‘สภาพัฒน์‘ จับสัญญาณ ’เศรษฐกิจสหรัฐ’ รับมีความเสี่ยงเพิ่มแนะไทยรับมือ

‘สภาพัฒน์‘ จับสัญญาณ ’เศรษฐกิจสหรัฐ’  รับมีความเสี่ยงเพิ่มแนะไทยรับมือ

“สภาพัฒน์” ชี้เศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงเพิ่ม ชี้อาจถดถอยทางเทคนิคแล้วกลับมาบวกได้ ชี้ไทยต้องเตรียมรับมือความเสี่ยง

สภาพัฒน์” ชี้เศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงเพิ่ม ชี้อาจถดถอยทางเทคนิคแล้วกลับมาบวกได้ ชี้ไทยต้องเตรียมรับมือความเสี่ยง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐในขณะนี้ว่าดูแล้วความเสี่ยงของสหรัฐน่าจะเพิ่มขึ้น ส่วนของไทยเราก็ต้องเตรียมรับผลกระทบ 

อย่างไรก็ตาม มองว่าขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐคงไม่น่าจะเกิดภาวะถดถอยแบบจริงจัง แต่อาจจะมีการถดถอยเชิงเทคนิค (technical recession) แต่สุดท้ายก็บวกได้

ก่อนหน้านี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (6 ส.ค.67) ว่า ในเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีสัญญาณว่าอาจมีเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐอเมริกานั้นตนได้จับตา และติดตามสถานการณ์อยู่อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้มองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคงเกิดจากความกังวลมากกว่า และเชื่อว่าสหรัฐ เองก็มีมาตรการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่แล้ว

ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ว่ากระทรวงพาณิชย์ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะด้านการส่งออก

โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมตัวรับมือมาตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะรู้ว่าสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สงคราม และสถานการณ์การจัดระเบียบโลกใหม่ที่เกิดขึ้น เป็นต้นทาง และเป็นอุปสรรคกับการส่งออก จึงได้หาทางดูแล และวางระบบเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ต่อเนื่องแล้ว

“กระทรวงพาณิชย์ ได้ติดตามสถานการณ์ตลอดเวลาอยู่แล้ว และไม่ยอมให้ผู้ประกอบการไทย และผู้บริโภคต้องเสียประโยชน์หรือได้รับผลกระทบ โดยไม่ได้ดูแค่ผลกระทบของสหรัฐ เพียงอย่างเดียว แต่ได้ดูสถานการณ์ทั้งหมด และได้ประสานงาน พร้อมจัดประชุมกับผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยรายใหญ่ เพื่อให้รับต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ทัน ซึ่งทั้งหมดนี้กระทรวงพาณิชย์กำลังหาทางออก และถ้ามีความคืบหน้าจะแจ้งเป็นระยะ ๆ ต่อไป”

 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าใน ครม.ยังไม่ได้มีการหารือกันถึงเรื่องสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแต่เรื่องนี้เป็นไปโดยอัตโนมัติที่แต่ละกระทรวงที่เป็นกระทรวงเศรษฐกิจที่ต้องติดตามสถานการณ์ และเตรียมการรับมืออัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ต้องทำหน้าที่ในเรื่องนี้อยู่แล้ว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์