'พิมพ์ภัทรา' เข้มผู้ใช้ 'ไซยาไนด์' รายงานข้อเท็จจริง ฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย
“พิมพ์ภัทรา” กำชับ กรมโรงงานฯ ติดตามสถานที่เก็บ “ไซยาไนด์” ต่อเนื่อง และต้องรายงานข้อเท็จจริงการนำไปใช้ ด้านอธิบดีกรมโรงงานฯ ย้ำเข้มงวดการใช้ตามที่ระบุในการขึ้นทะเบียนเท่านั้น หากพบการฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมายสูงสุด
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงมาตรการป้องกันวัตถุอันตราย หลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย โดยมีการตรวจพบสารไซยาไนด์บริเวณที่เกิดเหตุ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นหนึ่งใน 6 หน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลวัตถุอันตราย ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม รับผิดชอบสารตามบัญชี 5 ซึ่งใช้ในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสารที่ควบคุมตามอนุสัญญา ของเสียเคมีวัตถุ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว รวมจำนวน 615 รายการ และ 26 กลุ่ม ทั้งนี้ โพแทสเซียมไซยาไนด์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ ซึ่งผู้ประกอบการที่ประสงค์จะนำเข้า ผลิต จะต้องขอขึ้นทะเบียนพร้อมแจ้งวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ที่ชัดเจนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องได้รับอนุญาตก่อนการดำเนินการ โดยการนำไปใช้ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น
สำหรับสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ เป็นสารที่นำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้ในการกระบวนการทำความสะอาดโลหะ ชุบโลหะ สกัดแร่ทองและเงิน และใช้ในห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ ทั้งนี้ สถานที่เก็บรักษาโพแทสเซียมไซยาไนด์ จะต้องได้รับการตรวจสอบทุกครั้งประกอบการพิจารณาขออนุญาต
เพื่อให้เกิดความปลอดภัย เหมาะสม เป็นไปตามกฎหมายและหลักวิชาการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ยังมีการตรวจติดตามสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อบุคคล ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม และกำหนดให้ผู้ที่มีโพแทสเซียมไซยาไนด์ในครอบครองตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไปในรอบ 6 เดือน มีหน้าที่ต้องรายงานข้อเท็จจริงของการนำไปใช้ ปริมาณคงเหลือ การจำหน่าย เพื่อให้สามารถติดตามตรวจสอบไปจนถึงผู้ใช้ได้
ด้านนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้มีการนำสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เห็นชอบมาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมมิให้มีการนำโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 และมาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมมิให้มีการนำโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์เพิ่มเติม และวันที่ 15 มิถุนายน 2566 อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
โดยได้แบ่งกลุ่มผู้นำเข้าสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ตามวัตถุประสงค์การนำไปใช้ เป็น 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับกิจการโรงงาน
2. กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับห้องปฏิบัติการ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และ
3. กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับกิจการชุบล้างโลหะขนาดเล็ก ซึ่งครอบคลุมถึงการนำเข้าผลิตภัณฑ์เคมีที่มีโพแทสเซียมไซยาไนด์ความเข้มข้นต่ำเป็นองค์ประกอบสำหรับกิจการอื่น
อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้แจ้งข้อเท็จจริงของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อกำกับดูแลการใช้สารประกอบไซยาไนด์ จำนวน 16 รายการอย่างเข้มงวด และสามารถติดตามการใช้งานได้จนถึงผู้ใช้รายย่อย ด้วยการกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายตามรายชื่อท้ายประกาศนี้อยู่ในความครอบครองในแต่ละรายชื่อของวัตถุอันตรายทุกปริมาณ ทุก 6 เดือน
ทั้งนี้ ได้กำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกรายต้องนำสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ระบุในการขึ้นทะเบียนเท่านั้น หากพบว่า ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือผู้ใช้ มีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ จะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ