ชมงาน 'อว.แฟร์' มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทยยั่งยืน
ชมงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนด้วยพลังสหวิทยาการ หรือ “อว.แฟร์” เพื่อรวบรวมงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นฟันเฟืองสำคัญ สำหรับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศมาไว้ในที่เดียวกัน
น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. เปิดเผยว่า จากแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ความท้าทายของโลกยุคใหม่ จำเป็นอย่างยิ่งในการเร่งเพิ่มขีดความสามารถให้แก่คนไทย สำหรับปีนี้จึงได้จัดงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนด้วยพลังสหวิทยาการ หรือ “อว.แฟร์” เพื่อรวบรวมงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นฟันเฟืองสำคัญ สำหรับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศมาไว้ในที่เดียวกัน
สำหรับไฮไลต์ปีนี้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์เด่นจาก 20 จังหวัด ผ่านการจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมท้องถิ่น ครอบคลุมด้านสุขภาพความงาม อาหาร และวัฒนธรรม เริ่มด้วยนิทรรศการเมืองแห่งการเรียนรู้ ที่จำลองกิจกรรมเด่นจากทั้ง 20 เมือง แบ่งเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1. ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ 2. สิ่งแวดล้อม 3. การพัฒนาเมืองและออกแบบพื้นที่ ซึ่งผู้เข้าชมสามารถเรียนรู้และทดลองทำเวิร์กช็อปเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น โคมล้านนา ผ้าขาวม้า และอาหารพื้นถิ่น เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมี นิทรรศการ Culture Connex ที่นำเสนอระบบจัดการพื้นที่กลางสำหรับผลผลิตจากทุนทางวัฒนธรรมทั่วประเทศ แบ่งเป็น 4 โซน ได้แก่ 1. จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย 2. พื้นที่เวิร์กช็อป 3. การแสดงบนเวที 4. นิทรรศการ Culture Connex และ Cultural Map Thailand & Metaverse มีการจัดแสดงสินค้าวัฒนธรรมและกิจกรรมการแสดงตลอดวัน เป็นกลไกเชื่อมต่อทุนทางวัฒนธรรมของไทย
อีกหนึ่งบูธที่โดนเด่นไม่แพ้กันคือ นิทรรศการ The Treasures of Herbal Health Cohesive Ecosystem ที่เป็นการต่อยอดงานวิจัย เพิ่มคุณค่าสมุนไพรด้านการแพทย์และสุขภาพ เพื่อพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ ภายในโซนนิทรรศการยังมีการจัดแสดงพร้อมจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เวชสำอาง และยาที่พัฒนาจากสารสกัดธรรมชาติหรือสมุนไพรอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการแสดงสถานีดาวเทียมจำลอง โดยนำเสนอ แบบจำลองสถานีอวกาศขนาดเสมือนจริง เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศขนาดใหญ่ที่ใช้เป็นฐานปฏิบัติการสำรวจ ทดลอง และวิจัยในอวกาศ แบบจำลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงถึงความสำเร็จด้านเทคโนโลยีอวกาศ สร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชน และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีอวกาศ
อีกทั้งยังมีกิจกรรมพิเศษ Special Talk: ร่วมพูดคุยกับทีมผู้สร้างภาพยนตร์ URANUS 2324 ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้เบื้องหลังการสร้างภาพยนตร์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทีมงานมืออาชีพ ตลอดจนมีการนำเสนอแบบจำลองดาวเทียม Theos2 ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติรุ่นล่าสุดของไทย เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ แบบจำลองนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการสำรวจและติดตามทรัพยากรธรรมชาติของไทย ซึ่งจะช่วยในการวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย
ยิ่งไปกว่านั้นมีการนำ ‘ดินดวงจันทร์จากยานฉางเอ๋อ 5’มาจัดแสดงในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และยังเป็นเป็นครั้งแรกที่นำออกมาจัดแสดงนอกประเทศจีนแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทย-จีน ที่มีมาอย่างยาวนาน โดยกิจกรรมนี้ได้แสดงอุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจวิทยาศาสตร์ของไทยที่จะติดตั้งบนยานฉางเอ๋อ 7 ชื่อ MATCH เพื่อตรวจวัดอนุภาคพลังงานสูงในอวกาศ รวมถึงยังจัดแสดงผลงานการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงด้านต่าง ๆ โดยใช้โจทย์ทางดาราศาสตร์ เพื่อกระตุ้นความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของคนไทยด้วยเช่นกัน
อีกหนึ่งนิทรรศการที่โดดเด่นคือ ‘Hub of Talents and Hub of Knowledge For All’ นำเสนอนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์หลากหลาย ได้แก่ 1. Agricultural: เทคโนโลยีเกษตรและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง 2. Economy: นวัตกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 3. Environmental: เทคโนโลยีรักษาสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด 4. Future Tech: เทคโนโลยีล้ำสมัยสำหรับอนาคต 5. Health: นวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ 6. Society: งานวิจัยเพื่อสังคมปลอดภัยและน่าอยู่ แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์อนาคตอย่างเป็นรูปธรรม
ส่วนสุดท้ายคือ นิทรรศการ‘Irradiation for Sustainable Future’ ที่นำเสนอผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีการฉายรังสีใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมการแพทย์: การฆ่าเชื้อวัสดุทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 2. อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร: การยกระดับคุณภาพอาหารและวัสดุจากธรรมชาติ 3. อุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อม: การกักเก็บพลังงานและบำบัดน้ำเสีย 4. การปรับปรุงคุณสมบัติวัสดุด้วยรังสี
นอกจากนี้ นิทรรศการมีบูธจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารที่ผ่านการฉายรังสี โดยเฉพาะแหนมหลากหลายรูปแบบเช่น แหนมตุ้มติ๋ว แหนมสไลซ์ และแหนมแท่งพร้อมทาน ซึ่งเป็นตัวอย่างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในอุตสาหกรรมอาหาร