ปฎิบัติการ ล่า “ปลาหมอคางดำ”เอเลี่ยน ทำลายระบบนิเวศประมงไทย

ปฎิบัติการ ล่า “ปลาหมอคางดำ”เอเลี่ยน ทำลายระบบนิเวศประมงไทย

ปลาหมอคางดำ หรือ ปลาหมอสีคางดำ เพราะจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับปลาหมอสีที่เลี้ยงเป็นปลาสวยงามทั่วไป มีถิ่นฐานอยู่แอฟริกา แต่อยู่ๆ ก็มาแพร่ระบาดในไทยได้อย่างไร สร้างความปั่นป่วนต่อระบบนิเวศ และกรมประมงต้องเร่งทำลาย ก่อนที่สัตว์น้ำพื้นถิ่นไทยจะหมดไป

ปลาหมอคางดำ (Blackchin Tilapia) คือ หายนะ ของระบบนิเวศประมงไทยอย่างแท้จริง จากความพิเศษที่สามารถปรับตัวอยู่ได้ทั้ง ในน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ลำไส้ที่ยาวกว่าลำตัว ถึง 4 เท่า ทำให้มีความหิวตลอดเวลากินได้ทั้งลูกกุ้ง หอย ปู ปลาและพืช ตัวเมียวางไข่ได้ 50 - 300 ฟองต่อครั้ง ตัวผู้คือผู้ดูแล อมไข่ไว้ในปากจนกว่าจะฟักตัวออกมาเป็นลูกปลา 2-3 สัปดาห์ ทำให้ปลาหมอคางดำแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว

ปฎิบัติการ ล่า “ปลาหมอคางดำ”เอเลี่ยน ทำลายระบบนิเวศประมงไทย
     ปฎิบัติการ ล่า “ปลาหมอคางดำ”เอเลี่ยน ทำลายระบบนิเวศประมงไทย นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การระบาดของหมอสีคางดำอย่างหนัก คือ 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี กรุงเทพมหานคร จันทบุรี ระยอง ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และสมุทรสาคร จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำขึ้น เพื่อวางแผนและกำหนดมาตรการในการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหา

 

รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดการสร้างความตระหนักรู้ แก่เกษตรกร ชาวประมงและบุคคลทั่วไปในวงกว้าง

การกวาดล้างหมอคางดำ นอกจากจะใช้อวนรุน ลากตามลำคลองแล้ว การปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว กว่า 20,000 ตัว เป็นอีกวิธีการ รวมกับการส่งเสริมการบริโภค และแม้แต่การ การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n หรือการทำหมัน ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย หากสำเร็จ จะทำให้ ปลาหมอคางดำ หายไปจากประเทศไทยใน  3 ปี  

ปฎิบัติการ ล่า “ปลาหมอคางดำ”เอเลี่ยน ทำลายระบบนิเวศประมงไทย

 ถึงอย่างนั้นสิ่งที่สังคมอยากรู้กันมาก คือ ปลานี้เข้ามาในไทย ได้อย่างไร ใครเป็นผู้นำเข้า หากย้อนกลับไปดูลำดับเหตุการณ์การนำเข้าปลาหมอคางดำ กรมประมงมีรายงานการนำเข้ามาในประเทศครั้งแรกเมื่อปี 2553 โดยบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ที่ขออนุญาตนำเข้าถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 2,000 ตัว และมีการตรวจสอบการนำเข้าโดยเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ขณะที่ปลาขนาด 1 กรัม มาถึงเมืองไทยพบว่าปลาตายจำนวนมาก เนื่องจากการขนส่งนานเกินกว่า 32 ชั่วโมง และยังเหลือปลาที่มีสภาพอ่อนแอ 600 ตัว และเพียง 16 วัน (ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2553 ถึง วันที่ 6 มกราคม 2554) ปลาหมอสีคางดำ ที่สภาพอ่อนแอทยอยตายทุกวัน

  ต่อมา วันที่ 6 มกราคม 2554 ปลาทยอยตายจนเหลือเพียง 50 ตัว บริษัทเอกชนดังกล่าวจึงตัดสินใจยุติการวิจัย และเก็บซากปลาส่งมอบให้กับกรมประมง พร้อมทำลายซากปลาทั้งหมด ตามหลักวิชาการและมาตรฐานที่กำหนด

 ปี 2556-2559 ข้อมูลของกรมประมง รายงานการส่งออกปลาหมอสีคางดำแบบมีชีวิต ในกลุ่มปลาสวยงาม จำนวน 3.2 แสนตัว ไปยัง 15 ประเทศ ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากบริษัทเอกชนทำลายปลาทั้งหมดแล้วตั้งแต่ ปี 2554 แต่ไทยยังมีตัวเลขส่งออกดังกล่าว เท่ากับมีการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์มาเพาะเลี้ยงเพื่อการส่งออกโดยไม่ขออนุญาต

ปฎิบัติการ ล่า “ปลาหมอคางดำ”เอเลี่ยน ทำลายระบบนิเวศประมงไทย

  ปี 2560 มีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ถึงความเดือดร้อนจากการระบาดของปลาหมอสีคางดำใน จ.สมุทรสาคร และ จ.เพชรบุรี จึงมีการตรวจสอบด้านการละเมิดสิทธิชุมชน กรณีเกษตรกรได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ

และในปีเดียวกัน กสม. ยังเข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มของเอกชนรายดังกล่าว ใน จ.สมุทรสงคราม เพื่อดูพื้นที่ สภาพแวดล้อมและฟังบรรยายสรุปการดำเนินการทั้งหมด โดยนักวิจัยของบริษัท ยืนยันว่า บริษัทไม่ใช่สาเหตุของการแพร่ระบาด เนื่องจากมีการทำลายปลาทั้งหมดตามหลักวิชาการแล้วตั้งแต่ปี 2554

  ปี 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศกระทรวงฯ ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง ปลาหมอสีคางดำและปลาหมออื่นอีก 2 ชนิด คือ ปลาหมอมายัน และปลาหมอบัตเตอร์ เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ

  ช่วงเวลา “สุญญากาศ” ระหว่างปี 2556-2559 ที่มีการส่งออกปลาหมอสีคางดำ โดยไม่มีการขออนุญาตนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ และยังไม่มีการสืบสวนไปจนถึงบริษัทผู้ส่งออกปลาเหล่านี้

โดยนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ที่ย้ำว่า การแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ อาจเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ

1. มีการลักลอบนำเข้า

2. มีการหลุดรอดจากฟาร์มวิจัยของบริษัทเอกชน ซึ่งสัตว์น้ำต่างถิ่นในประเทศมีอีกหลายชนิดจากการลักลอบนำเข้า

ปฎิบัติการ ล่า “ปลาหมอคางดำ”เอเลี่ยน ทำลายระบบนิเวศประมงไทย

  ถึงวันนี้ ยังไม่สามารถตรวจสอบเอกสารการส่งออกปลาหมอสีคางดำ ในกลุ่มปลาสวยงาม ให้ทราบชื่อบริษัทผู้ส่งออกและเรียกมา สอบสวนตามขั้นตอนตามกฎหมายถึงที่มาของพ่อแม่พันธุ์ปลาได้ ที่สำคัญหลังจากปี 2559 ไม่ปรากฎตัวเลขส่งออกปลา แล้วปลาที่เพาะเลี้ยงไว้แล้วทั้งหมดอยู่ที่ไหน มีการทำลายตามหลักวิชาการที่กรมประมงกำหนดหรือไม่ เพราะหากหลุดรอดไปในแหล่งน้ำ ก็จะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่กำลังตามแก้ปัญหาในวันนี้