โอกาสในการจัดตั้งโรงงานผลิต Bio-Ethylene จากเอทานอลในพื้นที่ EEC

โอกาสในการจัดตั้งโรงงานผลิต Bio-Ethylene   จากเอทานอลในพื้นที่ EEC

ปัจจุบัน ไทยเป็นประเทศที่มีโรงงานผู้ผลิตเอทานอลมากเป็นอันดับที่ 7 ของโลก โดยส่วนใหญ่จะนำเอทานอลไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพในภาคการขนส่ง

อย่างไรก็ดี ในช่วงปี 2562-2566 ปริมาณการใช้เอทานอลของไทยลดลงเฉลี่ยปีละ -5.6%CAGR จากแรงกดดันด้านอุปสงค์ของการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้ในปี 2566 ปริมาณการผลิตเอทานอลของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ากำลังการผลิตสูงสุดอยู่ถึง 3.2 ล้านลิตรต่อวัน

กระทรวงการคลังจึงกำหนดแนวทางส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2566 โดยกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรจะดำเนินการออกมาตรการทางภาษี เช่น ยกเว้นภาษีสำหรับสินค้าเอทิลีนชีวภาพ (Bio-Ethylene) รวมถึงกำหนดอัตราอากรขาเข้าในอัตราพิเศษ สำหรับเอทานอลที่นำเข้ามาเพื่อผลิตพลาสติกชีวภาพ เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบการไทยสนใจที่จะผลิต Bio-Ethylene จากเอทานอลมากขึ้น เช่น บริษัท SCGC ร่วมกับกลุ่มบริษัท Braskem จัดตั้งโรงงานผลิต Bio-Ethylene จากเอทานอล ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยมีกำลังการผลิต 2 แสนตันต่อปี

Krungthai COMPASS มองว่า การปลดล็อกให้ผู้ประกอบการสามารถนำเอทานอลไปใช้ผลิต Bio-Ethylene สำหรับผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ นอกจากจะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการผลิตเอทานอลแล้ว ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอ้อยและมันสำปะหลังของไทยสูงถึง 4-5 เท่า ซึ่งเพิ่มมูลค่าได้มากกว่าการนำอ้อยและมันสำปะหลังไปผลิตเป็นน้ำตาลทราย แป้งมันสำปะหลัง หรือเอทานอลที่มีมูลค่าเพิ่มราว 1-2 เท่า นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ประเมินว่า หากประเทศไทยสามารถปรับกระบวนการผลิตเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพได้ทั้งหมด 5 ล้านตันต่อปี จะช่วยสนับสนุนความต้องการเอทานอลมากกว่า 10,000 ล้านลิตรต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 15 ล้านตันต่อปี หรือราว 25% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS มองว่า พื้นที่ EEC เป็นพื้นที่ศักยภาพในการจัดตั้งโรงงานผลิต Bio-Ethylene จากเอทานอล เนื่องจากมีโรงงานผลิตเอทานอลในพื้นที่ EEC และพื้นที่ใกล้เคียงในภาคตะวันออกจำนวน 7 แห่ง โดยมีกำลังการผลิตรวม 1.4 ล้านลิตร/วัน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 21% ของกำลังการผลิตเอทานอลทั้งประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถขนส่งเอทานอลเพื่อนำมาผลิต Bio-Ethylene ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ประกอบกับทำเลของ EEC มีความได้เปรียบในการส่งออกเม็ดพลาสติกชีวภาพจากเอทานอลผ่านท่าเรือแหลมฉบัง นอกจากนี้ กิจการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพจากเอทานอลยังได้รับสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างน้อย 8 ปี ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรวัตถุดิบนำเข้าสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิต Bio-Ethylene จากเอทานอลในพื้นที่ EEC ยังต้องการความร่วมมือกันทั้ง Ecosystem โดยเกษตรกรควรปรับเปลี่ยนกระบวนการเพาะปลูกอ้อยและมันสำปะหลังที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนผู้ประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกควรร่วมมือกับผู้ประกอบการผลิตเอทานอลในการจัดหาและส่งมอบวัตถุดิบให้เพียงพอต่อความต้องการผลิต Bio-Ethylene ขณะที่ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต รวมทั้งเร่งออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพจากเอทานอลมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2608 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน