“ภูมิธรรม”โชว์ผลงาน ดันราคาสินค้าเกษตรขึ้นยกแผง
“ภูมิธรรม” โชว์ผลสำเร็จมาตรการบริหารจัดการสินค้าเกษตร ปี 67 ดันราคาพืชหลัก พืชรอง ปรับขึ้นยกแผง รายได้เฉียด 2 แสนล้านบาท โดยรัฐไม่ต้องใช้งบแทรกแซง ลั่น 25 ก.ย.นี้ นัดแถลงข่าวรายละเอียดร้านค้า ร่วมโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ล่าสุด สั่งพาณิชย์จังหวัดทำความเข้าใจกับร้านค้า
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินมาตรการดูแลสินค้าเกษตร ทั้งพืชหลัก พืชรองในปี 67 ที่กระทรวงพาณิชย์ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนรายใหญ่กว่า 12 กลุ่มธุรกิจ 20 เครือ 27 หน่วยงานนั้น สามารถช่วยดูแลรักษาสมดุลของผลผลิตกับการบริโภค และผลักดันให้ราคาผลผลิตเพิ่มขึ้นได้อีก 196,536 ล้านบาท มาอยู่ที่ 1.05 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 23% จากปี 66 ที่สินค้าเกษตรช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้รวม 857,300 ล้านบาท ซึ่งรัฐไม่ต้องใช้งบประมาณรัฐบาลเข้าไปอุดหนุนเลย
ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้มีมาตรการดูแลพืชเกษตร ได้วางแผนการจัดผลผลิต มีปฏิทินสินค้าเพื่อให้รู้ว่าแต่ละเดือน แต่ละช่วง สินค้าอะไรจะออกสู่ตลาดเท่าไร จะได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการไว้ล่วงหน้า ไม่รอให้เกิดปัญหา ทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นหลายตัว เช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,221 บาท สูงสุดในรอบ 5 ปี ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 12,111 บาท สูงสุดรอบ 20 ปี ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 11,964 บาท สูงสุดรอบ 4 ปี
ยางแผ่นดิบ กก. 77 บาท สูงสุดรอบ 10 ปี น้ำยาง 70 บาท สูงสุดในรอบ 10 ปี ปาล์มน้ำมัน เฉลี่ยกก.ละ 6 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กก.ละ 11.2 บาท มันสำปะหลัง กก.ละ 2.75-3.15 บาท
สำหรับแนวทางที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการคือ ได้ร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และพันธมิตร ทำแผนงานคนตัวใหญ่ ช่วยคนตัวเล็ก เข้าไปรับซื้อผลไม้ช่วงที่ผลผลิตออกมาก และร่วมกับเอกชนช่วยรับซื้อพืชรองไปจำหน่าย แปรรูป หรือเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมไปแจกลูกค้า เพื่อสร้างสมดุลผลผลิต
โดยมีเป้าหมายบริหารจัดการพืชรอง 3 กลุ่ม ได้แก่ ผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย สับปะรด ฯลฯ 6 มาตรการ 25 แผนงาน เป้าหมาย 900,000 ตัน, พืช 3 หัว คือ กระเทียม หอมหัวใหญ่ หอมแดง 5 มาตรการ เป้าหมาย 59,500 ตัน และผัก เช่น มะนาว พริกขี้หนูจินดา มะเขือเทศ ฟักทอง 5 มาตรการ เป้าหมาย 20,300 ตัน
ปัจจุบันเครือข่ายพันธมิตร คนตัวใหญ่ ช่วยคนตัวเล็ก มี 12 กลุ่มธุรกิจ 20 เครือ 27 หน่วยงาน อาทิ กลุ่มผู้ผลิตสินค้าในเครือเจริญโภคภัณฑ์, กลุ่มธุรกิจปั๊มน้ำมัน ได้แก่ ปตท. พีที บางจาก ซัสโก้, สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ,กลุ่มธุรกิจหมู่บ้าน-คอนโด ได้แก่ แสนสิริ แอสเซทไวส์ เสนา ไอริส, ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง และห้างท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐพันธมิตร ธนาคารัฐ และกรมราชทัณฑ์
นายภูมิธรรม กล่าวถึงร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการดิจิทัล วอลเล็ตว่า วันที่ 25 ก.ย.นี้ กระทรวงพาณิชย์ เตรียมแถลงข่าวรายละเอียดร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ และสินค้าที่ประชาชนสามารถซื้อได้ ก่อนที่จะเปิดให้ร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้
ขณะนี้ ได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ชี้แจงทำความเข้าใจกับร้านค้าว่า การเข้าร่วมโครงการนี้ ร้านค้าจะได้ประโยชน์ เพราะประชาชนจะมีเงินมาใช้จ่ายซื้อสินค้า ช่วยเพิ่มยอดขายของร้านค้าได้ ส่วนวันที่ 20 ส.ค.นี้ ในช่วงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ ที่พระนครศรีอยุธยา รัฐบาลจะประกาศคิกออฟโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจในงานมหกรรมลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะร่วมกันนำสินค้าอุปโภคและบริโภคมาจำหน่ายในราคาถูกกว่าท้องตลาด เพื่อลดายจ่าย เพิ่มรายได้ให้ประชาชนก่อนที่จะได้รับเงินดิจิทัลในช่วงปลายปีนี้