ไทยอัดสิทธิประโยชน์สูงสุด ดึงเอกชนลงทุน 'แลนด์บริดจ์'

ไทยอัดสิทธิประโยชน์สูงสุด ดึงเอกชนลงทุน 'แลนด์บริดจ์'

“คมนาคม” ตั้งเป้าดันร่าง พ.ร.บ.SEC เข้า ครม.ภายในเดือน ก.ย.นี้ หวังเคลื่อน “แลนด์บริดจ์” ออกประกาศเชิญชวนลงทุนตามเป้าหมายปลายปี 2568 ยึดแนวทาง EEC ให้สิทธิประโยชน์เต็มที่ในรูปแบบ Single Package รวม 50 ปี ต่างชาติถือหุ้นได้เกิน 50%

KEY

POINTS

  • “คมนาคม” ตั้งเป้าดันร่าง พ.ร.บ.SEC เข้า ครม.ภายในเดือน ก.ย.นี้ หวังเคลื่อน “แลนด์บริดจ์” ออกประกาศเชิญชวนลงทุนตามเป้าหมายปลายปี 2568
  • สนข.เปิดโมเดลการลงทุน ยึดแนวทาง EEC ให้สิทธิประโยชน์เต็มที่ในรูปแบบ Single Package รวม 50 ปี ต่างชาติถือหุ้นได้เกิน 50%

รัฐบาลเดินหน้าผลักดันโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งจะเชื่อมท่าเรือน้ำลึก 2 จุด คือ 1.ท่าเรือน้ำลึกแหลมอ่าวอ่าง อ.ราชกรูด จ.ระนอง 2.ท่าเรือน้ำลึก แหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร

ที่ผ่านมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไปโรดโชว์แลนด์บริดจ์หลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น , จีน , ซาอุดิอาระเบีย รวมทั้งล่าสุดหารือผู้บริหารบริษัท Dubai Port World (DP World) เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2567 ซึ่งสนใจลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในไทย

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมเปิดเวทีรับฟังความเห็นภาคเอกชนเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวมีผู้เข้าร่วม 100 ราย อาทิ

กลุ่มผู้ประกอบการสายการเดินเรือ เช่น บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด , บริษัท เอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอมินัล (ประเทศไทย) จำกัด , K Line Thailand , Hebei Port Group Co.,LTD (China)

กลุ่มผู้ประกอบการนิคมอุสาหกรรม เช่น บริษัท ดับบลิวเอเชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) , บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน)

กลุ่มผู้ประกอบการด้านการขนส่งสินค้าและผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ เช่น บริษัท ซีพีเอส ชิปปิ้ง แอนด์ โลจิสติกส์ จำกัด (CPS) , HMM (Thailand) CO.,LTD , SINOTRANS Thai Logistics Co.,

กลุ่มผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด , KWI Public Company Limited , TWLS Company Limited , Pacific Construction in Thailand , Tokyu Corporation , Sumitomo Mitsui Construction Co., Ltd.

“คมนาคม” เร่งดันร่างกฎหมาย SEC

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงการแลนด์บริดจ์ผ่านการศึกษาและรับฟังความเห็นภาคเอกชน รวมทั้งกระทรวงคมนาคมได้โรดโชว์นักลงทุนไทยและต่างประเทศแล้ว ขณะนี้กำลังเร่งผลักดัน พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) เพื่อสร้างความมั่นให้นักลงทุนทั้งด้านกฎหมาย สิทธิประโยชน์และอัตราภาษีเงินได้

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มาที่กระทรวงคมนาคมแล้ว และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือน ก.ย.นี้ ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมั่นใจว่าจะเสร็จภายในปี 2568 

หลังจากนั้นมีเป้าหมายออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนภายในไตรมาส 4 ปี 2568 พร้อมเปิดประมูลภายในไตรมาส 2 ปี 2569 ก่อนเริ่มเวนคืนที่ดินไตรมาส 4 ปี 2569 และคาดว่าเริ่มก่อสร้างปี 2569 เพื่อเปิดให้บริการปี 2573

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า แลนด์บริดจ์ไม่ใช่โครงการขายฝันแต่เป็นโครงการที่จะเกิดการลงทุนจริง และมีการลงทุนสูงระดับ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจากโรดโชว์ต่างประเทศเห็นสัญญาณตอบรับการลงทุนจากนักลงทุนมาก อาทิ สหรัฐ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง รวมทั้งมีนักลงทุนจากจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดินทางมาสำรวจพื้นที่จริงเพื่อประเมินศักยภาพทางการลงทุนแล้ว

นอกจากนี้การรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนตอบรับเข้าร่วมมากกว่า 100 ราย เป็นอีกหนึ่งการการันตีว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นภายในรัฐบาลนี้แน่นอน โดยมีเป้าหมายผลักดัน พ.ร.บ. SEC เป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะเป็นโครงการที่มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้นเชื่อว่าจะเร่งพิจารณาเรื่องนี้โดยเร็ว และสอดคล้องการจัดทำเอกสาร RFP เพื่อเริ่มประกวดราคาควบคู่ขั้นตอนออก พ.ร.บ. SEC

ให้สิทธิประโยชน์ลงทุนเต็มที่

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายเพื่อการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.SEC จะมีสิทธิประโยชน์คล้าย พ.ร.บ.EEC อาทิ สิทธิประโยชน์ทางภาษี สัดส่วนการร่วมลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่เปิดให้ถือครองสัดส่วนการลงทุนได้เกิน 50% ขณะที่รายละเอียดรูปแบบการลงทุนจะให้สิทธิผู้สนใจลงทุนมีสิทธิประมูลโครงการเป็น Single Package ระยะเวลา 50 ปี

ทั้งนี้เอกชนผู้ร่วมทุนจะได้สิทธิบริหารประกอบด้วย ท่าเรือ 2 แห่ง (ท่าเรือชุมพรและท่าเรือระนอง) โครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ รวมทั้งพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม โดยการลงทุนมีมูลค่าสูงถึง 1.001 ล้านล้านบาท ดังนั้นจะกำหนดให้เอกชนร่วมกันลงทุนในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือกลุ่มบริษัท (Consortium)

ขณะที่รูปแบบการลงทุนเป็นรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐผู้รับผิดชอบการให้สิทธิประโยชน์ภาคเอกชน พร้อมทั้งจัดหาพื้นที่และการเวนคืนสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือ เส้นทางเชื่อมโยงต่างๆ โดยภาคเอกชนเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด และดำเนินการบริหารจัดการ

แลนด์บริดจ์ลงทุน 1 ล้านล้านบาท

ส่วนการประเมินมูลค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของผู้ลงทุนเบื้องต้นอยู่ที่ 1.001 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งระนอง 330,810 ล้านบาท ท่าเรือฝั่งชุมพร 305,666 ล้านบาท 

นอกจากนี้โครงการแลนด์บริดจ์มีโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟรวม 358,517 ล้านบาท ส่วนอัตราผลตอบแทนภายในทางการเงิน (FIRR) ที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากโครงการเบื้องต้น เท่ากับ 8.62% มีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24

สำหรับการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ จากการศึกษาความเหมาะสมแบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 รองรับปริมาณตู้สินค้า 6 ล้าน ที.อี.ยู เปิดให้บริการภายในปี 2573 , ระยะที่ 2 รองรับปริมาณตู้สินค้า 6 ล้าน ที.อี.ยู เปิดให้บริการปี 2582 และระยะที่ 3 รองรับปริมาณตู้สินค้า 8 ล้าน ที.อี.ยู ส่งผลให้ทั้งโครงการรองรับปริมาณได้ทั้งหมดฝั่งละ 20 ล้าน ที.อี.ยู