กบร. ดันบริการเครื่องบินเช่าเหมาลำ หวังดึง Luxury Tourism เข้าประเทศ

กบร. ดันบริการเครื่องบินเช่าเหมาลำ หวังดึง Luxury Tourism เข้าประเทศ

“สุริยะ” นั่งหัวโต๊ะ กบร. ให้ใบอนุญาตบริการเครื่องบินเช่าเหมาลำ หวังดึง Luxury Tourism เข้าประเทศ พร้อมอนุมัติข้อบังคับ กพท. ดันมาตรฐานการบริการและความปลอดภัยเทียบเท่าสากล

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) โดยระบุว่า ขณะนี้ได้มอบให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เร่งรัดการดำเนินงานเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยให้เป็นที่หนึ่งของการเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) และศูนย์กลางทางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) ของภูมิภาค ด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ Luxury Tourism ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมีรายได้สูงเข้ามาท่องเที่ยวและใช้จ่ายภายในประเทศ

โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาด้วยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว แต่เนื่องจากกฎหมายของไทยในปัจจุบันยังคงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมทางการบิน ดังนั้น จึงต้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ภายใต้มาตรฐานสากลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ทั้งในด้านความปลอดภัย (Safety) และด้านการรักษาความปลอดภัย (Security) เพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมการบิน การดำเนินการเชิงนโยบายการรองรับนักท่องเที่ยวแบบ Luxury Tourism

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน ประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์ แบบไม่ประจำให้กับบริษัท แอร์ เอเอ็มบี จํากัด ผู้ประกอบการรายแรกที่นำอากาศยานแบบ Pilatus PC 12NG มาใช้ในประเทศไทย เพื่อให้บริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ และให้บริการเช่าเหมาลำส่วนตัว โดยใบอนุญาตนี้จะมีอายุ 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต 

กบร. ดันบริการเครื่องบินเช่าเหมาลำ หวังดึง Luxury Tourism เข้าประเทศ

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบร่างข้อบังคับของ กพท. ฉบับที่ .. ว่าด้วยสิทธิทำการของผู้ถือใบอนุญาตนักบิน พนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศ และพนักงานอำนวยการบิน โดยยกเลิกฉบับเดิม (ฉบับที่ 7) และยกร่างข้อบังคับขึ้นใหม่ ให้อ้างอิงหลักเกณฑ์และมาตรฐานของ ICAO Annex 1 Personnel Licensing และ Part-Flight Crew Licencing (Part - FCL) และ Part - Air Traffic Controllers (Part - ATCO) เพื่อยกระดับมาตรฐานผู้ประจำหน้าที่และความปลอดภัยการบิน

รวมทั้งเห็นชอบร่างข้อบังคับของ กพท. เกี่ยวกับการกำหนดอายุใบอนุญาตผลิตภัณฑ์ โดยกำหนดให้ใบอนุญาตผลิตอากาศยานมีอายุ 30 ปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต ใบอนุญาตผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานมีอายุ 20 ปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต ใบอนุญาตผลิตชิ้นส่วนรับรองคุณภาพมีอายุ 10 นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต และใบอนุญาตผลิตบริภัณฑ์มีอายุ 10 นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

พร้อมทั้งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนธุรกิจของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน จำนวน 6 บริษัท โดยเป็นการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนการจัดหาอากาศยานให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจในสถานการณ์ปัจจุบัน จำนวน 5 ราย คือ 1. บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด 2. บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท แอร์ อินเตอร์ ทรานสปอร์ต จำกัด 4. บริษัท เค-ไมล์ แอร์ จำกัด และ 5. บริษัท ไทย ไลอ้อน เมนทารี จำกัด และเป็นการขอเปลี่ยนชื่อบริษัท จำนวน 1 ราย คือ บริษัท ไทย ซีเพลน จำกัด (จากเดิมชื่อ บริษัท อวานติ แอร์ ชาร์เตอร์ จำกัด)