กทพ.เคาะพื้นที่ ‘สะพานเชื่อมเกาะสมุย’ คาดใช้งบกว่า 4 หมื่นล้าน

กทพ.เคาะพื้นที่ ‘สะพานเชื่อมเกาะสมุย’ คาดใช้งบกว่า 4 หมื่นล้าน

การทางพิเศษฯ เคาะพื้นที่อำเภอขนอม ปักหมุดสร้างสะพานเชื่อมเกาะสมุย ระยะทาง 25.04 กิโลเมตร คาดใช้งบลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าตอกเสาเข็มปี 2572 แล้วเสร็จเปิดปี 2576

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (ผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสม) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย พร้อมระบุว่า โครงการนี้มีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ เนื่องจากเกาะสมุย เป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ แต่ในปัจจุบันการเดินทางมายังเกาะสมุยสามารถเดินทางได้เพียง 2 รูปแบบ คือ ทางอากาศและทางน้ำ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านปริมาณและจำนวนเที่ยวในการให้บริการ 

อย่างไรก็ดี การพัฒนาโครงการทางพิเศษสายนี้ จะช่วยสนับสนุนทั้งการเดินทางและการท่องเที่ยว ตลอดจนเกิดประโยชน์ในภาพรวมต่อประเทศและประชาชนผู้ใช้ทางได้รับความสะดวก ปลอดภัย ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้มากยิ่งขึ้น โดยเบื้องต้น กทพ.คาดการณ์ว่าโครงการนี้จะศึกษาเสร็จปี 2569 หลังจากนั้นจะเริ่มก่อสร้างในปี 2572 กำหนดเปิดให้บริการในปี 2576

กทพ.เคาะพื้นที่ ‘สะพานเชื่อมเกาะสมุย’ คาดใช้งบกว่า 4 หมื่นล้าน

ผู้แทนจากกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาโครงการ เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา กทพ. และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม การกำหนดแนวสายทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ การเปรียบเทียบข้อดีและข้อด้อยของแต่ละแนวสายทางเลือก ควบคู่ไปกับการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในระดับส่วนกลาง ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่ 

โดยได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนายอำเภอเกาะสมุย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อแนะนำโครงการและรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการดำเนินโครงการ นอกจากนี้ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อจำกัดด้านกายภาพด้านสิ่งแวดล้อม และข้อกฎหมายของพื้นที่เพื่อกำหนดแนวสายทางเลือก โดยได้แนวสายทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ 7 แนวสายทาง ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดนครศรีธรรมราช 

ขณะที่ต่อมาได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) ระหว่างวันที่ 8-10 ส.ค.2566 ใน 3 พื้นที่ และจัดการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 ใน 11 พื้นที่ เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อห่วงกังวลต่างๆ เพื่อนำมาประกอบการคัดเลือกแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมที่สุด เพื่อนำไปศึกษา สำรวจ และออกแบบในรายละเอียดต่อไป 

กทพ.เคาะพื้นที่ ‘สะพานเชื่อมเกาะสมุย’ คาดใช้งบกว่า 4 หมื่นล้าน

ซึ่งจากการพิจารณาเปรียบเทียบข้อจำกัดด้านกายภาพ และข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม บริเวณจุดเริ่มต้นโครงการ ในพื้นที่อำเภอดอนสักจังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมถึงจุดสิ้นสุดโครงการบนเกาะสมุยแล้ว โดยการให้คะแนนตามปัจจัยหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านวิศวกรรมและการจราจร ด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุน ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม 

รวมถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ แล้ว สรุปว่า ผลคะแนนการคัดเลือกแนวสายทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุด คือ แนวเส้นทางที่ 6 โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม. 4+900 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าเชื่อมเกาะสมุย บริเวณช่วงท้ายของหาดท้องกรูด กม.9+000 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ในพื้นที่ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีระยะทางรวม 25.04 กิโลเมตร

“ค่าก่อสร้างทางเลือกที่ 6 เบื้องต้นประเมินไว้กว่า 4 หมื่นล้านบาท แต่พบว่าเส้นทางมีระยะสั้นที่สุด ดังนั้นค่าบำรุงรักษาจะไม่แพง และส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุดหากเทียบกับทางเลือกอื่นๆ เนื่องจากโครงการก่อสร้างบนพื้นที่ฝั่งแผ่นดินใหญ่และฝั่งเกาะสมุยมีระยะทางที่สั้น”

กทพ.เคาะพื้นที่ ‘สะพานเชื่อมเกาะสมุย’ คาดใช้งบกว่า 4 หมื่นล้าน

อย่างไรก็ดี จากวงเงินลงทุนที่สูง แน่นอนว่าจะต้องจัดเก็บค่าผ่านทาง และเพื่อกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด อาจต้องหารายได้อื่นๆ เข้ามา เช่น พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อแบ่งเบาภาระในการเก็บค่าผ่านทาง และทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนจากการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมจำหน่ายสินค้าในพื้นที่เชิงพาณิชย์เหล่านี้ 

นอกจากนี้ กทพ. ได้คำนึงถึงประโยชน์ในการเชื่อมโยงทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุยกับทั้งพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้สามารถเดินทางเชื่อมต่อทางพิเศษได้สะดวกรวมถึงส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ทางพิเศษให้ครอบคลุม จึงได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะทำถนนเข้าเชื่อมทางพิเศษ (Access Road) โดยมีจุดเชื่อมต่อบริเวณ กม. 14+500 ของทางหลวง หมายเลข 4142 ในพื้นที่ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสักจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเชื่อมต่อบริเวณ กม.35+700 ของทางหลวงหมายเลข 4142 ในพื้นที่ตำบลควนทอง อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีระยะทาง 11.80 กิโลเมตร 

ทั้งนี้ ถนนเข้าเชื่อมทางพิเศษ (Access Road) กับแนวเส้นทางที่ 6 ซึ่งเป็นแนว สายทางเลือกของทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุยที่มีความเหมาะสมที่สุด จะมีระยะทางรวมประมาณ 37.32 กิโลเมตร มีจุดขึ้น-ลง 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณ กม.35+700 ของทางหลวงหมายเลข 4142 ในพื้นที่ตำบลควนทอง อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช และบริเวณ กม. 14+500 ของทางหลวงหมายเลข 4142 ในพื้นที่ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมถึงผู้ใช้ทาง สามารถใช้ทางพิเศษได้สะดวกมากขึ้น

สำหรับรูปแบบเบื้องต้นของโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย จะเป็นสะพานทอดยาวในทะเล โดยถนนมีขนาด4 ช่องจราจร และเชื่อมต่อกับถนนเข้าเชื่อมทางพิเศษ (Access Road) ซึ่งเป็นถนนระดับดิน โดยจะนำไปออกแบบกรอบรายละเอียดเบื้องต้น และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งดำเนินงานการมีส่วนร่วมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในระยะต่อไป

ทั้งนี้ การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 มีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการอิสระ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปที่ให้ความสนใจ ประมาณ 300 คน โดยหลังจากนี้บริษัทที่ปรึกษาจะลงพื้นที่จัดประชุมกลุ่มย่อย ก่อนจัดสัมมนาครั้งที่ 3 ในช่วงเดือน ก.ย. - ต.ค.2568