ไทยสูญเงิน 30 ล้านล้านบาท จาก Shadow Economy โต สะท้อน รัฐไทย เก็บภาษีได้น้อยลง
“เศรษฐกิจนอกระบบ” ไทยโตแรง คิดเป็นเกือบ 50% ของจีดีพี สะท้อนภาพรัฐไทยเก็บภาษีได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 16% ต่อจีดีพีในปี 2011 มาอยู่ที่ 14% ในปี 2023 พบภาษีจากเงินได้นิติบุคคลหดตัวมากสุด
KEY
POINTS
- เศรษฐกิจนอกระบบไทยโตแรง คิดเป็นเกือบ 50% ของจีดีพี
- รัฐไทยเก็บภาษีได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 16% ต่อจีดีพีในปี 2011 มาอยู่ที่ 14% ในปี 2023
- สัดส่วนที่ลดลงมากที่สุดคือภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยช่วงปี 2011-2013 อยู่ที่ 4.4% มาอยู่ที่ 3.8% ในช่วง 2014 – 2016 และคงตัวอยู่ที่ 3.6% ในปี 2017-2019 และ 2020 – 2023
ช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพและเติบโตต่ำกว่าประเทศในกลุ่มการพัฒนาเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด โดยในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2567 เศรษฐกิจไทยโตรั้งท้ายประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เพียง 1.5% และตลาดยังคาดการณ์ว่าจีดีพีของไทยตลอดปี 2567 จะอยู่ที่เพียง 2.2-2.7% เท่านั้น
ถ้าพูดถึงปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมาถึงจุดนี้อาจประกอบด้วยหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการเมืองไม่นิ่ง สังคมสูงวัย ความปั่นป่วนในภาคอุตสาหกรรมจากการทะลักเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากจีนและการผลิตสินค้าที่โลกลืม รวมทั้งการขาดเครื่องจักรทางเศรษฐกิจใหม่ๆ แต่หนึ่งในปัจจัยเชิงโครงที่กดดันเศรษฐกิจไทยไม่แพ้กันคือขนาดของ “เศรษฐกิจนอกระบบ” ของประเทศไทยที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ถ้าถามว่าเศรษฐกิจนอกระบบคืออะไร ระบบเศรษฐกิจแบบนี้คือคำที่ใช้เรียกธุรกิจขนาดกลางไปถึงขนาดเล็กหรือธุรกิจส่วนตัวที่ไม่ได้ส่งภาษีเข้าภาครัฐ รวมทั้งไม่ได้อยู่ในระบบของหน่วยงานราชการ ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ จึงไม่สามารถเก็บตัวเลขของธุรกิจเหล่านั้นเพื่อนำไปคำนวณตัวเลขต่างๆ ทางเศรษฐกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการว่างงานหรือตัวเลขจีดีพี
ข้อมูลจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า กิจการที่เป็นเศรษฐกิจนอกระบบของทั้งโลกอาจอยู่ที่ 8 ใน 10 ของกิจการทั่วโลก ส่วนแรงงานมากกว่า 60% ทั่วโลกหรือประมาณ 2,000 ล้านคนไม่ได้อยู่ในระบบของหน่วยงานของรัฐ
แต่ถ้าเป็นประเทศที่ยิ่งพัฒนาแล้วมากเท่าไร ก็จะมีสัดส่วนเศรษฐกิจนอกระบบที่เล็กลง เช่น เศรษฐกิจนอกระบบของอินเดียมีขนาดเศรษฐกิจนอกระบบประมาณ 43.1% ขณะที่จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ อยู่ที่ 12.7% 9.6% และ 7.3% ตามลำดับ
ตัดภาพมาที่ประเทศไทย ธนาคารโลก เปิดเผยว่า เศรษฐกิจนอกระบบคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของตัวเลขจีดีพีในประเทศ หรือประมาณ 30 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกและในอาเซียน
นอกจากนี้ยังพบว่า แรงงานที่อยู่ในระบบของทางการมีเพียง 49% ส่วนที่เหลืออีก 51% เป็นแรงงานที่อยู่นอกระบบซึ่งมีแนวโน้มสูงที่นอกจากกลุ่มคนกลุ่มนี้จะเข้าไม่ถึงสินเชื่อหรือบริการทางการเงินที่ปลอดภัยแล้ว ภาครัฐก็มีแนวโน้มที่จะเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาของคนกลุ่มนี้ไม่ได้เช่นเดียวกัน ทั้งหมดจึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอีกทอดหนึ่ง
เศรษฐกิจนอกระบบโต สะท้อนภาพรัฐเก็บภาษีลดน้อยลง
ข้อมูลทั้งหมดสอดคล้องกับภาพใหญ่การจัดเก็บภาษีของรัฐบาลไทยที่รายได้จากภาษีมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอัตราส่วนรายได้จากภาษีต่อจีดีพีอยู่ที่ประมาณ 16% ปี 2011 ทว่าในปี 2023 กลับลดลงมาอยู่ที่ 14%
ขอบคุณข้อมูลจาก รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ
สัดส่วนที่ลดลงมากที่สุดคือ “ภาษีเงินได้นิติบุคคล” โดยช่วงปี 2011-2013 อยู่ที่ 4.4% มาอยู่ที่ 3.8% ในช่วง 2014 – 2016 และคงตัวอยู่ที่ 3.6% ในปี 2017-2019 และ 2020 – 2023 ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของจำนวนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่อยู่ในระบบของไทยลดน้อยลง ขณะที่รายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคงตัวอยู่ที่ 2.0 – 2.2% ตลอดช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา
ขอบคุณข้อมูลจาก รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ
รายได้จากภาษีน้อยลง แต่กลับขาดดุลอื้อ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้รายได้จากภาษีของรัฐบาลไทยจะลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ทว่ายังจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล (ทำงบฯ แบบรายจ่ายมากกว่ารายรับ) ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจากเดิมขาดดุลทางการคลังประมาณ 1% มาอยู่ที่ 5% ในช่วงปัจจุบัน
ทั้งนี้ ยิ่งรัฐบาลทำนโยบายแบบขาดดุลเช่นนี้หมายความว่าต้องกู้ยืมเงินมาเพื่อใช้จ่าย ดังนั้นสิ่งที่ตามมาคือภาระหนี้ที่สูงขึ้นเบียดบังการใช้จ่ายที่จำเป็นอื่น โดยตามภาพจะเห็นว่า Debt-service Expense หรือรายจ่ายที่เป็นหนี้ของรัฐบาลไทยโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่วนหนึ่งก็เป็นค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย
ขอบคุณข้อมูลจาก รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ
แต่ต้องบอกว่า ประเด็นนี้ยังไม่นับรวมข้อเท็จจริงที่ว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยทุกชุดล้วนทำนโยบายลดภาษีเพื่อดึงคะแนนนิยมทั้งสิ้น โดยมีแค่ปี 1992 เท่านั้นที่รัฐบาลขณะนั้นออกกฎหมายเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
ท้ายที่สุดจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าตลอดช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยต่างจัดทำงบประมาณแบบที่มีรายจ่ายมากกว่ารายรับเสมอมา และส่วนหนึ่งก็เป็นผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีได้ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งที่ทำให้รายได้จากภาษีที่ภาครัฐจัดเก็บได้น้อยลงนั้นก็คือ “เศรษฐกิจนอกระบบ” ที่ภาครัฐยังไม่สามารถเข้าถึงได้