9 ปี 'รถไฟฟ้าเชียงใหม่' ยังไม่คืบ รฟม.ลุยต่อ ปักหมุดสร้างปี 71

9 ปี 'รถไฟฟ้าเชียงใหม่' ยังไม่คืบ รฟม.ลุยต่อ ปักหมุดสร้างปี 71

เช็คสถานี "รถไฟฟ้าเชียงใหม่" โครงการศึกษา 9 ปียังไม่คืบ รฟม.ยันเดินหน้าต่อ ปักหมุดก่อสร้างในปี 2571 เปิดให้บริการปี 2574 ชี้สถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างยื่นขอ EIA

คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2561 ได้มีมติรับทราบผลการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP)

นับเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อน “รถไฟฟ้าเชียงใหม่” โดย คจร.ยังมีความเห็นให้ดำเนินการก่อสร้างครั้งละ 1 เส้นทางตามลำดับความสำคัญ และผลปรากฏว่า “สายสีแดง” มีความสำคัญลำดับที่ 1 เป็นแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมและคุ้มค่าทางการลงทุน

โดยรถไฟฟ้าเชียงใหม่ สายสีแดง มีแนวเส้นทางช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี เป็นระบบรถรางไฟฟ้า (LRT/Tram) วิ่งผสมระดับดินและใต้ดินแนวเส้นทางตามแนวเหนือใต้ ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร 16 สถานี แบ่งเป็น สถานีระดับพื้นดิน 9 สถานี สถานีใต้ดิน 7 สถานี วงเงินลงทุนประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี หากนับจากมติที่ประชุม คจร. จนถึงปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าเชียงใหม่ ดำเนินการมานาวถึง 9 ปี โดยสถานะปัจจุบัน รฟม.ยืนยันเดินหน้าพัฒนาโครงการ อยู่ในขั้นตอนยื่นรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ (EIA) ให้คณะผู้ชำนาญการฯ พิจารณา นอกจากนี้ รฟม.ยังกำหนดแผนดำเนินโครงการเบื้องต้น แบ่งเป็น

ปี 2568 – 2569 พิจารณารูปแบบการลงทุนโครงการที่เหมาะสม  

ปี 2569 เสนอ ครม.เห็นชอบรูปแบบการลงทุน

ปี 2570 – 2571 เข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชนลงทุนโครงการ (PPP)

ปี 2571 เริ่มงานก่อสร้าง

ปี 2574 เปิดให้บริการ

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี จะมีสถานีให้บริการรวม 16 สถานี ประกอบด้วย

  • สถานีโรงพยาบาลนครพิงค์
  • สถานีศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่
  • สถานีสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่  700 ปี
  • สถานีศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ
  • สถานีแยกหนองฮ่อ
  • สถานีโพธาราม
  • สถานีข่วงสิงห์
  • สถานีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
  • สถานีขนส่งช้างเผือก
  • สถานีมณีนพรัตน์
  • สถานีประตูสวนดอก
  • สถานีแยกหายยา
  • สถานีแยกท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่
  • สถานีท่าอากาศยานเชียงใหม่
  • สถานีบ้านใหม่สามัคคี
  • สถานีแม่เหียะสมานสามัคคี

นอกจากนี้ ยังมีอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride)  2 แห่ง บริเวณจุดเริ่มต้นโรงพยาบาลนครพิงค์ รองรับรถยนต์ได้ 1,600 คัน และรถจักรยานยนต์ 800 คัน และบริเวณสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ รองรับรถยนต์ส่วนบุคคลประมาณ 1,200 คัน และรถจักรยานยนต์ 2,800 คัน อีกทั้งยังมีศูนย์ซ่อมบำรุงบริเวณแยกหนองฮ่อ พัฒนาบนพื้นที่ 25 ไร่