ยอด ‘ปิดโรงงาน’ น้อยกว่า ‘โรงงานเปิดใหม่’ รัฐบาลชี้ยอดลงทุนเพิ่ม 1.5 แสนล้าน
โฆษกฯ ชี้แจงกรณีการปิดกิจการโรงงานที่เพิ่มขึ้นด้วยข้อมูล ยืนยันตัวเลขการเปิดกิจการโรงงานใหม่ และการจ้างงานใหม่ สูงกว่าจำนวนโรงงานที่ปิดตัวลงไป ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญกับความอยู่รอดของผู้ประกอบการ
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีกระแสข่าวการปิดกิจการโรงงานในปัจจุบัน ซึ่งข้อเท็จจริงคือ เป็นธรรมดาที่ในแต่ละปีย่อมมีทั้งกิจการโรงงานที่ต้องปิดตัวลง และเลิกจ้างงาน ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุด้วยกัน ในขณะเดียวกันก็มีกิจการโรงงานใหม่ ๆ มาทดแทน พร้อมกับการจ้างงานใหม่ที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า เมื่อพิจารณาตัวเลขจำนวนโรงงานที่ปิดตัวลง กับโรงงานที่เปิดใหม่จะพบว่า ภาพรวมการดำเนินกิจการโรงงานในปัจจุบันยังคงขยายตัว โดยข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่าระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2567 มีโรงงานเปิดกิจการใหม่ 848 โรงงาน มีโรงงานขยายกิจการ 126 โรงงาน ขณะเดียวกันมีโรงงานปิดกิจการ 488 โรงงาน อัตราส่วนจำนวนโรงงานเปิดใหม่สูงกว่าปิดกิจการถึง 73.77%
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงระยะเวลา ตั้งแต่มกราคม-พฤษภาคม 2567 มีมูลค่าการลงทุนของการเปิดโรงงานใหม่ในประเทศไทยถึง 149,889 ล้านบาท ส่วนโรงงานเดิมที่มีการขยายกิจการมีการลงทุนเพิ่มขึ้น 11,748 ล้านบาท
ในขณะที่การปิดกิจการคิดเป็นมูลค่า 14,042 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีเงินลงทุนมากกว่าปิดกิจการกว่า 10 เท่า นอกจากนี้ ในด้านการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม การเปิดโรงงานใหม่มีการจ้างงานถึง 33,787 คน ส่วนการปิดกิจการมีการเลิกจ้างงาน 12,551 คน แสดงให้เห็นว่าการจ้างงานมีมากกว่าการเลิกจ้างงานจากการปิดกิจการคิดเป็น 169%
นอกจากนี้ รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้วางนโยบายเพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรม ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยในระยะสั้น ได้แก่ การกระตุ้นตลาดในประเทศ ออกมาตรการกระตุ้นการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ พัฒนาสมรรถนะแรงงานด้านเทคโนโลยีการผลิตในประเทศ สนับสนุนเงินทุนเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต และส่งเสริมการลงทุน
รวมทั้งมาตรการระยะยาว ได้แก่ มุ่งปรับอุตสาหกรรมให้ตอบโจทย์ต้องการของโลก พัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่โลกต้องการ และส่งเสริม Green Productivity เพิ่มผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม สร้างความเข้มแข็งควบคู่ไปกับความยั่งยืน
“นายกรัฐมนตรีมุ่งขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้เติบโต และเมื่อพิจารณาจากตัวเลขของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตัวเลขการเปิดตัวของโรงงานยังเป็นไปด้วยดี และดีกว่าตัวเลขในสองปีก่อนหน้านี้ รวมทั้งตัวเลขการจ้างงานยังมีสูงกว่าการเลิกจ้างมาก แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับความอยู่รอดของผู้ประกอบการ การดำรงชีวิต วิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน พร้อมส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในประเทศด้วยมาตรการทั้งระยะสั้น และระยะยาวอย่างครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมอนาคต ทั้งนี้ ขอชี้แจงด้วยหลักฐาน และเหตุผล การดำเนินกิจการต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกธุรกิจเป็นธรรมดา ซึ่งรัฐบาลได้วางแนวทางให้การช่วยเหลือประชาชนให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ” นายชัย กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์