ดีพร้อม ต่อยอด DIPROM CONNECTION ยกระดับอุตสาหกรรม ดันเศรษฐกิจโต 2 หมื่นล้าน
"ดีพร้อม" รุกต่อยอด "DIPROM CONNECTION"
สานแนวคิด “คิดถึงธุรกิจ คิดถึงดีพร้อม” มุ่งยกระดับภาคอุตสาหกรรม ดันเศรษฐกิจโตกว่า 2 หมื่นล้าน
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เดินหน้านโยบาย “RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต” ในกลยุทธ์ปรับเพิ่มการเข้าถึงโอกาสผ่านการขยายเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM CONNECTION)
โดยเร่งเดินหน้าสร้างความร่วมมือและบูรณาการกับองค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น รวมถึงยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยี การส่งเสริมการลงทุน การเจรจาจับคู่ธุรกิจ และการร่วมกันดำเนินโครงการ และกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ
ซึ่งในปีนี้ ดีพร้อม ได้ดำเนินการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ไปแล้วกว่า 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ผ่านโครงการ “ติดปีกธุรกิจ พิชิตโอกาส เชื่อมตลาด สู่ความสำเร็จ” เพื่อเสริมแกร่งชุมชน-วิสาหกิจไทย ยกระดับสินค้าและบริการให้มีคุณภาพ สนับสนุนสิทธิประโยชน์ส่วนลดพิเศษในการขนและขายสินค้าชุมชนไทยผ่านระบบออนไลน์ และออฟไลน์ ณ ที่ทำไปรษณีย์ไทยและเครือข่ายพันธมิตรทั่วประเทศกว่า 50,000 แห่ง
สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ผ่านโครงการ“ติดปีกเกษตรกร ด้วยเกษตรอุตสาหกรรม” กับ เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการแปรรูป เพิ่มผลิตภาพให้กับพืชเศรษฐกิจและผลไม้ พร้อมยกระดับสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีและองค์ความรู้โดยเน้น โกโก้ ไผ่ สมุนไพร ชีวมวล ในระยะแรก และพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ในอนาคต รวมถึงการส่งเสริมการนำวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรมาใช้เป็นพลังงานทดแทน และอีก 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารเพื่อการ ส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ผ่านโครงการ “ติดปีก เอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มีดีพร้อมค้ำประกันให้” เพื่อให้ผู้ประกอบการยื่นเรื่องผ่าน ดีพร้อมเพื่อพิจารณาการค้ำประกันและส่งต่อให้กับทางสถาบัน โดยจะพิจารณาการค้ำประกันและสามารถแจ้งผลเบื้องต้น
นายภาสกร กล่าวว่า ในปี 2567 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ตั้งเป้าจะร่วมมือกับพันธมิตรภายในประเทศอีก 7 หน่วยงาน อาทิ
1. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : GISTDA ด้วยการเพิ่มโอกาสให้กับภาคอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ
2. กลุ่มเซ็นทรัล ร่วมมือในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และเสริมแกร่งด้านตลาด
3. บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ร่วมมือในด้านการเสริมแกร่งด้านตลาด สร้างแบรนด์ (Storytelling)
4. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ร่วมมือในด้านทุนสนับสนุนเครื่องจักร เทคโนโลยี พัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ สร้างแบรนด์ (Storytelling) และช่องทางประชาสัมพันธ์
5. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พัฒนาโมเดลนำร่องในการสนับสนุนและขับเคลื่อนงานวิจัย เพื่อสร้างผลกระทบขนาดใหญ่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบองค์รวม
6. สภาหัตถศิลป์โลก ร่วมมือในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ เสริมแกร่งด้านตลาด และ
7. เกษรอัมรินทร์ เพื่อนำสินค้าของผู้ประกอบการในจำหน่ายในพื้นที่ พร้อมเร่งขยายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต
ขณะที่ในส่วนของต่างประเทศนั้น ดีพร้อมได้เตรียมขยายความร่วมมือกับหน่วยงานในประเทศญี่ปุ่นอีก 4 หน่วยงานในด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) เพื่อมุ่งเน้นการอนุรักษ์พลังงานด้วยการให้ทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอนุรักษ์พลังงานให้กับบริษัทต่าง ๆ พร้อมการพัฒนาการใช้เทคโนโลยี AI หุ่นยนต์อัตโนมัติ (Robot) และพลังงานใหม่ ๆ
รวมถึงทำความร่วมมือกับจังหวัดในประเทศญี่ปุ่นอีก 3 จังหวัด คือ จังหวัดโทคุชิมะ จังหวัดโออิตะ และจังหวัดนางาซากิ โดยในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้ทำความร่วมมือกับ 1 หน่วยงาน ด้วยการต่อยอดความร่วมมือ (Framework Agreement) ชูนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตกับ จังหวัดมิเอะ ในด้านการพัฒนาบุคลากร และเพิ่มสาขาความร่วมมือให้ครอบคลุมเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม และพลังงานหมุนเวียน ซึ่งทำให้ความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบันทั้งในระดับรัฐบาลกลาง 6 แห่ง รัฐบาลท้องถิ่น 23 แห่ง และภาคเอกชน 3 แห่ง รวม 31 แห่ง ผ่านความร่วมมือรูปแบบต่าง ๆ อาทิ
บันทึกความเข้าใจ (MOU) บันทึกความร่วมมือ (MOC) และกรอบการทำงาน (Framework) เพื่อส่งเสริมและแลกเปลี่ยนความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างกัน ทั้งในด้านองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี ตลอดจนบุคลากร รวมทั้งเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขยายโอกาสธุรกิจสู่ระดับโลก
"ปัจจุบันหน่วยงานที่สนับสนุนและช่วยเอสเอ็มอีมีอยู่มาก โดยดีพร้อมต้องการสร้างจุดเด่นและความแตกต่าง จึงเร่งผสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในรูปแบบของ DIPROM CONNECTION เพื่อต่อยอดการบริการของดีพร้อมตามกรอบงบประมาณที่ได้รับ ให้สามารถครอบคลุมได้ในหลายมิติอย่างครบวงจร และสานแนวคิด คิดถึงธุรกิจ คิดถึงดีพร้อม"
ทั้งนี้ โลกในยุคปัจจุบันดีพร้อมไม่สามารถขับเคลื่อนการทำงานเพียงผู้เดียวได้ ดังนั้น ในปี 2567 ดีพร้อมตั้งเป้าบูรณาการความร่วมมือผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศได้กว่า 20 หน่วยงาน
อีกทั้ง ยังมีแผนที่ขยายเครือข่ายความร่วมมือเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต เพื่อทำให้การบริการของดีพร้อมมีความครอบคลุมเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ และต่อยอดการให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมให้ครอบคลุมทุกมิติ สร้างความแตกต่างให้เอสเอ็มอีนึกถึงดีพร้อมเป็นลำดับแรก ซึ่งคาดจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเบื้องต้นกว่า 2 หมื่นล้านบาท