สหภาพฯ จี้สอบคุณสมบัติ 'วีริศ อัมระปาล' ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการรถไฟ

สหภาพฯ จี้สอบคุณสมบัติ 'วีริศ อัมระปาล' ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการรถไฟ

สหภาพการรถไฟฯ ยื่นหนังสือถึงบอร์ด จี้ตรวจสอบคุณสมบัติ “วีริศ อัมระปาล” หนึ่งในผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่า หลังพบส่อขัดข้อกำหนดมาจากหน่วยงานคู่สัญญา พร้อมประกาศหนุนคนในนั่งตำแหน่ง หวังผลักดันโครงการเร่งด่วน

นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เปิดเผยถึงรายละเอียดของการยื่นหนังสือถึง นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) วันนี้ (11 ก.ค.) โดยระบุว่า ตนเข้ายื่นหนังสือเพื่อขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ผ่านการคัดเลือกเข้ารับการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์เพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นการเร่งด่วน

เนื่องจากคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (คกร.) ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย เป็นประธานกรรมการสรรหาฯ มีหน้าที่พิจารณาเพื่อกำหนดคุณสมบัติต่างๆ และประกาศสรรหารับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518

โดยมีการประกาศรับสมัครตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. – 28  พ.ค.2567 ซึ่งมีผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครเข้ารับการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์จำนวน 2 ท่าน ประกอบด้วย

1.นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

2. นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

ทั้งนี้ จากกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวและกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสาธารณะ สื่อออนไลน์ต่างๆในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข้อมูลเกี่ยวข้องกับการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์เพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มาจากผู้บริหารของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งมีข้อมูลปรากฏตามข่าวว่า กนอ. ในฐานะนิติบุคคล มีสัญญาเช่าที่ดินระหว่างกันกับการรถไฟฯ ทั้งในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และที่บริเวณสถานีมักกะสัน

โดยข้อมูลดังกล่าวหากเป็นจริงอาจทำให้เข้าข่ายกรณีกรรมการหรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้เสียในนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุน หรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจ โดยบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องที่ 654/2550 เรื่อง การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า “การกำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้บริหารในมาตรา 8 ตรี (12) แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ

นอกจากจะเป็นการป้องกันมิให้บุคคล ซึ่งมีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้เสียในนิติบุคคลที่มีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจนั้น เพื่อแสวงประโยชน์ใดๆ อันมิชอบในรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่านิติบุคคลดังกล่าวจะเป็นภาคเอกชน หรือรัฐวิสาหกิจด้วยกันก็ตามแล้วยังป้องกันความขัดแย้งในบทบาทการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บริหารในรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งและใน

ขณะเดียวกันก็ดำรงตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือมีส่วนได้เสียในนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุน หรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้น เนื่องจากอาจจะส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจดังกล่าวได้

ทั้งนี้ สร.รฟท.จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจ เป็นองค์กรผู้แทนของพนักงานและลูกจ้างการรถไฟฯ ที่ผ่านมาได้ให้การสนับสนุน และร่วมกันทำงานกับคณะกรรมการรถไฟฯ และผู้บริหารการรถไฟฯ อย่างเต็มที่ในเกือบทุกเรื่องที่จะทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพ มีความมั่นคง พัฒนาอย่างยั่งยืน

หากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นเป็นข้อเท็จจริง ก่อนเข้าสู่กระบวนการในการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่คณะกรรมการรถไฟฯ ควรที่จะดำเนินการสั่งการให้คณะกรรมการสรรหาตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครอีกครั้งอย่างละเอียดรอบคอบ โดยนำข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฎตามที่สื่อมวลชนนำเสนอมาตรวจสอบให้เกิดความชัดเจน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อกระบวนการสรรหา และเกิดความเสียหายต่อการรถไฟฯ ได้

อีกประการหนึ่ง ในการสรรหาผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยคนใหม่ ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรที่มีอำนาจในการตัดสินใจในการพัฒนาองค์กร ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย ยิ่งในสถานการณ์ที่รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญทุ่มงบประมาณในการปฏิรูประบบการขนส่งทางรางและการรถไฟแห่งประทศไทย ให้เป็นระบบหลักของการขนส่งของประเทศ โดยเฉพาะในโครงการสำคัญต่างๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

จึงจำเป็นต้องสรรหาบุคคลที่มาทำหน้าที่สูงสุดเป็นผู้นำองค์กร ต้องได้บุคคลที่มีประสบการณ์ มีความรู้จริง จัดเจน เข้าใจในการบริหารงาน บริหารบุคลากร เข้าใจในวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างดี และสามารถสานต่อการทำงานได้ทันที ในขณะที่งานตามโครงการต่างๆ ที่กำลังจะแล้วเสร็จซึ่งต้องอาศัยความต่อเนื่อง เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการสานต่อนโยบายตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย และดำเนินงานตามแผนพัฒนาของการรถไฟฯ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับภาพรวมองค์กร

อีกทั้งยังมีสถานการณ์เร่งด่วน คือ การก่อสร้างระบบรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางซึ่งจะเริ่มแล้วเสร็จในปี 2568 โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง โครงการรถไฟความเร็วสูง และการปรับปรุงพัฒนาองค์กรในด้านต่างๆซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องการคนที่เข้าใจ และรู้จริงคือ “คนภายใน” เข้ามาเป็นผู้นำสูงสุดของการรถไฟฯ ที่มีความรู้ ความสามารถที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ในการพัฒนากิจการรถไฟฯ ให้เจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในอนาคต

ทั้งนี้ สร.รฟท.มิได้เจตนาที่จะไปกีดกันบุคคลจากภายนอก ซึ่งเชื่อว่าแต่ละท่านมีความรู้ มีความสามารถของตนในแต่ละด้าน แต่การรถไฟฯเป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่มีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับหน่วยงาน สังคม ชุมชน มากมายทั่วประเทศ หากได้คนนอกเข้ามาเป็นผู้ว่าการฯ กว่าจะเรียนรู้เข้าใจงานที่มีเทคนิคเฉพาะหลายด้านทั้งโครงสร้างพื้นฐานระบบทางและราง ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบล้อเลื่อน การบริการโดยสารและสินค้า การบริหารจัดการที่ดิน ทรัพย์สินที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

ดังนั้นคนนอกกว่าจะเข้าใจงาน เข้าใจคน เข้าใจวัฒนธรรมองค์กรก็ต้องใช้เวลา ซึ่งต้องใช้เวลาในการศึกษาเรียนรู้ ซึ่งเป็นหลักการตามเจตนารมณ์ของ สร.รฟท.ที่ได้แสดงจุดยืนมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ของกรรมการการบริหาร สร.รฟท.ในคราวประชุมวาระพิเศษเมื่อวันที่ 8 ก.ค.2567 และกระแสความต้องการของ สร.รฟท.สาขาภูมิภาค สมาชิกที่ส่งเสียงมายัง สร.รฟท. ที่ต้องการ “คนที่เติบโตจากภายในของการรถไฟฯ เข้ามาเป็นผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยคนใหม่”