เข้าใจเศรษฐกิจไทยในภาวะเงินฝืด | บัณฑิต นิจถาวร

เข้าใจเศรษฐกิจไทยในภาวะเงินฝืด | บัณฑิต นิจถาวร

สองสัปดาห์ก่อน ผมให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด มีคำถามจากแฟนคอลัมน์เข้ามาว่า “ภาวะเงินฝืด” คืออะไร อยากให้ช่วยอธิบายและถามต่อว่าเศรษฐกิจในภาวะเงินฝืดต่างอย่างไรกับเศรษฐกิจที่อัตราเงินเฟ้อต่ำมาก

ซึ่งเป็นคําถามที่ดีมาก วันนี้จึงอยากขยายความในประเด็นเหล่านี้ ให้ผู้อ่านและแฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ได้ทราบทั่วกัน

ภาวะเงินฝืดคืออีกด้านของเหรียญที่ตรงข้ามกับภาวะเงินเฟ้อ เงินเฟ้อคือภาวะที่ระดับราคาสินค้าทั่วไปในระบบเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น คือสินค้ามีราคาแพงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อหรืออัตราการเพิ่มของราคาสินค้าในภาวะที่ราคาสินค้าทั่วไปเพิ่มขึ้นจะเป็นบวก

ตรงกันข้าม เงินฝืดคือภาวะที่ระดับราคาสินค้าทั่วไปในระบบเศรษฐกิจลดลง สินค้ามีราคาถูกลง และอัตราการเพิ่มของราคาในภาวะที่ราคาสินค้าทั่วไปลดลงจะเป็นลบ คือ อัตราเงินเฟ้อติดลบ นี่คือความแตกต่าง

สาเหตุของเงินฝืดมาจาก

1.ด้านอุปสงค์ คือ การใช้จ่ายรวมในระบบเศรษฐกิจลดลง ประชาชนลดการบริโภค ภาคธุรกิจลดการลงทุนและสะสมสต๊อก ภาครัฐคือรัฐบาลลดการใช้จ่าย และการส่งออกลดลง ทําให้ความต้องการใช้จ่ายรวมเพื่อซื้อสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจลดลง กดดันให้ราคาสินค้าลดลง 

2.ด้านอุปทาน คือ การผลิตในระบบเศรษฐกิจมีมากเกินความต้องการใช้จ่าย ซึ่งอาจเป็นผลจากการใช้เทคโนโลยีใหม่หรือผลิตภาพการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้การผลิตทําได้มากขึ้นขณะที่ต้นทุนอยู่เท่าเดิม หรือเป็นผลจากการนําเข้าสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ ทําให้อุปทานสินค้าในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเกินความต้องการ ราคาสินค้าจึงลดลง 

3.นโยบายการเงินการคลังของประเทศตึงตัวเกินไป จากภาครัฐที่ลดการใช้จ่าย หรือ ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจลดลง มีเงินหมุนเวียนน้อยลงเพราะนโยบายการเงินตึงตัวมากเกิน กดดันให้ราคาสินค้าในประเทศลดลง 

นี่คือ สามสาเหตุที่นําไปสู่การเกิดขึ้นของเงินฝืด ภาวะเงินฝืดเมื่อเกิดขึ้นจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง นําไปสู่ภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ตํ่ามาก หรือไม่ขยายตัว หรือขยายตัวติดลบ

และถ้าเกิดขึ้นก็จะเป็นเรื่องต่อเนื่องและใช้เวลานาน เช่น กรณีญี่ปุ่นช่วงปี 1990 ที่นําไปสู่ทศวรรษแห่งการสูญเสียทางเศรษฐกิจ หรือ The lost decade 

ภาวะเงินฝืดจึงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะแก้ไขยาก และเศรษฐกิจในภาวะเงินฝืดหรือใกล้ที่จะเกิดเงินฝืดจะมีลักษณะและพลวัตดังนี้

1.ราคาสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจลดลง คือสินค้าราคาถูกลง เพราะประชาชนไม่ใช้จ่าย ลดการบริโภค การลดการบริโภคอาจเป็นผลจากรายได้ที่ลดลงหรือประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีรายได้ ไม่มีอํานาจซื้อ

หรือประชาชนเลือกที่จะประหยัด ไม่กล้าใช้จ่ายเพราะไม่มั่นใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น คือ ไม่มั่นใจว่าในอนาคตจะมีรายได้หรือไม่ จึงระมัดระวังที่จะใช้จ่าย 

ถ้าต้องใช้จ่ายก็เลือกซื้อสินค้าราคาถูกและซื้อเฉพาะสินค้าที่จําเป็น การลดการใช้จ่ายจะกดดันให้ราคาสินค้าในระบบเศรษฐกิจลดลง เริ่มที่กลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็นหรือที่ประชาชนเห็นว่าสามารถเลื่อนการใช้จ่ายออกไปก่อนได้ เช่น ราคารถใหม่ รถมือสอง ราคาบ้าน และราคาสินค้าคงทน นี่คือสิ่งแรกที่จะเห็น

2.การลดการใช้จ่ายทําให้สินค้าที่บริษัทธุรกิจผลิตหรือนําเข้ามาจากต่างประเทศขายไม่ออก ยอดขายลดและรายได้บริษัทลดลง

ถ้ารายได้ลดลงมากกว่ารายจ่ายหรือต้นทุน บริษัทก็จะขาดทุน ต้องปรับตัวเพื่อรักษามาร์จิ้นเพื่อทํากําไรโดยลดต้นทุน ลดการใช้จ่าย ลดค่าจ้าง รวมถึงลดการจ้างงาน หรือกระทั่งหยุดกิจการหรือปิดบริษัท ซึ่งทั้งหมดนี้จะทําให้อัตราการว่างงานในระบบเศรษฐกิจสูงขึ้นและรายได้ของประชาชนจะยิ่งลดลง

3.เมื่อรายได้ลดลงและราคาสินค้าลดลง ประชาชนหรือบริษัทที่มีหนี้ก็จะลําบาก ไม่มีรายได้พอที่จะชําระหนี้ ขณะที่มูลค่าแท้จริงของหนี้เพิ่มขึ้นเพราะราคาลดลง คือต้องใช้อํานาจซื้อของเงินจำนวนมากขึ้นในการชําระหนี้

ผลคือ การผิดนัดชําระหนี้หรือจำนวนหนี้เสียมีมากขึ้น กระทบบริษัทที่ปล่อยกู้และสถาบันการเงิน เมื่อบริษัทเก็บเงินไม่ได้ ก็จะระมัดระวังในการให้เครดิตใหม่หรือรีบเก็บหนี้ ทำให้ธุรกิจขาดสภาพคล่อง กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นๆ

นี่คือลักษณะหรืออาการของเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด ซึ่งเศรษฐกิจไทยขณะนี้ก็แสดงอาการหลายอย่างในลักษณะนี้ คือ คนไม่ใช้จ่าย ประหยัดและระมัดระวังขึ้น ภาวะการซื้อขายและทําธุรกิจซบเซา ต้องลดราคาและทําโปรโมชั่นมากเพื่อขายสินค้า

ขณะที่สินค้านําเข้าราคาถูกจากจีนก็มีมาก ผู้ประกอบการสู้ราคาไม่ได้ ต้องเลิกค้าขาย ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็นิ่ง ไม่โต เพราะผู้ซื้อเลือกที่จะชะลอการซื้อ 

ส่วนข้อมูลบริษัทขายรถยนต์ก็ชี้ว่ายอดขายลด ต้องลดราคาเพื่อดึงลูกค้า ลามไปถึงตลาดรถมือสองที่ต้องลดราคาเช่นกัน ส่วนสินเชื่อที่บริษัทการค้าปล่อยเพื่อขายรถ ขายมอเตอร์ไซค์ ขายสินค้าคงทน การขาดส่งมีมากขึ้น เก็บเงินไม่ได้ สถาบันการเงินเองก็เจอการผิดนัดชําระหนี้มากขึ้นและปัญหาหนี้เสียที่อาจรุนแรง 

ทั้งหมดคืออาการของเศรษฐกิจที่การใช้จ่ายชะลอ ราคาสินค้าลดลง และมีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

จากความอ่อนแอดังกล่าว ปัจจัยหรือเงื่อนไขที่จะเร่งให้ภาวะเงินฝืดเกิดขึ้น หมายถึง เศรษฐกิจเปลี่ยนจากภาวะการขยายตัวตํ่าและเงินเฟ้อตํ่า ไปสู่ภาวะเงินฝืด คือ ราคาสินค้าลดลงต่อเนื่อง คนไม่ใช้จ่าย และเศรษฐกิจขยายตัวต่ำมากหรือไม่ขยายตัว

จะมาจากสามพฤติกรรมในระบบเศรษฐกิจ เป็นพฤติกรรมที่ต้องจับตาใกล้ชิด เพราะจะทําให้ภาวะเงินฝืดเกิดขึ้นในที่สุด

1.เมื่อผู้บริโภคและภาคธุรกิจเห็นว่าราคาสินค้าในประเทศลดลง และเชื่อว่าราคาสินค้าจะลดลงต่อ ก็จะชะลอการใช้จ่าย ไม่บริโภคไม่ลงทุนเพื่อหวังที่จะซื้อของได้ในราคาที่ถูกลงในอนาคต

พฤติกรรมลักษณะนี้เมื่อเกิดขึ้นจะยิ่งทําให้การใช้จ่ายในประเทศลดลงมากขึ้น กดดันให้ราคาสินค้ายิ่งลดลง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจยิ่งหดตัว นั้นคือภาวะเงินฝืด ที่จะนําไปสู่การไหลลงต่อเนื่องของเศรษฐกิจ

2.ภาระหนี้แท้จริงของครัวเรือนและภาคธุรกิจที่สูงขึ้นเพราะราคาในประเทศลดลง จะสร้างแรงกดดันต่อการชําระหนี้ ทําให้การผิดนัดชําระหนี้และหนี้เสียจะมีมาก กดดันฐานะของสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้

ถ้าสถาบันการเงินเลือกที่จะแก้ปัญหาหรือลดความเสี่ยงโดยการไม่ปล่อยกู้หรือไม่ต่ออายุหนี้เดิมที่ยังดีอยู่ สภาพคล่องในการทําธุรกิจก็จะหดหาย เร่งให้เศรษฐกิจยิ่งชะลอตัวมากขึ้น ราคาสินค้ายิ่งลดลง ซึ่งก็คือภาวะเงินฝืด ที่จะเป็นความเสี่ยงอย่างมากต่อเสถียรภาพของสถาบันการเงินทั้งระบบ

3.ความล่าช้าในการทํานโยบายที่จะป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจชะลอและถลำเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เป็นเพราะผู้ทํานโยบายขาดประสบการณ์ ประมาท หรือมองไม่ออก ไม่เข้าใจว่าอะไรกําลังเกิดขึ้น

ทําให้นโยบายการเงินและการคลังของประเทศตึงตัวเกินไป ไม่มีการเร่งรีบแก้ปัญหา ความล่าช้าจึงเหมือนซ้ำเติมเร่งให้ภาวะเงินฝืดเกิดขึ้นหรือรุนแรงขึ้น

นี่คือภาวะเงินฝืด สาเหตุและจุดเสี่ยงที่จะทำให้ภาวะเงินฝืดเกิดขึ้น ก็หวังว่าจะชัดเจนและเป็นประโยชน์ และต้องหวังต่อว่าสถานการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นในประเทศเรา.

เข้าใจเศรษฐกิจไทยในภาวะเงินฝืด | บัณฑิต นิจถาวร