เปิดค่าใช้จ่าย"ครัวเรือนไทย"ครึ่งแรกปี 67   เฉลี่ย 1.8 หมื่นบาท/เดือน

เปิดค่าใช้จ่าย"ครัวเรือนไทย"ครึ่งแรกปี 67   เฉลี่ย 1.8 หมื่นบาท/เดือน

สนค.เปิดข้อมูลค่าใช้จ่ายครัวเรือนของไทย 6 เดือนแรกปี 67  ครัวเรือนไทยใช้จ่าย  18,130 บาทต่อเดือน ใกล้เคียงกับปี 66  แต่ค่าใช้จ่ายโดยรวมในหมวด การขนส่ง และการสื่อสาร เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11 บาท

KEY

POINTS

Key Point

  • เงินเฟ้อ 7 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ก.ค.) เพิ่มขึ้น 0.11%
  • 6 เดือนแรกปี 67 ครัวเรือนไทยใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ  18,130 บาท
  • สนค.คาดทั้งปีครัวเรือนไทยใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบปี 66
  • สนค. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2567 จะอยู่ระหว่าง 0.0 – 1.0 % ค่ากลาง 0.5% 

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค.สูงขึ้น 0.83 % ซึ่งเป็นบวกต่อเนื่อง  4 เดือนติด หากรวมเงินเฟ้อ 7 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ก.ค.) เพิ่มขึ้น 0.11% โดยเงินเฟ้อจะถูกผูกติดกับราคาน้ำมันและราคาอาหาร และบริการ เป็นหลักว่าจะไปในทิศทางขาขึ้นหรือลง เพราะจะมีผลต่อค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ซึ่งค่าใช้จ่ายของครัวเรือนคือ จำนวนเงินที่ครัวเรือนได้ใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ เพื่อใช้ในการดำรงชีพ

ข้อมูลจาก สนค. ที่วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ย  6  เดือนแรกปี 2567 (ม.ค. – มิ.ย 67) พบว่า  ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเท่ากับ 18,130 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ซึ่งใกล้เคียงกับครึ่งปีแรกของปี 2566 (ม.ค. – มิ.ย. 66) ซึ่งเท่ากับ 18,131 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน

เปิดค่าใช้จ่าย\"ครัวเรือนไทย\"ครึ่งแรกปี 67   เฉลี่ย 1.8 หมื่นบาท/เดือน      ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายของครัวเรือนตามหมวดสินค้าและบริการ  โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครึ่งปีแรกปี 67 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 7,536 บาท/เดือน/ครัวเรือน โดยเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2566 ค่าใช้จ่ายหมวดนี้ลดลง 9 บาท จากการลดลงของสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกร ปลาทู และกุ้งขาว เป็นสำคัญ สำหรับกลุ่มอาหารสำเร็จรูป ผักและผลไม้ ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย

หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ครึ่งปีแรกของปี 2567 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 375 บาท/เดือน/ครัวเรือน ซึ่งเท่ากับค่าใช้เฉลี่ยครึ่งปีแรกของปี 2566 ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าในหมวดนี้ค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากสินค้า ส่วนใหญ่มีความหลากหลายทั้งในเรื่องของผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และช่องทางการจัดจำหน่าย ส่งผลให้ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงของระดับราคา

หมวดเคหสถาน ครึ่งปีแรกของปี 2567 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 4,003 บาท/เดือน/ครัวเรือน โดยเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2566 ค่าใช้จ่ายหมวดนี้ลดลง 14 บาท จากการลดลงของราคาค่ากระแสไฟฟ้า จากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ

หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ครึ่งปีแรกของปี 2567 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 987 บาท/เดือน/ครัวเรือน โดยเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2566 ค่าใช้จ่ายหมวดนี้เพิ่มขึ้น 5 บาท จากการสูงขึ้นของสินค้าและบริการในกลุ่มค่าตรวจรักษาและค่ายา และค่าของใช้ส่วนบุคคล เป็นสำคัญ

หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ครึ่งปีแรกของปี 2567 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 4,220 บาท/เดือน/ครัวเรือน โดยเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2566 ค่าใช้จ่ายหมวดนี้เพิ่มขึ้น 11 บาท จากการสูงขึ้นของค่าโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะค่าโดยสารเครื่องบิน และรถจักรยานยนต์รับจ้าง ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลลดลงจากมาตรการตรึงราคาของภาครัฐ

หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ ครึ่งปีแรกของปี 2567 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 766 บาท/เดือน/ครัวเรือน โดยเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2566 ค่าใช้จ่ายหมวดนี้เพิ่มขึ้น 4 บาท จากการสูงขึ้นเล็กน้อยของค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับสินค้าและบริการอื่น ๆ ในกลุ่มนี้ราคาค่อนข้างทรงตัว

หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ครึ่งปีแรกของปี 2567 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 244 บาท/เดือน/ครัวเรือนโดยเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2566 ค่าใช้จ่ายหมวดนี้เพิ่มขึ้น 3 บาท จากการสูงขึ้นของราคาสุราและบุหรี่

จากการตรวจสอบย้อนหลังค่าใช้จ่ายต่อเดือนของคนไทย พบว่า มีการขยับขึ้นและลงตามอัตราเงินเฟ้อ แต่ส่วนใหญ่ขยับขึ้นในอัตราที่ไม่สูงมาก  เพราะมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉลี่ยปีก่อน อยู่ที่ 1.8 หมื่นบาท

“พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์” ผู้อำนวยการสนค. กล่าวว่า  ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนทั้งปี 2567 คาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2566 เล็กน้อย (ปี 2566 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยทั้งปีเท่ากับ 18,123 บาทต่อคนต่อครัวเรือน ซึ่งเป็นการแปรผันตามอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ สนค. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2567 จะอยู่ระหว่าง 0.0 – 1.0 % ค่ากลาง 0.5% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน