ท่องเที่ยวไทย – จีนโตต่อเนื่อง บวท.ชง ICAO เปิดน่านฟ้าใหม่

ท่องเที่ยวไทย – จีนโตต่อเนื่อง  บวท.ชง ICAO เปิดน่านฟ้าใหม่

แนวโน้มการเดินทางทางอากาศระหว่างไทย – จีน ปัจจุบันฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนจากอัตราการครองสัดส่วนสูงถึง 20% ของปริมาณเที่ยวบินระหว่างประเทศตั้งแต่เดือนต.ค.2566 - พ.ค.2567

โดยหากนับเฉพาะส่วนของปริมาณเที่ยวบินไทย – จีน มีจำนวนรวม 55,433 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 213% และคาดว่าทั้งปี 2567 จะมีปริมาณเที่ยวบินไทย – จีน 86,150 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 126%

สุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงข้อสั่งการที่มอบหมายให้บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ดำเนินการเร่งด่วนเพื่อรองรับการเติบโตของเที่ยวบินไทย – จีน โดยระบุว่า จากการดำเนินนโยบายระหว่างรัฐบาลไทย และจีน ที่ได้เห็นชอบข้อตกลงทวิภาคีในการยกเลิกข้อกำหนดด้านวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศ ขณะนี้เห็นผลชัดแล้วว่าส่งผลบวกต่อปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไทย และยกระดับศักยภาพด้านการบินของประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) นำมาสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ตนได้มอบหมายให้ บวท.เร่งขยายขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน โดยเฉพาะตลาดจีนที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยศึกษาจัดสร้างเส้นทางบินใหม่ให้เป็นแบบเส้นทางบินคู่ขนาน หรือ Parallel Route จากปัจจุบันเป็นแบบเส้นทางบินเดี่ยว หรือ One Way Route

รวมถึงปรับปรุงระบบเทคโนโลยี ปรับปรุงโครงสร้างห้วงอากาศ และแนวทางบริหารจัดการ ให้สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบิน และนักท่องเที่ยวให้ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ซึ่งคาดว่าหากมีการเปิดเส้นทางบินคู่ขนานนี้แล้ว จะสามารถรองรับเที่ยวบินเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 1 แสนเที่ยวบินต่อปี เพิ่มเป็น 2 แสนเที่ยวบินต่อปี

พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บวท. กล่าวเสริมว่า เพื่อรองรับการเติบโตของปริมาณเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้นนั้น บวท.ต้องดำเนินการเร่งด่วนในส่วนของมาตรการให้บริการจราจรทางอากาศ ทั้งประเด็นการบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Flow Management) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานทางวิ่ง หรือ High Intensity Runway Operation (HIROs) ซึ่งเป็นการจัดระยะห่างของอากาศยานขาเข้า และขาออก ให้ได้เทียบเท่าสนามบินชั้นนำของโลก

นอกจากนี้ ยังเตรียมนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการเที่ยวบินขาเข้าคือ ระบบ Arrival Manager (AMAN) และการจัดการเที่ยวบินขาออกด้วยระบบ Intelligent Departure (iDep) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ และทำให้เที่ยวบินสามารถทำการบินได้ตรงเวลาตามตารางการบิน เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินได้มากที่สุด

ด้าน ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท.เผยว่า ปัจจุบันเที่ยวบินระหว่างประเทศเติบโตอย่างมาก พบว่าเดือนต.ค.2566 - พ.ค.2567 มีเที่ยวบินให้บริการรวม 556,864 เที่ยวบิน เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 280,720 เที่ยวบิน เที่ยวบินภายในประเทศ 216,537 เที่ยวบิน และเที่ยวบินผ่านน่านฟ้า 59,607 เที่ยวบิน โดย บวท.คาดการณ์ว่าในปี 2567 จะมีเที่ยวบินรวม 860,470 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีปริมาณ 8 แสนเที่ยวบิน และจะฟื้นตัวกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติในปี 2568 มีจำนวน 1 ล้านเที่ยวบิน

ในส่วนของเที่ยวบินระหว่างไทย - จีน บวท.พบว่ามีแนวโน้มการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเที่ยวบินจากเฉิงตู นับเป็นตลาดมาแรงที่มีปริมาณการเดินทางเข้าไทยสูงเติบโต 3 – 4 เท่าตัว โดยปัจจุบันสนามบินในประเทศไทยที่มีเที่ยวบินไป – กลับ เฉิงตู ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และสมุย ซึ่งในช่วง 8 เดือน ที่ผ่านมา (ต.ค.2566 – พ.ค.2567) มีเที่ยวบินไป – กลับ เฉิงตู รวม 5,896 เที่ยวบิน และคาดการณ์ตลอดทั้งปี 2567 จะมีเที่ยวบิน ไป – กลับ เฉิงตู รวม 8,850 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 265%

อย่างไรก็ดี เพื่อรองรับต่อความต้องการเดินทางทางอากาศที่เกิดขึ้นระหว่างไทย และเฉิงตู ล่าสุด บวท.ได้เจรจาความร่วมมือบริหารความคล่องตัวทางอากาศ เชื่อมต่อข้อมูลระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินเทียนฟู่ รวมทั้งตั้งเป้าลดเวลาการขนถ่ายผู้โดยสาร และกระเป๋าลงจากเครื่องบินให้เหลือ 1 ชั่วโมง โดย บวท.จะส่งข้อมูลร่วมกันเที่ยวบินประสานกับสนามบินเทียนฟู่ เพื่อแจ้งให้เตรียมตัวขนถ่ายผู้โดยสาร และกระเป๋าก่อนกำหนดเที่ยวบินถึงจุดหมายปลายทาง

นอกจากนี้ จะมีการสื่อสารผ่านดาวเทียม กรณีมีพายุในไทย เที่ยวบินจากจีนจะสามารถทราบข้อมูล และทำให้สายการบินสามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ก่อนลงจอดสนามบินได้ อีกทั้งยังมีความร่วมมือที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการบินร่วมกันอย่างมากคือ การเปิดเส้นทางบินคู่ขนาน โดยใช้เส้นทางผ่านน่านฟ้าใหม่ด้านจีนตะวันตก ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี

ทั้งนี้ สถานะปัจจุบันของการผลักดันเส้นทางบินคู่ขนาน บวท.ได้เริ่มนำร่องทดลองสาธิตการบินไปแล้ว เพื่อรวบรวมข้อมูลก่อนเสนอไปยังองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) พิจารณาอนุมัติเส้นทางบินใหม่ ก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งผลพวงของการเปิดน่านฟ้าเส้นทางบินคู่ขนาน นอกจากจะรองรับการขยายตัวของเที่ยวบินระหว่างไทย – จีนแล้ว ยังจะสามารถลดความแออัดของเส้นทางบินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของน่านฟ้าลาว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์