นายกฯ คิกออฟ "Ignite Finance" ดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลก
นายกฯ เปิดตัวโครงการ "Ignite Finance" ประกาศเป้าดันไทยเป็นศูนย์กลางการเงินภูมิภาค คลังจ่อยกร่างกฎหมายการเงินใหม่ ตั้งหน่วยงานบริการกำกับดูแลเบ็ดเสร็จเล็งดึง 5 ธุรกิจการเงินข้ามชาติปักหมุดไทย คาดเสนอกฎหมายเข้าสภาในปีนี้
วันนี้ (19 ก.ค.) ที่กระทรวงการคลัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในฐานะเป็นประธานเปิดงานโครงการศูนย์กลางการเงิน (Financial Hub) ภายใต้หัวข้อ "Ignite Finance: Thailand's Vision for a Global Financial Hub เปิดทางนำไทยสู่ศูนย์กลางการเงินโลก" ว่า อุตสาหกรรมการเงินของไทยช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีความแข็งแกร่งจากการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจฝั่งภาคการผลิต การท่องเที่ยวในประเทศ อย่างไรก็ตาม การพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมของไทยได้เร็วเพียงพอ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูงเข้ามาในประเทศ
โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้ ความสามารถมากยิ่งขึ้น และหนึ่งในอุตสาหกรรมดังกล่าว คือ “อุตสาหกรรมการเงิน การลงทุน การธนาคาร” ซึ่งกลยุทธ์หลักคือการเปิดรับเงินนอกเข้ามาอยู่ในประเทศ จาก 5 กลุ่มธุรกิจสำคัญ ได้แก่ ธุุรกิจธนาคาร ธุรกิจหลักทรัพย์ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และธุรกิจประกันภัย
"ที่ผ่านมาประเทศเพื่อนบ้าน ปรับแก้กฏหมายให้เป็นมิตรต่อการทำธุรกิจ เพราะหลายบริษัทต่างชาติไม่ได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนเพื่อจะค้าขายกับคนในประเทศ แต่เป็นการเข้าไปอยู่เพื่ออาศัยอีโคซิสเต็มในการทำธุรกิจ ทำให้สามารถหาคนเก่ง (Talents) ได้ เจรจาพูดคุยการค้า การลงทุน ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น"
นายเศรษฐา กล่าวว่า หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมบ้านเขาทำได้ และที่ผ่านมาทำไมนักลงทุนถึงไม่เลือกประเทศไทย ซึ่งการออกไปคุยกับนักลงทุนทำให้เข้าใจดีว่า หัวใจของการสร้างอุตสาหกรรมนี้ คือ การมีกฏหมายที่ชัดเจนสำหรับการดำเนินธุรกิจ และการมีโครงสร้างพื้นฐาน (Facility) สำหรับคนทำงานที่ดีพอ ซึ่งมั่นใจว่า Facility ต่างๆ ในประเทศไทยนั้น World Class ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร โรงพยาบาล โรงเรียน international สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเสนอร่างกฎหมายการเงินใหม่ เพื่อจัดตั้งหน่วยงานที่จะเข้ามากำกับดูแลและอำนวยความสะดวกการลงทุนของธุรกิจการเงินข้ามชาติ ซึ่งเตรียมจะเสนอเจ้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเสนอร่างกฎหมายเข้าสภาภายในปีนี้
โดยร่างกฎหมายทดังกล่าวจะสร้างกรอบการกำกับดูแลแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดตั้งแต่การขอใบอนุญาตจนถึงการกำกับดูแลมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและตอบโจทย์ผู้ประกอบธุรกิจ
นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบสิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ อาทิ การให้วีซ่าทำงานแก่บุคลากรและวีซ่าที่เกี่ยวข้องของครอบครัว การจัดเก็บภาษีที่เทียบเท่ากับศูนย์กลางการเงินอื่น รวมทั้งโครงการเพิ่มแรงจูงใจอื่นๆ เช่น การให้เงินสนับสนุน (Grant) ซึ่งจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าและเทียบเคียงกับศูนญืกลางการเงินอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ และดูไบ
นายเผ่าภูมิ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังยังมีกลไกที่จะยกระดับระบบสถาบันการเงินภายในประเทศที่สำคัญ โดยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกประกาศกระทรวงการคลังเพื่อให้มีการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดขอรับใบอนุญาต
รวมทั้งการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (National Credit Guarantee Agency: NaCGA) ที่จะเป็นนวัตกรรมใหม่ในการค้ำประกันความเสี่ยงสินเชื่อให้กับบุคคลทั่วไปและผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการสินเชื่อแต่รู้ว่าหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอให้มาเข้าร่วมกลไกค้ำประกันนี้ก่อนไปธนาคาร
ซึ่งกลไกค้ำประกันดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นเหมือนการจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อซื้อประกันสินเชื่อให้ธุรกิจ โดยภาครัฐช่วยสมทบส่วนหนึ่ง เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการจะเป็นหนี้เสีย (NPL) หากมีความเสี่ยงและไม่สามารถชำระคืนได้หน่วยงานดังกล่าวก็จะช่วยจ่ายแทนให้ โดยการตั้งสถาบันดังกล่าวเตรียมเสนอที่ประชุมครม. เร็วๆ นี้