เกษตรฯ คิกออฟ เปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ 75 แห่งพร้อมกัน 17 จังหวัด
‘อรรถกร’ ดีเดย์ปฏิบัติการ “กำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่ กทม.” พร้อมเปิดจุดรับซื้อ 75 แห่ง ใน 17 จังหวัด เดินหน้า7 มาตรการ แก้ปัญหาปลาหมอคางดำเร่งด่วน
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดปฏิบัติการ การกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร“ ณ บริเวณคลองเกาะโพธิ์ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วลงสู่แหล่งน้ำเป็นวงกว้าง ในพื้นที่ภาคกลาง 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี
กระทรวงเกษตรฯได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 30 ก.ค.67 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ 2567-2570 ประกอบด้วย 7 มาตรการ ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอเพื่อแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ โดยใช้กรอบงบประมาณ 450 ล้านบาท ประกอบด้วย
1. ควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด โดยการจับออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติด้วยเครื่องมือประมงที่ทีประสิทธิภาพ และกำจัดจากบ่อเพาะเลี้ยงด้วนกากชา
2. กำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง และปล่อยปลาผู้ล่าตามความเหมาะสมของแหล่งน้ำ ไม่น้อยกว่า 5 ล้านตัว ในพื้นที่เป้าหมาย 16 จังหวัด มุ่งเน้นการจัดหาพันธ์ปลาผู้ล่าที่มีความเหมาะสมกับบริบทพื้นที่
3. การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ เช่น การแปรรูป (น้ำหมัก)
4. สำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน
5. สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัด จัดทำคู่มือประชาชนและเจ้าหน้าที่เพื่อรับมือการแพร่ระบาด
6. พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านประมง ด้วยการเหนี่ยวนำโครโมโซม / ใช้ฟีโรโมน แสงสี ให้ปลาหมอคางดำรวมตัวกัน เพื่อการจับที่ง่ายขึ้น
และ 7. ฟื้นฟูระบบนิเวศ ทำการสำรวจแหล่งน้ำต่างๆ ว่าเคยมีสัตว์น้ำประจำถิ่นอะไรบ้าง จากนั้นเพาะพันธุ์เพื่อนำไปปล่อยคืนฟื้นฟูระบบนิเวศ
“ กิจกรรมในวันนี้ ถือเป็น 1 ในมาตรการเร่งด่วน คือ การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชาวประมงในพื้นที่เร่งกำจัดออก โดยเฉพาะในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อลดปริมาณของปลาหมอคางดำที่ระบาดให้ได้มากที่สุด คาดว่าใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการกำจัด และจะดำเนินมาตรการอื่นๆ ตามลำดับ”
นอกจากนี้กรมประมงยังได้บูรณาการทำงานร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินในการนำปลาหมอคางดำที่จับขึ้นมาได้ไปผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ และการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) สนับสนุนงบประมาณ 50 ล้านบาท ในการรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ที่พบการระบาดทุกแห่ง 17 จังหวัด รวม 75 จุด พร้อมยืนยันว่างบดังกล่าวของ กยท. นั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเงินกองทุนในการช่วยเหลือสมาชิกชาวสวนยางจึงไม่ส่งผลกระทบอย่างแน่นอน และงบ 450 ล้านบาทที่ ครม. อนุมัติ จะดำเนินการใน 7 มาตรการกำจัดปลาหมอคางดำต่อไป
“วันนี้เป็นวันแรกที่เริ่มเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำทั้งหมด ระยะเวลาการรับซื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 - 30 ส.ค. 67 จากนั้น กยท. จะประเมินโครงการ หากพบว่ายังมีการแพร่ระบาดหนักก็จะขยายระยะเวลาเพิ่มเติม ในส่วนของการเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ ได้มอบหมายให้กรมประมงเร่งสำรวจเกษตรกรที่ขึ้นทะเทียน”
สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ 3 เขต ได้แก่ เขตบางขุนเทียน เขตทุ่งครุ และเขตบางบอน มีจุดรับซื้อปลาหมอคางดำทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่ 1. บริษัท วรนิชนันท์ จำกัด แขวงบางบอนเหนือ เขตบางบอน 2. นายสุวัฒน์ ไชยยันต์บูรณ์ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน และ 3. นายอภิสิทธิ์ ช้างเจริญ ถนนเลียบคลองพิทยาลงกรณ์ แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน
ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดในกรุงเทพมหานคร เขตพื้นที่บางขุนเทียน มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทบ.1) จำนวนทั้งสิ้น 859 ราย พื้นที่เลี้ยง 16,957 ไร่ แบ่งตามชนิดสัตว์น้ำ ดังนี้ กุ้งทะเล จำนวน 614 ราย หอยแครง 165 ราย หอยแมลงภู่ 36 ราย ปูทะเล 4 ราย ปลาทะเล 10 ราย ปลาน้ำจืด 30 ราย มีคลองสาธารณะทั้งสิ้น จำนวน 39 คลอง