‘ค่ายรถ EV’ เดินสายพบรัฐบาล ทวงเงินอุดหนุน ‘EV3.0’ หลังงบ 67 ล่าช้า

‘ค่ายรถ EV’ เดินสายพบรัฐบาล ทวงเงินอุดหนุน ‘EV3.0’ หลังงบ 67 ล่าช้า

ค่ายรถอีวีวุ่น! เดินสายพบบุคคลสำคัญในรัฐบาล ทวงเงินอุดหนุน "EV3.0" หลังงบประมาณปี 2567 ล่าช้า "สรรพสามิต" แจงเตรียมเสนอของบกลาง 7,000 ล้าน จ่ายอุดหนุนอีวี 3.5 หมื่นคัน เข้า ครม. เร็วๆ นี้

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยถึงมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของรัฐบาล โดยถือว่าเป็นมาตรการที่ประสบความสำเร็จโดยนโยบายระยะแรก (EV 3.0) ที่ออกมาในปี 2565-2566 ทำให้มีผู้ผลิตอีวีเข้าร่วมกับมาตรการดังกล่าว 23 บริษัท ทั้งในประเภทรถยนต์นั่งไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยในปี 2567 จะมีผู้ที่เริ่มผลิตอีวีในประเทศไทย 6 ราย ตามเงื่อนไขที่จะต้องมีการผลิตอีวีในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้า 

ซึ่งมาตรการ EV 3.0 การสนับสนุนของกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิตก็ได้ให้การอุดหนุนเงิน 150,000 บาท สำหรับกรณีที่ซื้อรถ EV ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และเงินอุดหนุนจักรยานยนต์ไฟฟ้า 18,000 บาท สำหรับรถราคาไม่เกิน 150,000 บาท โดยรัฐบาลจะจ่ายให้กับค่ายรถยนต์เพื่อไปทำโปรโมชันในการขายรถ EV 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาค่ายรถ EV ที่เข้าร่วมโครงการซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นค่ายรถ EV จากจีน มีการนำเอารถ EV ทั้งคันเข้ามาจำหน่ายซึ่งรัฐบาลได้มีการจ่ายเงินอุดหนุนรถ EV ไปแล้วประมาณ 40,000 คัน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 35,000 คัน

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ในส่วนที่มีการจ่ายเงินอุดหนุนล่าช้ามีผู้ประกอบการ EV จากจีนบางรายเดินทางไปพบรัฐมนตรี และบุคคลสำคัญในรัฐบาลเพื่อทวงถามเงินที่ยังไม่ได้รับตามเงื่อนไขของการเข้าร่วมโครงการ EV 3.0 

ซึ่งรัฐบาลก็มีการอธิบายว่าการจ่ายล่าช้าเนื่องจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 กว่าจะประกาศใช้ได้คือเดือนพ.ค.2567 ซึ่งล่าช้าจากปกติที่จะประกาศใช้ได้ในเดือนต.ค.2566

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีงบประมาณในการใช้จ่ายแล้วรัฐบาลก็จะมีการจัดสรรงบประมาณให้ในส่วนนี้โดยรอให้หน่วยงานต้นสังกัด คือ กรมสรรพสามิต เสนอผ่านกระทรวงการคลัง เพื่อของบกลางฯ จากรัฐบาล

ล่าสุด นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า สรรพสามิตได้เสนอของบประมาณ 7,000 ล้านบาท จากงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นกับสำนักงบประมาณ ซึ่งเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้ สำหรับจ่ายเงินอุดหนุนให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รับชดเชยอีก 35,000 คัน ทั้งนี้ได้จ่ายอุดหนุนผู้ประกอบการไปแล้ว 40,000 คัน กว่า 7,000 ล้านบาท  โดยรวมแล้วมาตรการ EV 3.0 ซึ่งสิ้นสุดลงในปี 2566 ใช้เงินอุดหนุนทั้งสิ้น 1.4 หมื่นล้านบาท

สำหรับมาตรการ EV3.0 ให้สิทธิประโยชน์ค่ายรถที่เซ็นสัญญาร่วมโครงการกับกรมสรรพสามิต ลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถอีวีจาก 8% เหลือ 2%  นอกจากนั้นรัฐบาลยังจ่ายเงินอุดหนุนให้ค่ายรถยนต์ที่เซ็นสัญญาเข้าร่วมโครงการเป็นไปตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่ สูงสุดคันละ 150,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีการผลิตรถอีวีในประเทศ ตามจำนวนรถที่นำเข้ามาในปี 2565-2566 ภายในปี 2567 ในอัตรา 1 ต่อ 1 และในปี 2568 อัตรา 1 ต่อ 1.5

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์