เร่งสกัด‘สินค้าจีน’ บทพิสูจน์ฝีมือรัฐบาล

เร่งสกัด‘สินค้าจีน’ บทพิสูจน์ฝีมือรัฐบาล

อาเซียนเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญของประเทศจีนนับตั้งแต่ประเทศจีนเริ่มเปิดตัวเข้าสู่การค้าโลกเมื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เมื่อปี 2544 และประเทศไทยขาดดุลการค้ากับจีนมาอย่างต่อเนื่องและมูลค่าขาดดุลการค้าสูงขึ้นต่อเนื่อง

โดยในปี 2546 ไทยขาดดุลการค้าจีน 313 ล้านดอลลาร์ ถัดมาอีก 10 ปี ในปี 2556 ไทยขาดดุลการค้าเพิ่มเป็น 10,494 ล้านดอลลาร์ และล่าสุดในปี 2566 ไทยขาดดุลการค้า 36,635 ล้านดอลลาร์

นอกจากการนำเข้าและส่งออกที่ผ่านมาพิธีการศุลกากรแล้วในปัจจุบันมีการค้าการค้าออนไลน์เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น โดยแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ของจีนได้เข้ามาทำการตลาดหลายประเทศในอาเซียน รวมทั้งได้เข้ามาตั้งคลังสินค้าในหลายประเทศ เพื่อนำเข้าสินค้ามาพักไว้ในประเทศปลายทาง ซึ่งทำให้การส่งสินค้ามีความรวดเร็วเพิ่มมากขึ้น และเป็นอีกช่องทางที่จีนจะระบายสินค้าออกไปต่างประเทศในภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศจีนยังไม่ฟื้นตัว

อินโดนีเซียได้ประกาศได้ประกาศขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 100-200% ครอบคลุมสินค้านำเข้ากลุ่มสิ่งทอ รวมทั้งมีแผนที่จะพิจารณาขยายการขึ้นอัตราภาษีให้ครอบคลุมสินค้ากลุ่มอื่น เช่น เซรามิก เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอางและเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ หลังจากที่สินค้านำเข้าจากประเทศจีนเข้ามาตีตลาดประเทศอินโดนีเซียมาก และส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าในประเทศอินโดนีเซียหลายรายต้องปิดโรงงาน
   

ขณะที่มาเลเซียได้ขึ้นภาษีสำหรับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีราคาไม่ถึง 500 ริงกิต หรือ 3,900 บาท ในอัตรา 10% ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับประเทศไทยที่กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่ปัจจุบันอยู่ที่อัตรา 7% สำหรับสินค้านำเข้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีราคาไม่ถึง 1,500 บาท จากเดิมประเทศไทยให้การยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

แนวทางที่รัฐบาลไทยดำเนินการอาจจะยังไม่เพียงพอที่จะรับมือกับคลื่นสินค้าจำนวนมากจากประเทศจีนที่เข้ามากระทบภาคการผลิตของประเทศไทย ดังนั้นเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลต้องมีแผนรองรับเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างภาคการผลิต การเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเอสเอ็มอี การกำหนดแผนเพื่อลดการขาดดุลการค้ากับประเทศจีน การเข้มงวดการตรวจสอบมาตรฐานสินค้า ซึ่งเอสเอ็มอีต่างรอดูว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข จะแก้ปัญหาอย่างไร