สามสิบกว่าปีคือตัวเลขที่ประเทศไทยตกอยู่ในสถานะ “ประเทศกำลังพัฒนา” หลังจากธนาคารโลกจัดอันดับให้ไทยอยู่ในระดับการพัฒนานี้มาตั้งแต่ปี 2531 เพราะรายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปี (GDP per Capita) ของไทยอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 6,900 ดอลลาร์ (2.3 แสนบาทต่อปีหรือราวๆ 2 หมื่นบาทต่อเดือน)
หากย้อนกลับไปมองที่ “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” (ปี 2561-2580) ซึ่งร่างขึ้นในช่วงของการยึดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตผู้ก่อการรัฐประหารและอดีตนายกรัฐมนตรี กำหนดเป้าหมายไว้ว่า ประเทศไทยต้องพ้นจากการเป็นประเทศกำลังพัฒนาไปเป็นอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูงที่ประชาชนมีรายได้ต่อหัวต่อปีมากกว่า 1.5 หมื่นดอลลาร์ (5 แสนบาทต่อปีหรือ 4.15 หมื่นบาทต่อเดือน)
หากรัฐบาลต้องการยกระดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วและประชาชนมีรายได้ในระดับสูง รัฐบาลต้องเพิ่มรายได้ประชาชาติต่อหัวจากระดับปัจจุบันไปเป็น 1.5 หมื่นดอลลาร์ ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจไทยจะต้องเติบโตเฉลี่ยสูงถึงปีละสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ (ทว่าในไตรมาส 1 ยังโตรั้งท้ายอาเซียนอยู่ที่ 1.5%)
ในประเด็นข้างต้น นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่ง แสดงความคิดเห็นไว้ในงานเสวนา “การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตอย่างยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทยช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า
ประเทศไทยไม่มีโอกาสก้าวขึ้นไปเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างแน่นอนเพราะทุกรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศยังใช้เงินจำนวนมากในการทำนโยบายลดภาษีและแจกเงินเพื่อลดจำนวนครัวเรือนที่ยากจนให้อยู่ในระดับต่ำแทนการดำเนินนโยบายในระยะกลางหรือระยะยาวเพื่อช่วยครัวเรือนเหล่านั้นให้สามารถหารายได้ได้เองอย่างแท้จริง
ประชานิยมกดดันสถานะการคลังไทย
โดยตั้งแต่ปี 2547 – 2566 รัฐบาลดำเนินนโยบายทางการคลังแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่อง (การจัดทำงบประมาณที่รายได้เข้ารัฐน้อยกว่ารายจ่าย) จากเดิมในปี 2547 อยู่เพียง 1% ต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทว่าในช่วงที่ผ่านมากลับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 3.8-4.6% ซึ่งมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่อยู่ในระดับความหน้าเชื่อถือเดียวกันคือ BBB
กราฟอัตราการขาดดุลทางการคลังของไทย
รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุกรัฐบาลต้องดำเนินนโยบายแบบขาดดุลทางการคลังเนื่องจากพวกเขาต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเพราะเป็นวิธีในการเพิ่มอัตราการเติบโตของจีดีพีอย่างรวดเร็วและชัดเจนที่สุดที่สามารถทำได้ภายใต้กรอบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี
ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลกระทบจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทำให้รายได้สุทธิของรัฐบาลในปี 2566 ที่ผ่านมา ครอบคลมเพียงค่าใช้จ่ายประจำ และการชำระหนี้เท่านั้น ทว่าไม่เพียงพอต่อการลงทุน
หากพิจารณาลงลึกเข้าไปที่รายได้ประจำซึ่งคิดเป็นเกือบ 70% ของรายจ่ายทั้งหมดของภาครัฐพบว่าเป็น “รายจ่ายที่ยากต่อการลดทอน” ไม่ว่าจะเป็น รัฐสวัสดิการประชาชน 12.5% สวัสดิการบุคลากรรัฐ 16.2% เงินเดือนและค่าตอบแทน 25.7% รวมทั้งภาระหนี้ผูกพัน 12.8%
รายจ่ายที่ยากจะลดทอนคิดเป็นกว่า 70% ของรายจ่ายของรัฐไทย
รัฐปั้นตัวเลขคนจนผ่านการแจกเงิน
ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานธุรกิจสภาตลาดทุน เปิดเผยว่า หนึ่งในนโยบายระยะสั้นที่ทำร้ายเศรษฐกิจไทยมากที่สุดและทำให้ภาพความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยบิดเบือนไปจากความเป็นจริงคือการแจกเงินให้ประชาชนเพื่อลดจำนวนคนยากจนในระบบ
ที่ผ่านมาสภาพัฒน์ฯ มักเปิดเผยว่า สามารถจัดการความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำให้จำนวนครัวเรือนที่ยากจนในระบบนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเทรนด์ของดัชนีที่ใช้วัดความเหลื่อมล้ำอย่างสัมประสิทธิจีนี (GINI Coefficient) ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากประมาณ 0.5 ในปี 2550 มาอยู่ที่ต่ำกว่า 0.45 ในปี 2564
ดัชนีความเหลื่อมล้ำของภาครัฐไม่สะท้อนความเป็นจริง
ทว่า จากงานวิจัยของดร.กอบศักดิ์พบว่า หากหัก “เม็ดเงินช่วยเหลือจากรัฐ” ออกไปจากการคำนวณตัวเลขสัมประสิทธิความไม่เสมอภาคจะพบว่า ตัวเลขดัชนีดังกล่าวของไทยนั้นยังอยู่ในระดับเดิมที่ 0.5
จำนวนครัวเรือนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนของภาครัฐต่ำกว่าความเป็นจริง
ทั้งนี้ ตัวเลขจากรัฐบาลระบุว่า จำนวนครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านครัวเรือนในปี 2550 มาอยู่ที่ต่ำกว่า 1.5 ล้านครัวเรือนในปี 2565 แต่ในความเป็นจริง หากหักเงินช่วยเหลือของรัฐบาลออกไป จำนวนครัวเรือนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนในปี 2564 กลับเพิ่มขึ้นมากกว่าระดับ 4 ล้านครัวเรือน
โดยจากงานวิจัยดังกล่าวพบว่า ตัวเลขส่วนต่าง 2.5 – 3 ล้านครัวเรือนนั้นเป็นครอบครัวที่แทบจะไม่มีรายได้จากทางอื่นนอกจากเงินช่วยเหลือของรัฐบาล หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือในบรรดาครัวเรือนเหล่านั้น เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลคิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดของครัวเรือนพวกเขา
เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ท้ายที่สุด ดร.กอบศักดิ์ประเมินว่า หากรัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายทางการคลังแบบไม่มีวินัยเช่นนี้สถานะทางการคลังของประเทศไทยจะปรับตัวแย่ลงไปอีกและเมื่อเวลาผ่านไปภาครัฐอาจต้องใช้เงินมากขึ้นในการ "สร้างภาพลวงตาความสำเร็จ” ของครัวเรือนที่ยากจนให้อยู่ภายใต้ระดับที่พวกเขาพอใจ
เหมือนกับตัวอย่างในสหรัฐที่ข้อมูลจากสำนักงานประมาณเปิดเผยว่า ภายในปี 2573 เงินช่วยเหลือด้านรัฐสวัสดิการและค่ารักษาพยาบาลของประชาชนที่อุ้มโดยรัฐบาลจะคิดเป็นกว่า 50% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าทำเนียบขาวจะเหลือเงินไปใช้ทำนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศน้อยลงตามไป