2 ทางออกหนี้ 'รถไฟฟ้าสายสีเขียว' กทม.จ่ายจบหรือเจรจาสัมปทาน
ปิดคดีข้อพิพาทค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยาย "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ศาลปกครองสูงสุดสั่ง กทม. และกรุงเทพธนาคม จ่ายหนี้ค้างก้อนแรกรวมกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท จับตา "ชัชชาติ" เคาะแนวทางจ่ายจบหรือเจรจาขยายสัมปทาน ส่อง 3 เงื่อนไขเดิม พบเคยเจรจาขยายสัมปทาน 30 ปีแลกหนี้
KEY
POINTS
- ปิดคดีข้อพิพาทค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยาย "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ศาลปกครองสูงสุดสั่ง กทม. และกรุงเทพธนาคม จ่ายหนี้ค้างก้อนแรกรวมกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท
- จับตา "ชัชชาติ" เคาะแนวทางจ่ายจบหรือเจรจา BTS ขยายสัมปทาน หลังระบุมีแนวคิดดูผลของสัญญาที่ดำเนินการไปแล้วในปัจจุบัน ควบคู่กับการดำเนินการตามสัญญาที่จะครบในปี 2580
- เปิด 3 เงื่อนไขเดิม พบ กทม.เคยเจรจาขยายสัมปทาน BTS สูงสุด 30 ปีแลกหนี้ พร้อมปรับค่าโดยสารเหลือสูงสุด 65 บาท
"ข้อพิพาทค่าจ้างงานเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง (O&M)" โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน – วงเวียนใหญ่ - บางหว้า และช่วงอ่อนนุช - แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ ขณะนี้ถือเป็นที่สิ้นสุด หลังเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2567 ศาลปกครองสูงสุด นัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.2226/2565 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ผู้ฟ้องคดี) กับ กรุงเทพมหานคร กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น
ส่งผลให้กรุงเทพมหานคร และกรุงเทพธนาคม ต้องร่วมกันชำระเงิน สำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 โดยตามอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ซึ่งประกาศ โดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับเงินกู้สกุลเงินบาท บวกร้อยละ 1 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ทั้งนี้ จากคำพิพากษาดังกล่าว กรุงเทพมหานครและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ต้องร่วมชำระเงินสำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว แบ่งเป็น
- ส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,348,659,232.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 2,199,091,830.27 บาท
- ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 9,406,418,719.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 8,786,765,195.47 บาท
ด้านแหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร ระบุว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีแนวคิดดูผลของสัญญาที่ดำเนินการไปแล้วในปัจจุบัน ควบคู่กับการดำเนินการตามสัญญาที่จะครบในปี 2580 ว่าจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากรูปแบบของทั้งสองสัญญานั้นแตกต่างกัน จึงต้องดูผู้ที่ต้องชำระหนี้ เนื่องจากปัจจุบันรูปแบบสัญญา แบ่งเป็น
- งานสัญญาจ้าง O&M ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง กรุงเทพมหานครจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินการเดินรถไฟฟ้า หลังจากนั้น บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จ้าง BTSC เป็นผู้เดินรถไฟฟ้า
- งานสัญญาจ้าง O&M ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ต่างจากส่วนต่อขยายที่ 1 เพราะกรุงเทพมหานคร เป็นผู้มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินการ หลังจากนั้นบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จ้าง BTSC เป็นผู้เดินรถไฟฟ้า
อย่างไรก็ดี กรุงเทพมหานครยังอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการชำระหนี้ O&M ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับการชำระหนี้ค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้า (E&M) ส่วนต่อขยาย ซึ่งได้ชำระไปแล้วในจำนวน 23,000 ล้านบาท เมื่อเดือน เม.ย.2567 ซึ่งขออนุมัติใช้เงินสะสมปลอดภาระจากสภากรุงเทพมหานคร โดยสิ้นงบปีงบประมาณ 2566 (30 ก.ย.2566) กรุงเทพมหานครมีวงเงินส่วนนี้รวม 63,000 ล้านบาท
ทั้งนี้หากพิจารณาจากแนวทางชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ที่มีความเป็นไปได้ จะแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ
แนวทางที่ 1 กรุงเทพมหานคร เงินสะสมปลอดภาระจากสภากรุงเทพมหานครมาดำเนินการชำระ เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับการขออนุมัติใช้งบเพื่อจ่ายหนี้ค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้า (E&M)
แนวทางที่ 2 เจรจากับ BTS เพื่อพิจารณาขยายอายุสัมปทานชดเชยกับจำนวนหนี้
โดยในช่วงปี 2564 กรุงเทพมหานคร และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยังเคยมีการหารือเพื่อพิจารณาทางเลือกในการแก้ปัญหาการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมีการพิจารณา 3 แนวทาง คือ
1.กรุงเทพมหานคร ประมูลหาผู้รับสัมปทานใหม่ เพื่อบริหารสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ในส่วนของสายหลัก ช่วงหมอชิต -อ่อนนุช และช่วงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ - สะพานตากสิน ซึ่งเริ่มต้นเดินรถตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค. 2542 สัญญากำลังจะสิ้นสุดระยะเวลา 30 ปี ในวันที่ 4 ธ.ค. 2572 ซึ่งมีข้อดีที่กรุงเทพมหานครสามารถกำหนดค่าโดยสารถูกลงได้
แต่แนวทางนี้กรุงเทพมหานครจะต้องมีกระแสเงินสดเพียงพอเพื่อดำเนินการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ปีละ 1,300 ล้านบาท รวมถึงค่าชดเชยขาดทุนในการให้บริการส่วนต่อขยายปีละ 1,500 ล้านบาท และค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 20,000 ล้านบาท และค่าชดเชยกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF) 20,000 ล้านบาท
2.กรุงเทพมหานครจ้าง BTS เดินรถทั้งเส้นทางถึงปี 2585 ซึ่งมีข้อดีที่ค่าโดยสารเป็นของกรุงเทพมหานครและทำให้ตั้งค่าโดยสารถูกลงได้ และไม่มีข้อพิพาทกับ BTS แต่กรุงเทพมหานครจะต้องมีกระแสเงินสดเพียงพอสำหรับค่าดอกเบี้ยเงินกู้ปีละ 1,300 ล้านบาท และค่าชดเชยการขาดทุนปีละ 1,500 ล้านบาท
3.กรุงเทพมหานคร ขยายสัมปทานให้ BTS ไปอีก 30 ปี (2572-2602) ซึ่งการพิจารณาประเด็นมาจากการที่กรุงเทพมหานครมีข้อจำกัดกระแสเงินสด และไม่ได้การช่วยเหลือจากรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถเลือกทางออกที่ 1-2 ได้ จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
โดยมีเงื่อนไขในการขยายสัมปทานที่เจรจาต่อรองกับ BTS ต้องแบ่งค่าโดยสารให้กรุงเทพมหานครตลอดสัญญาสัมปทานที่ต่ออายุรวม 200,000 ล้านบาท และแบ่งรายได้เพิ่มให้กรุงเทพมหานคร หาก BTS ได้ผลตอบแทนเกิน 9.6%
นอกจากนี้ BTS ต้องรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้แทนกรุงเทพมหานครในปี 2562-2572 รวม 1,300 ล้านบาท และรับภาระชดเชยการขาดทุนปีละ 1,500 ล้านบาท และมีเงื่อนไขด้านค่าโดยสาร 15-65 บาท ลดลงจากเดิมที่มีค่าโดยสารเดิมสูงสุด 158 บาท