FDIทั่วโลกลดลง2%อาเซียนยืนระยะคงศักยภาพดึงดูดการลงทุน“ยังทรงตัว”
องค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UN Trade and Development :UNCTAD) เผยแพร่รายงาน รายงานการลงทุนทั่วโลก2024 :ความสะดวกด้านการลงทุนและรัฐบาลดิจิทัล (WORLD INVESTMENT REPORT2024 :Investment facilitation and digital government
สาระสำคัญโดยสรุปชี้ว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI ทั่วโลกยังคงอ่อนแอท่ามกลางวิกฤติและการแยกส่วนทางเศรษฐกิจ
โดยรายงานระบุว่า กระแส FDI ทั่วโลกเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ลดลง 2% มีมูลค่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ เนื่องจากความตึงเครียดทางการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม หากประเมินรายภูมิภาคจะพบว่าการลงทุนโลกในปีที่ผ่านมา มีอัตราลดลงมากกว่า 10% หากไม่ร่วมข้อมูลจากบางประเทศในยุโรป ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาก็พบว่า FDI ปีที่ผ่านมาติดลบถึง 7% มีมูลค่าการลงทุนเหลือเพียง 867 พันล้านดอลลาร์
สาเหตุมาจากการเข้มงวดทางการเงิน ทำให้การประกาศโครงการลงทุนใหม่ลดลงถึง 26% ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่จะหาแหล่งเงินทุนยากลำบากขึ้น
นอกจากนนี้ การลงทุนยังต้องเผชิญ วิกฤตการณ์ต่างๆ , นโยบายกีดกันทางการค้า และการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของเศรษฐกิจโลก รวมไปถึง เครือข่ายการค้าที่กระจัดกระจาย กฎระเบียบด้านสภาพแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้เสถียรภาพและความสามารถในการคาดการณ์กระแสการลงทุนทั่วโลกลดลงและมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนรวมถึงอาจเกิดโอกาสการค้าและการลงทุนแบบโดดเดี่ยว
“แม้ว่าแนวโน้มในปี 2567 ยังคงมีความท้าทาย แต่รายงานระบุว่าปีนี้การลงทุนมีโอกาสการเติบโตขึ้นเล็กน้อย โดยอ้างถึงเงื่อนไขทางการเงินที่ผ่อนคลายลง และความพยายามอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนทั้งในนโยบายระดับชาติและข้อตกลงระหว่างประเทศ”
สำหรับการลงทุนที่มีแนวโน้มกำลังเติบโตได้แก่ ภาคการผลิตที่เน้นห่วงโซ่คุณค่าระดับโลกหลายแห่ง เช่น ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ โดยภูมิภาคและประเทศที่เข้าถึงตลาดหลักได้ง่ายจะมีโอกาสมากกว่าประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศยังคงถูกละเลย และต้องใช้ความพยายามอย่างสูงมากเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และเข้าไปมีส่วนร่วมในเครือข่ายการผลิตระดับโลก
ดังนั้น ประเทศกำลังพัฒนาจึงมีแนวโน้มFDIลดลงและกระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ไม่สม่ำเสมอ แต่การลดลงที่ว่านี้จะมีเงื่อนไขและเหตุผลที่ต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค แม้ว่าการประกาศโครงการกรีนฟิลด์ในประเทศกำลังพัฒนาจะเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 โครงการ แต่การกระจายตัวไม่เท่ากัน ซึ่งพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของFDIที่ไปสู่ประเทศกำลังพัฒนามุ่งไปที่อาเซียนทำให้แนวโน้มการลงทุนอยู่ในระดับทรงตัวท่ามกลางภูมิภาคอื่นๆ อยู่ในสภาวะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้นประเทศกำลังพัฒนายังคงต้องพยายามส่งเสริมการลงทุนต่อไป แม้ว่าการลงทุนที่ลดลงจะไม่ได้เกิดจากการไม่ส่งเสริม หรือ อำนวยความสะดวกด้านการลงทุนเลยก็ตาม ข้อมูลชี้ว่า ในปี 2566 มีสัดส่วนถึง 86% ของมาตรการนโยบายการลงทุนที่ดำเนินการโดยประเทศกำลังพัฒนาที่มุ่งเอื้ออำนวยต่อนักลงทุนอย่างมาก ซึ่งตรงกันข้ามสัดส่วนถึง 57% ของมาตรการในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ค่อยอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน เพราะจะพบการสร้างข้อจำกัดต่างๆ เช่น กลไกการคัดกรอง FDI เพื่อลดข้อกังวลด้านความมั่นคงของชาติ
“จำนวนมาตรการส่งเสริมการลงทุนทั่วโลกในปี 2566 ยังมีค่าเฉลี่ยไม่ต่างจากช่วง 5 ปีที่ผ่านมาโดย 3 ใน 4 เป็นมาตรการที่ส่งผลดีต่อนักลงทุน ขณะที่ด้านการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนสูงพบว่ามีสัดส่วนที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 30% ที่มุ่งไปที่ ภาคบริการและพลังงานทดแทน”
รายงาน ยังระบุอีกว่า ปี 2566 มีการสรุปข้อตกลงการลงทุนระหว่างประเทศ (IIA) ใหม่ 29 ฉบับ แต่เกือบครึ่งหนึ่งยังเป็น สนธิสัญญาทวิภาคีแบบดั้งเดิม ทำให้การปฏิรูป IIA จากรุ่นเก่าไปเป็นรุ่นใหม่ยังคงเป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้ครึ่งหนึ่งของ FDI ทั่วโลกยังคงอยู่ภายใต้สนธิสัญญาที่ไม่ได้รับการปฏิรูป ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนและรัฐ (ISDS) ซึ่งส่วนใหญ่จะพบมากในประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มีเพียง 16% ของสต็อก FDI ทั่วโลกเท่านั้นที่ครอบคลุมโดย IIA รุ่นใหม่แล้ว
“จำนวนคดีของ ISDS ทั้งหมดสูงถึง 1,332 คดี โดยมีอนุญาโตตุลาการใหม่ 60 คดี ในปี 2566 ประมาณ 70% ของคดีใหม่เป็นคดีกับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยมีการเรียกร้องสิทธิส่วนใหญ่ในภาคการก่อสร้าง การผลิต และการขุดค้น”
จากสถานการณ์FDIทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ที่พบว่ามีแนวโน้มลดลงและยังไม่มีความก้าวหน้าในรูปแบบการลงทุนเท่าที่ควร ทำให้รายงานได้นำเสนอแนวทางส่งเสริมการลงทุนและการขับเคลื่อนให้การลงทุนคล่องตัวเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เศรษฐกิจโลกและการพัฒนาโดยรวมเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง
รายงานแนะถึงการทำธุรกิจดิจิทัลซึ่งกำลังผลักดันให้การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนนำพาให้รัฐบาลต่างๆ ต้องมุ่งสู่การให้บริการแบบดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงการนำดิจิทัลมาใช้งานในวงกว้าง การเข้ามามีบทบาทเชิงกำกับดูแลการลดอุปสรรคต่างๆที่มีต่อการลงทุน
“รายงานฉบับนี้สนับสนุนแนวทางจากล่างขึ้นบนเพื่อเป็นแนวทางเสริมในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลจากบนลงล่าง เริ่มต้นด้วยบริการทางธุรกิจขั้นพื้นฐานและค่อย ๆ ขยายความครอบคลุมไปยังสถาบันต่างๆ มากขึ้น ช่วยให้ประเทศต่างๆ สามารถประหยัดขนาดและขอบเขตของเครื่องมือรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจทุกประเภท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาสามารถได้รับคุณค่าทันทีโดยไม่ต้องมีการแทรกแซงทางกฎหมายที่สำคัญ”
เศรษฐกิจของประเทศไทยพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกอย่างมาก ทั้งรูปแบบการส่งออก การท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ดังนั้นข้อมูลจาก UNCTAD ว่าด้วยการลงทุนนี้จะเป็นเหมือนเข็มทิศให้ไทยสามารถกำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่เหมาะสมและทำให้ประเทศไทยอยู่ในแผนที่การค้าและการลงทุนโลกอย่างมีบทบาทสำคัญต่อไปได้