‘ภูมิธรรม’ เร่งสิทธิประโยชน์ ‘อีอีซี’ เข้า ครม. ดันการลงทุนเอกชน 2.7 แสนล้าน
“ภูมิธรรม” ลงพื้นที่ EEC ตรวจความพร้อมพื้นที่ ยันรัฐบาลดันโครงการ EEC ต่อเนื่องสร้างมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจไทย เตรียมเสนอครม. อนุมัติร่างประกาศสิทธิประโยชน์อีอีซี ดึงดูดนักลงทุน หวังดึงเงินลงทุนเข้าพื้นที่เพิ่ม มีเอกชนสนใจลงทุนหลายโครงการมูลค่ากว่า 2.67 แสนล้าน
วันนี้ (7 สิงหาคม 2567) ที่จังหวัดระยอง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในระหว่างการลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วที่สุด พิจารณาเห็นชอบ ร่างประกาศ กพอ. เรื่อง สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. .... หรือ EEC Track เพื่อดึงดูดเอกชนเข้ามาลงทุนภายใต้กฎหมายของ EEC
ในเรื่องนี้รายละเอียดต่างๆได้รับทราบรายละเอียดของสิทธิประโยชน์ของ EEC ที่จะใช้ดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศแล้ว แต่ขอดูรายละเอียดอีกหน่อย และไม่นานนี้จะเสนอเข้าไปยังครม.โดยเร็วที่สุด แต่ยังไม่ขอบอกว่าจะเข้าเร็วสุดตอนไหน เพราะต้องดูให้รอบคอบก่อน แต่ก็จะดูให้เร็วที่สุดในเรื่องนี้
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า หากครม.เห็นชอบสิทธิประโยชน์ของ EEC แล้ว เชื่อว่า 2-3 สัปดาห์จะเริ่มมีนักลงทุนเข้ามาขอใช้สิทธิประโยชน์แน่นอน ซึ่งสามารถรายงานความคืบหน้าให้ทราบได้ เพราะขณะนี้นักลงทุนหลายรายแสดงความสนใจเข้ามาแล้วหลายราย และจะเป็นส่วนหนึ่งของการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่ EEC มากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น โครงการเกี่ยวกับ BCG และเรื่องของการแพทย์ เป็นต้น
สำหรับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการชักชวนนักลงทุนใน EEC นั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 – 12 กรกฎาคม 2567 พบว่า สำนักงาน EEC ได้ชักชวนนักลงทุนภาพรวม 109 ราย เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 ประเภท คือ การแพทย์และสุขภาพ ดิจิทัล ยานยนต์สมัยใหม่ เศรษฐกิจ BCG และบริการ คิดเป็น 45 โครงการ รวมมูลค่าโครงการรวม 276,469 ล้านบาท
BCG จ่อลงทุน 1.52 แสนล้าน
ทั้งนี้หากพิจารณาในรายละเอียดของโครงการทั้งหมดนั้น พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG เป็นอุตสาหกรรมที่นักลงทุนต้องการลงทุนสูงที่สุด มีมูลค่าสูงถึง 152,300 ล้านบาท รวม 15 โครงการ แบ่งเป็น โครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 9 ราย รวม 12 โครงการ และ โครงการที่นักลงทุนยื่นข้อเสนอโครงการแล้ว 3 รายรวม 3 โครงการ
อุตสาหกรรมบริการจ่อลงทุน 5.9 หมื่นล้าน
ส่วนอุตสาหกรรมบริการ พบว่ามีโครงการที่นักลงทุนต้องการลงทุนรวมมูลค่า 59,582 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 11 ราย รวม 11 โครงการ และ โครงการที่นักลงทุนยื่นข้อเสนอโครงการแล้ว 2 ราย รวม 2 โครงการ
อุตสาหกรรมดิจิทัล พบว่ามีโครงการที่นักลงทุนต้องการลงทุนรวมมูลค่า 46,739 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 5 ราย รวม 5 โครงการ และ โครงการที่นักลงทุนยื่นข้อเสนอโครงการแล้ว 3 ราย รวม 3 โครงการ
ยานยนต์สมัยใหม่รอลงทุน 6 ราย
ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ พบว่ามีโครงการที่นักลงทุนต้องการลงทุนรวมมูลค่า 17,515 ล้านบาท โดยเป็นโครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 6 ราย รวม 6 โครงการ ส่วนอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ พบว่ามีโครงการที่นักลงทุนต้องการลงทุนรวมมูลค่า 333 ล้านบาท โดยเป็นโครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 3 ราย รวม 3 โครงการ
ลงพื้นที่เทคนิคระยองดูแผนปั้นแรงงานคุณภาพ
นอกจากนี้ เมื่อเช้าวันที่ 7 สิงหาคม 2567 รองนายกฯ และคณะยังได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาทุนมนุษย์ตามแนวคิด EEC Model ณ วิทยาลัยเทคนิคระยอง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง โดยยืนยันถึงแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาคนของรัฐบาล เพื่อรองรับการจ้างงานในพื้นที่ EEC โดยพร้อมดึงสถานศึกษาในพื้นที่ ร่วมมือกับสถานประกอบการ ช่วยพัฒนาทักษะคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่าง ๆ ในอนาคตด้วย
ความต้องการแรงงานกว่าแสนตำแหน่ง
ทั้งนี้ในอนาคตพื้นที่ EEC จะมีความต้องการแรงงานอย่างน้อยกว่าแสนตำแหน่ง ครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมายประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะบริการ และเศรษฐกิจ BCG ซึ่งการร่วมมือกับสถานศึกษาในพื้นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโอกาส และสร้างอนาคตของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ได้มากขึ้น