5 สัญญาณอันตรายฉุดเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ป่วน 'เอสเอ็มอี' ลดยอดผลิต-จ้างงาน

5 สัญญาณอันตรายฉุดเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ป่วน 'เอสเอ็มอี' ลดยอดผลิต-จ้างงาน

"สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย" ชี้หลายปัจจัยรุ่มเร้าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังเผชิญ 5 ปัจจัยเสี่ยง "สสว." พบสัญญาณเศรษฐกิจฉุดภาคการผลิต-จ้างงานทรุด ล่าสุดความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีไทย เดือนพ.ค. 67 ติดลบทั้ง 6 ภาค

KEY

POINTS

  • สถานการณ์เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังของปี 2567 ยังคงน่าเป็นห่วงจากการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่รุมเร้า
  • สิ่งที่เศรษฐกิจไทยเผชิญหนัก คือ เศรษฐกิจฐานรากที่มีเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชนและเกษตรกรที่ฝ่ามรสุมมาต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายปี โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 
  • ต้นทุนวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตพลังงานไฟฟ้าและน้ำมัน ค่าขนส่งและโลจิสติกส์ อัตราดอกเบี้ยที่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันด้านต้นทุนและราคาขาย 

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังของปี 2567 ยังคงน่าเป็นห่วงจากการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่รุมเร้าท่ามกลางความเสี่ยง ทั้งสงครามภูมิรัฐศาสตร์หลากหลายคู่ขัดแย้งในแต่ละภูมิภาคของโลก โดยสงครามยูเครน-รัสเซียที่ยังไม่มีท่าทีสิ้นสุดลง สงครามการค้าสหรัฐอเมริกากับจีน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมโลก

ทั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งภาคการเกษตร ภาคการผลิตอุตสาหกรรม ภาคกาค้าและภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการ ที่ส่งผลต่อการปรับตัวของเอสเอ็มอีในกติกาสิ่งแวดล้อมใหม่ที่จะทยอยบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้ อีกทั้งหลายประเทศทั่วโลกประสบปัญหาโครงสร้างประชากร อัตราการเกิดลดลงและเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ในแต่ละประเทศ ขณะเดียวกันสิ่งที่เศรษฐกิจไทยเผชิญหนัก คือ เศรษฐกิจฐานรากที่มีเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชนและเกษตรกรที่ฝ่ามรสุมมาต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายปี โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 

ดังนั้น สิ่งที่ครึ่งปีหลังยังต้องเผชิญปัญหา ประกอบด้วย

1. กำลังซื้อภายในประเทศชะลอตัว และการกระจายรายได้ไม่มีประสิทธิภาพ พิจารณาจากสัดส่วน GDP เอสเอ็มอี 35% ของ GDP ประเทศ ขณะที่ GDP Micro SME (รายย่อย) มีเพียง 3% ของ GDP ทั้งประเทศ ซึ่งรายย่อยมีจำนวนผู้ประกอบการถึง 2.7 ล้านราย หรือ คิดเป็นสัดส่วน 85% ของผู้ประกอบการเอกชนทั้งประเทศ จ้างงานราว 5.5 ล้านคน หรือ 30% ของการจ้างงานภาคเอกชนทั้งประเทศ 

2. ต้นทุนวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตพลังงานไฟฟ้าและน้ำมัน ค่าขนส่งและโลจิสติกส์ อัตราดอกเบี้ยที่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันด้านต้นทุน ราคาขาย อีกทั้งการแก้ไขปัญหาลดค่าครองชีพ ลดภาระต้นทุนผู้ประกอบการ การส่งเสริมสินค้า บริการไทยและการให้ความเป็นธรรมในด้านต้นทุนพลังงานและอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน     

ดังนั้น รัฐบาลควรมุ่งเน้นมาตรการส่งเสริมการลงทุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในการผลิตและบริการทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นกลไกเศรษฐกิจท้องถิ่นที่จะลดการขาดดุลการค้าและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้สามารถขยายตลาดไปเติบโตได้ในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเร่งแสวงหางแสวงหาความร่วมมือจากกลุ่มประเทศพลังงานชั้นนำเพื่อเปิดการค้าแบบรัฐต่อรัฐเพื่อลดต้นทุนและสร้างความมั่นคง ความเป็นธรรมให้ประชาชน ผู้ประกอบการ

3. การเข้าถึงแหล่งทุนในระบบสถาบันการเงิน จากปัญหาขาดสภาพคล่อง เงินทุนหมุนเวียนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สูงถึง 92% จากผลสำรวจของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดยิ่ม (สสว.) โดยเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนในระบบเพียง 53% ขณะที่เอสเอ็มอีใช้แหล่งทุนทั้งในและนอกระบบควบคู่กัน 11% และเอสเอ็มอีที่ใช้แหล่งทุนนอกระบบสูงถึง 36% ซึ่งต้องเร่งออกแบบนวัตกรรมทางการเงินเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อในระบบด้วยสถาบันการเงินของรัฐ กองทุนต่างๆ ให้รองรับในแต่ละกลุ่มผู้ประกอบการร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

ซึ่งจะตอบโจทย์การเพิ่มสภาพคล่อง แต่ต้องดำเนินการควบคู่กับการบ่มเพาะยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการและภาคแรงงานร่วมด้วยแบบคู่ขนานโดยใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่มีระบบส่งต่ออย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เช่นนั้นอาจจะได้เห็น “หนี้นอกระบบทุกช่วงวัยและอาชีพในอัตราที่เพิ่มขึ้น” ในอีกไม่ช้านี้ 

นอกจากนี้ จากงานวิจัยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ "ป๋วย อึ๊งภากรณ์" พบว่า ช่วงอายุ 20-29 ปี เป็นหนี้นอกระบบ 34% ช่วงอายุ 30-39 ปี เป็นหนี้นอกระบบ 41% ช่วงอายุ 44-60 ปี เป็นหนี้นอกระบบ 44-45% และช่วงอายุที่น่าเป็นห่วง คือ 60 ปีขึ้นไป เป็นหนี้นอกระบบ 47% หรือ เป็นหนี้นอกระบบจนสูงอายุ

4. การพัฒนากำลังคนที่มีสรรถนะสูงในทุกช่วงวัย ข้อมูลสถาบันการพัฒนาการบริหารจัดการ (IMD) ปี 2566 พบว่า ประเทศไทย Education Ranking อยู่ในอันดับที่ 54 ตามหลังประเทศสิงค์โปร์และประเทศมาเลเซียในระดับอาเซียน ซึ่งต้องปรับการยกระดับทักษะขีดความสามารถ ตั้งแต่การลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพการศึกษาที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศและแข่งขันได้ในระดับอาเซียนและระดับโลก 

ทั้งระดับการศึกษาปฐมวัย อุดมศึกษา วัยทำงานจนถึงผู้สูงอายุ การส่งเสริมเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน เกษตรกรที่เป็นกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากควบคู่ภาคแรงงานอย่างเป็นระบบ ทั้งการพัฒนาคุณภาพสินค้า และบริการ เข้าถึงการรับรองและระบบมาตรฐานคุณภาพ สิ่งแวดล้อม การเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพแรงงานสีเขียว แรงงานที่มีคุณค่าไปพร้อม ๆ กับการสร้างความเป็นผู้ประกอบการที่มีพื้นฐานทักษะการบริหารจัดการทางเงิน เพื่อให้แก้หนี้อย่างยั่งยืน 

รวมถึงทักษะการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในการดำเนินชีวิต การทำงานและดำเนินธุรกิจให้รู้เท่าทันและรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเข้าถึงกลไกทุนนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น รวมทั้งขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่รองรับมากกว่าโมเดล ESG ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์สร้างภูมิคุ้มกันให้ชีวิต ครอบครัวและธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง

5. การแก้ไขกฎหมาย ระเบียบที่เป็นอุปสรรคกับการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนที่ต้องเอื้อต่อการลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสให้รายย่อยเติบโตแบบมีแต้มต่อตามที่ทาง TDRI (175/2564) ได้ศึกษาไว้และสิ่งสำคัญ คือ กติกาการค้า การลงทุนข้ามชาติ และแข่งขันทางการค้า อาทิ การออกใบอนุญาตต่างๆที่ล่าช้า เครดิตเทอมเอสเอ็มอียาวที่เพิ่มปัญหาสภาพคล่อง การนำเข้าสินค้าอย่างผิดกฎหมาย การเข้ามาแข่งขันการค้าของสินค้าราคาต่ำจากต่างประเทศที่ไม่ได้รับรองมาตรฐาน การเข้าระบบภาษีที่ถูกต้องและกระทบห่วงโซ่ผู้ประกอบการไทยที่จะต้องทยอยปิดกิจการ เลิกจ้างงานและปรับไปทำธุรกิจอื่น เป็นต้น

แม้ว่าปัจจัยบวกที่ส่งเสริมในทิศทางที่เป็นโอกาสจะมีอยู่ในครึ่งปีหลัง 2567 อาทิ การเร่งงบประมาณรายจ่ายภาครัฐในการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นโยบายและมาตรการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุน PGS11 การเร่งส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศในประเทศไทย (FDI) การที่รัฐบาลตระหนักและให้ความสำคัญการแก้ไขหนี้นอกระบบ การยกระดับกำลังคนด้วย Soft Power รวมถึงการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวไทยเพิ่มมากขึ้น 

ยังรวมไปถึง ผลงานการปราบปรามยาเสพติด การพนันออนไลน์และธุรกิจผิดกฎหมาย แต่การขับเคลื่อนควรนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ทั้ง 13 หมุดหมายมาเชื่อมโยงบูรณาการเพื่อให้เกิดกลไกแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมในแต่ละหน่วยงาน กรม กระทรวง ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม 

อย่างไรก็ตาม จากการข้อมูลสำรวจของ สสว. พบว่าปี 2566 สัญญาณเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อเอสเอ็มอีภาคการผลิตและการจ้างงานลดจำนวนลง และความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เดือนพ.ค. 2567 รายภูมิภาคติดลบทุกภาคทั้ง 6 ภาค คือ ภาคเหนือ -1.6 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ -1.4 ภาคตะวันออก -2.5 ภาคกลาง -1.8 กรุงเทพฯ และปริมณฑล -1.7 และภาคใต้ -1.5 และหากพิจารณารายภาคธุรกิจพบว่าติดลบทุกภาคธุรกิจเช่นกัน คือ ภาคการผลิต -0.6 ภาคการค้า -1.5 ภาคการบริการ -2.6 และภาคธุรกิจการเกษตร -1.5 

ทั้งนี้ เอสเอ็มอีต้องเผชิญกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์จากสันดาปเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ เอสเอ็มอีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ได้รับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์สันดาป การปรับเปลี่ยนธุรกิจรองรับการเปลี่ยนแปลงต้องการการสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมก่อสร้างและธุรกิจเกี่ยวเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่มีปัญหาหนี้เสียจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยปลายปี 2566 ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน 

ส่งผลการชะลอตัวปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยขนาดเล็กของสถาบันการเงิน อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าที่จีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกทั้งบริโภคเองและส่งออก อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่แข่งขันสูง ดังนั้น การสร้างความยั่งยืนให้เศรษฐกิจเติบโตต้องมีแผนชัดเจนในการมุ่งเป้าให้กลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อยได้รับประโยชน์เพิ่มมากขึ้น “กระตุ้นฐานรากในประเทศพร้อมดันไปให้โตนอกประเทศ”

รายงานข่าวจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 30 มิ.ย. 2567 พบโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการใหม่และขยายโรงงานรวม 1,275 โรงงาน แบ่งเป็น ประกอบกิจการใหม่ 1,047 โรงงาน และขยายโรงงานใหม่ 228 โรงงาน เกิดแรงงานใหม่เพิ่ม 55,127 คน และเงินลงทุนรวม 219,855.21 ล้านบาท  

ในขณะที่โรงงานที่เลิกกิจการรวม 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) 2567 มีโรงงานปิดกิจการทั้งสิ้น 485 แห่ง ส่งผลให้สูญเสียเงินลงทุนรวม 13,990.61 ล้านบาท และพนักงานถูกเลิกจ้างมากถึง 12,472 คน