“พาณิชย์” ชี้เป้าส่งออกอาหารเสริมเจาะกลุ่มคนรักสุขภาพ-คนออกกำลังในสหรัฐ
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผย ปี 66 อุตสาหกรรมอาหารเสริมในสหรัฐ มีมูลค่า 36,036.8 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3.1 % ชี้โอกาสไทยส่งออกอาหารเสริมเจาะตลาดผู้บริโภคสหรัฐฯ เน้นกลุ่มคนรักสุขภาพ และคนออกกำลังกาย เน้นสินค้าที่ช่วยฟื้นฟูสุขภาพ ขายส่วนผสมจากสมุนไพรไทย
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ ตามนโยบายนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสาวเกษสุรีย์ วิจารณกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก ถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารเสริมในสหรัฐฯ และโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทยเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ตามการเติบโตของกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ และกลุ่มที่ต้องการอาหารเสริมสำหรับการออกกำลังกาย
ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมูลค่าอุตสาหกรรมอาหารเสริมในสหรัฐฯ ปี 2566 อยู่ที่ 36,036.8 ล้านดอลลาร์ เติบโตจาก 34,954.4 ล้านดอลลาร์ ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น 3.1 % โดยปัจจัยหลักที่ทำให้อุตสาหกรรมเติบโต ได้แก่ จำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ผู้บริโภค ชาวอเมริกันที่ตระหนักรู้ในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ และต้องการอาหารเสริมสำหรับการออกกำลังกายมากขึ้น
โดยอาหารเสริมในตลาดสหรัฐฯ แบ่งได้ตามส่วนผสมสำคัญ ได้แก่ วิตามิน สารสกัดจากธรรมชาติ แร่ธาตุ โปรตีนและกรดอะมิโน ไฟเบอร์ กรดไขมันโอเมก้า โพรไบโอติก และอื่น ๆ โดยวิตามิน เป็นอาหารเสริมที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 30.11 % ของยอดขายอาหารเสริมทั้งหมด และอาหารเสริมที่อยู่ในรูปแคปซูล เป็นรูปแบบที่ผู้บริโภคนิยม คิดเป็น 30.3 %ของยอดขายทั้งหมด โดยรูปแบบเยลลี่ เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะดูน่ากินและย่อยง่าย
สำหรับช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลักในสหรัฐฯ มาจากการจำหน่ายผ่านช่องทางจำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์ (Over-the-Counter: OTC) 85.17 %ซึ่ง OTC คือ การที่ผู้บริโภคสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ ได้เองโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ ซึ่งแรงขับเคลื่อนของยอดขายที่จำหน่ายผ่าน OTC คือ ผู้บริโภคต้องการดูแลตัวเอง แต่การเติบโตของการซื้อขายออนไลน์ ก็ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารเสริมได้ง่ายขึ้น และมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น
ส่วนสิ่งที่ควรรู้ก่อนนำผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเข้ามาขายในตลาดสหรัฐฯ ทูตพาณิชย์ให้ข้อมูลว่า หากเป็นยาและผลิตภัณฑ์ยา ต้องได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ก่อนวางจำหน่าย แต่หากเป็นอาหารเสริม ผู้ผลิตไม่ต้องขอการรับรองจาก FDA เพื่อวางจำหน่ายในตลาด แต่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบหลักเกณฑ์การปฏิบัติที่ดีในการผลิตปัจจุบัน (GMPs) ที่ FDA กำหนด พร้อมกับมีหลักฐานว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยและฉลากของผลิตภัณฑ์ไม่มีการกล่าวอ้างที่เกินจริง ซึ่งหากผลิตภัณฑ์ไม่ได้มีสารตัวใหม่เป็นส่วนผสม ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลกับ FDA ก่อนการวางจำหน่าย
โดย FDA มีอำนาจในการตรวจสอบ และหากพบว่า ไม่ปลอดภัย ก็มีอำนาจให้นำออกจากตลาดหรือแจ้งให้ผู้ผลิตเรียกคืนสินค้าโดยสมัครใจ และยังสามารถนำผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบกับองค์กรอิสระที่ให้บริการทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ ได้แก่ บริษัท ConsumerLab.com บริษัท NSF International และบริษัท U.S. Pharmacopeia เพื่อรับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมีการผลิตที่เหมาะสม มีส่วนผสมตรงกับฉลาก และไม่มีสารปนเปื้อนในระดับที่อันตราย แต่การทดสอบคุณภาพดังกล่าว ไม่ได้รับประกันว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพตามที่กล่าวอ้าง
นายภูสิต กล่าวว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ได้เป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของชาวอเมริกัน เพื่อช่วยเสริมสารอาหารที่ได้รับในมื้ออาหารประจำวันไม่เพียงพอ ซึ่งวัยผู้ใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าหลัก เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวระหว่างวันน้อยและรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา ประกอบกับความตระหนักเรื่องการดูแลสุขภาพ จึงทำให้อุตสาหกรรมอาหารเสริมในสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยและผู้ส่งออกไทยในการเสนอผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในตลาดสหรัฐฯ ที่มีข้อได้เปรียบในเรื่องชื่อเสียงและความเป็นเอกลักษณ์ของสมุนไพร ซึ่งข้อมูลอุตสาหกรรมอาหารเสริมจะเป็นแนวทางให้แก่ผู้ประกอบการศึกษาพฤติกรรมและความชื่นชอบของผู้บริโภคชาวอเมริกัน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคชาวอเมริกันให้มีประสิทธิภาพในการขยายตลาดสหรัฐฯ ต่อไป
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169