าตลาดสุขภาพและเวลเนสในไทยในปี 2019 อยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ และการเสริมความงามที่มีสัดส่วนมูลค่าสูงสุด อีกทั้ง ธุรกิจนี้ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจาก 4 เมกะเทรนด์ด้านสุขภาพของไทย ได้แก่

1. การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society)

2. พฤติกรรมผู้บริโภคที่มีแนวโน้มใส่ใจสุขภาพมากขึ้นหลังวิกฤตโควิด-19

3. แนวโน้มการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้น (NCDs)

4. การสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้จ่ายด้านสุขภาพและเวลเนสต่อเนื่องทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ธุรกิจ \'Health & Wellness\' เทรนด์ธุรกิจแห่งอนาคต

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์  ระบุว่า  ณ วันที่ 30 มิ.ย.2567 พบว่า มีจำนวนนิติบุคคลบริการสุขภาพและความงามคงอยู่ จำนวน 27,598 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 347,510.35 ล้านบาท และมีรายได้รวม ปี 2566 กว่า 1.093 ล้านล้านบาท เมื่อนำข้อมูลรายได้ของธุรกิจ Wellness มาเปรียบเทียบตั้งแต่ปี 2560-2566 เรามองเห็นแนวโน้มอัตราการเติบโตของธุรกิจ เฉลี่ยเติบโตถึง 33% ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ดังนั้น ธุรกิจ Wellness จึงเป็นกลุ่มธุรกิจที่เติบโตอย่างมีศักยภาพ

“อรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ Healthcare และ Wellness ทั่วโลกจะเป็นตัวสร้างโอกาสสำหรับนักลงทุน โดยเฉพาะเทรนด์ Wellness ในปัจจุบันที่ก้าวเข้าสู่ยุคของ Longevity ที่คนมีชีวิตยืนยาวขึ้น จากเทคโนโลยีการแพทย์และการดูแลสุขภาพตั้งแต่ต้นทาง 

โดยมีโจทย์สำคัญ คือ ทำอย่างไรจึงจะตอบโจทย์การมีชีวิตยืนยาวบนพี้นฐานสุขภาพดี มีความสุขกับการใช้ชีวิตในทุกๆ วัน และใช้คุณค่าของตัวเราทำให้สังคมและโลกดีขึ้นได้ สิ่งเหล่านี้เป็นเทรนด์ที่จะไปไกลมาก  ซึ่งไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ผู้คนมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ส่งผลให้รูปแบบการบริโภคเปลี่ยนไป สินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุล้วนมีความต้องการมากขึ้น ซึ่งธุรกิจบริการและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก

“เมื่อเห็นเทรนด์ก็จะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ แต่ก่อนเข้าไปลงทุน สิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อมให้ธุรกิจมีระบบการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ มีกลยุทธ์การตลาด มีหลักการบริหารงานที่ทันสมัย นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการตลาดเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น สมาคมการค้าและการบริการสุขภาพผู้สูงอายุไทย สมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย แพลตฟอร์มด้านสุขภาพและความงาม Innovative House เพื่อสร้างโอกาสการตลาดแก่ธุรกิจ Wellnessและ สร้างธรรมาภิบาลธุรกิจ โดยให้การส่งเสริมธรรมาภิบาลธุรกิจไทย จะเป็นช่องทางในการสร้างโอกาสการเติบโตให้ธุรกิจ” นางอรมน กล่าว

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในระดับ Mega Trend ที่ไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ผู้คนมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ส่งผลให้รูปแบบการบริโภคเปลี่ยนไป สินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุล้วนมีความต้องการมากขึ้น สินค้าและบริการในครัวเรือนผู้สูงวัย การบริโภควิตามินและอาหารเสริม ธุรกิจความงามเพื่อการชะลอวัย ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุเนิร์สซิ่งโฮมและผู้ป่วยที่บ้าน สิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ การก่อสร้างและปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและป้องกันอุบัติเหตุ บริการสาธารณสุขและธุรกิจด้านสุขภาพ ดังนั้น ธุรกิจ Wellness จึงเป็นธุรกิจที่เติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจ