ไทย-เมียนมา เปิดค้าชายแดนผ่านการขนส่งทางเรือ
ปธ.สภาธุรกิจไทย-เมียนมา เผย ไทย-เมียนมาเปิดการค้าชายแดนผ่านการขนส่งทางเรือ ที่ท่าเรือจังหวัดระนอง แก้ปัญหาค้าชายแดนสะดุดจากปัญหาความไม่สงบในเมียนมา ประเดิมเรือคอนเทนเนอร์ 2 ลำเที่ยวแรก จากย่างกุ้ง-เกาะสอง-ระนอง พร้อมผลักดันเป็นเส้นทางการค้าชายแดนใหม่ของไทย
นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ได้เกิดการสู้รบระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลเมียนมา กับกองกำลังกระเหรี่ยงหลายฝ่าย ทำให้การค้าชายแดนระหว่างไทย-เมียนมาได้ขาดช่วงไประยะเวลาหนึ่ง ต่อมาได้มีการเจรจาระหว่างภาครัฐกับกองกำลังหลายฝ่าย จนทำให้ด่านชายแดนแม่สอด-เมียวดี เปิดใหม่อีกครั้งในเดือนพ.ค.แต่ก็ได้มีการวางระเบิดสะพานบนถนนสายเมียวดี-ย่างกุ้ง ณ.เมืองบิรินอีกครั้ง ทำให้สะพานขาด การค้าชายแดนระหว่างไทยเมียนมาจึงได้สะดุดหยุดลงอีก
ทางสภาธุรกิจไทย-เมียนมา และนายเอกวัฒน์ ธนประสิทธิ์ ผู้อำนวยการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา สตค.ไทยประจำ ได้ร่วมกันหาช่องทางการค้าทางเลือกใหม่ ในการขนส่งสินค้าชั่วคราว เพื่อให้การค้าระหว่างประเทศไทย-เมียนมา เพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไป โดยได้มีการพบกับนาย U Ni Aung ผู้ว่าการท่าเรือเมียนมา เพื่อขอให้ช่วยเปิดช่องทางการขนส่งสินค้า ด้วยเรือเดินสมุทรที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อเป็นการป้องกันการเสียหายในช่วงฤดูมรสุมที่กำลังจะมาถึงนี้ จนกระทั่งเรือสองลำแรกได้เข้าสู่ท่าเรือจังหวัดระนอง จึงนับว่าเป็นทางเลือกใหม่ในสถานการณ์ที่ยังไม่สงบนิ่งต่อไป
นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า เรือคอนเทนเนอร์ BEYPORE SULTAN และ MCL-4 เส้นทางย่างกุ้ง-เกาะสอง-ระนอง เที่ยวแรก เดินทางถึงท่าเรือระนองเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 8 ก.ค. 2567 โดยเรือทั้ง 2 ลำ เป็นความร่วมมือระหว่างไทย-เมียนมา ในการผลักดันให้เกิดเส้นทางการค้าชายแดนใหม่ระหว่าง 2 ประเทศ สำหรับเรือ BEYPORE SULTAN ขามาจากท่าเรือย่างกุ้งบรรทุกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 87 ตู้ และขากลับจะบรรทุกสินค้าจำนวน 30 ตู้ เช่น สุขภัณฑ์ เครื่องดื่มชูกำลัง สายไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนเรือ MCL-4 ขามาจากท่าเรือย่างกุ้งบรรทุกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ จำนวน 41 ตู้ และขากลับจะบรรทุกสินค้า จำนวน 28 ตู้
ที่ผ่านมาผู้ประกอบการค้าชายแดนโดยเฉพาะผู้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมาลดความเสี่ยงโดยเปลี่ยนเส้นทางการนำเข้า จากเดิมนำเข้าทางด่านแม่สอด ซึ่งรถบรรทุกหันมานำเข้าทางด่านระนองโดยเรือ Barge มากขึ้น แต่ด้วยปัจจัยด้านสภาพอากาศทำให้มีปัญหา จึงได้มีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเปลี่ยนจากการขนส่งทางบกมาขนส่งทางเรือแทนผ่านท่าเรือจังหวัดระนอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทางการเมียนมาเป็นอย่างดี
นายจักรกฤษ คุ้มภัย ผู้จัดการท่าเรือระนอง กล่าว่า ท่าเรือระนองมีความพร้อมรองรับตู้สินค้า โดยได้ดำเนินการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งเครนยกตู้สินค้า พื้นที่วางตู้ และกำลังคน ไว้เรียบร้อยแล้วตามที่ได้รับการประสานมาก่อนหน้านี้ โดยเมื่อเรือสินค้ามาถึงและดำเนินพิธีการศุลกากรแล้วเสร็จก็สามารถยกสินค้าขึ้นรถบรรทุกได้ทันที
ทั้งนี้ทราบว่ามีผู้ประกอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บางรายสนใจขนส่งสินค้าโดยใช้เส้นทางท่าเรือระนอง-สถานีรถไฟสะพลี-ICD ลาดกระบัง-ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งปัจจุบันสถานีรถไฟสะพลี จังหวัดชุมพร เป็นรถไฟทางคู่ มีจุดขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ และมีลานกองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (Container Yard : CY) ที่เอกชนในพื้นที่ไช้บริการขนส่งทุเรียนไปยังประเทศจีน เป็นอีกหนึ่งโครงข่ายโลจิสติกส์ที่เข้ามาเสริมศักยภาพการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ด้านจังหวัดระนอง รองรับการขยายตัวทางการค้าทั้งในปัจจุบันและอนาคต
สำหรับจังหวัดระนองมีชายแดนติดกับประเทศเมียนมา มีจุดผ่านแดนถาวรระนอง-เกาะสอง จำนวน 4 จุด ได้แก่ ท่าเทียบเรือสะพานปลา ท่าเทียบเรือศุลกากระนอง ท่าเทียบเรือของบริษัทอันดามันคลับ จำกัด ด่านตรวจคนเข้าเมืองระนอง และจุดผ่อนปรน จำนวน 1 จุด คือ จุดผ่อนปรนบ้านเขาฝาชี ในปี 2566 ด่านศุลกากรระนอง มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงสุดเป็นลำดับที่ 4 ของการค้าชายแดนไทย-เมียนมา รองจาก ด่านศุลกากรแม่สอด ด่านศุลกากรสังขละบุรี และด่านศุลกากรประจวบคีรีขันธ์ ตามลำดับ โดยมีมูลค่าการค้า (ม.ค.-ธ.ค. 2566) รวม 21,353 ล้านบาท มูลค่าการส่งออก 15,477 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้า 5,876 ล้านบาท มูลค่าดุลการค้า 9,601 ล้านบาท สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง,น้ำมันหล่อลื่น ของปรุงแต่งชนิดที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ เครื่องดื่มให้พลังงาน สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ สัตว์น้ำ (ปลาแช่เย็น) ปลาป่น ถ่านไม้ป่าเลน เป็นต้น