'รถบรรทุก' ปรับตัวรับโซนนิ่ง สนข.จ่อคุมพื้นที่ – เวลาเดินรถ
เปิดแผนบริหารจัดการระบบรถบรรทุกทั่วประเทศ หลัง สนข.เตรียมเสนอกำหนดพื้นที่พักรถ และจำกัดเวลาเดินรถ หวังแก้ปัญหาจราจรและมลพิษทางอากาศ พร้อมยกระดับขนส่งให้มีประสิทธิภาพในระยะยาว
ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก พบว่าสถิติจดทะเบียนรถบรรทุกที่ให้บริการในไทย ณ วันที่ 31 ก.ค.2567 มีจำนวนรวมกว่า 1.2 ล้านคัน โดยแบ่งเป็น ประเภทรถไม่ประจำทาง จำนวน 4.2 แสนคัน และประเภทรถส่วนบุคคล จำนวนกว่า 8.2 แสนคัน ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม วางแผนงานสำคัญในปีงบประมาณ 2567 เร่งศึกษารูปแบบการพัฒนาสถานีเปลี่ยนถ่ายและกระจ่ายสินค้าของประเทศ เชื่อมการขนส่งหลายรูปแบบและพัฒนาจุดพักรถบรรทุกบนโครงข่ายถนนสายหลักในพื้นที่กรุงเทพ ปริมณฑล และพื้นที่ต่อเนื่อง
โดยมีที่มาของโครงการศึกษาดังกล่าว สืบเนื่องจากการขยายตัวของรถบรรทุกและแนวโน้มการเติบโตด้านการขนส่งสินค้า ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับบริการรถบรรทุก ประกอบด้วย
การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งที่จำเป็นเพื่อรองรับระบบโลจิสติกส์
ปริมาณเที่ยวการขนส่งสินค้าทางบกด้วยรถบรรทุกมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าและสถานีเปลี่ยนถ่ายและกระจายสินค้า ในพื้นที่ชานเมืองกรุงเทพมหานครและปริมณฑลไม่มีเพียงพอต่อต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า
ปัญหาการจราจร
การขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมในเขตเมือง ลดความคล่องตัวของการจราจรโดยรวม เพิ่มต้นทุนการขนส่งสินค้าแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียประโยชน์ทางด้านรายได้ของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกอย่างเหมาะสม
ต้นทุนการขนส่ง
โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งเพื่อรองรับกิจกรรมโลจิสติกส์การขนส่งสินค้าที่ชาดประสิทธิภาพและกิจกรรมการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกที่เชื่อมระบบการขนส่งอื่นๆ ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เพิ่มต้นทุนการขนส่งสินค้าแก่ผู้ประกอบการและเกิดผลกระทบจากการสูญเสียประโยชน์ทางด้านรายได้ของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก
มลพิษทางอากาศ
การขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก ร้อยละ 76 เป็นรถบรรทุกที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซล ส่งผลกระทบต่อปัญหามลพิษทางอากาศและสุขภาพของประชาชนในเขตเมืองโดยรวม
ความปลอดภัยทางถนน
จุดพักรถบรรทุกที่เป็นมาตรฐานเพื่อรองรับรถบรรทุกตามเส้นทางขนส่งสินค้าหลักยังมีไม่เพียงพอ ผู้ขับรถบรรทุกต้องจอดพักรถตามพื้นที่ริมทางหลวง หรือจอดบริเวณจุดห้ามจอด ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางถนน
โดยจากการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหา สนข.ได้จัดทำร่างมาตรการบริหารจัดการรถบรรทุก ซึ่งรายละเอียดการกำหนดการบริหารจัดการรถบรรทุกในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลในเบื้องต้น แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่
1. ระยะเตรียมการ (พ.ศ. 2566 - 2570) อนุญาตให้รถบรรทุกทุกชนิด เข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาฯ ในช่วงเวลา 21.00 – 06.00 น.
2. ระยะสั้น (พ.ศ. 2571 - 2575) เหมือนกับระยะเตรียมการ และห้ามรถบรรทุก Diesel ต่ำกว่า EURO 5 เข้าพื้นที่สีส้มในช่วง 06.00 - 10.00 น. และ 15.00 – 21.00 น. ทุกวัน เว้นวันหยุดราชการ
3. ระยะกลาง (พ.ศ. 2576 - 2580) อนุญาตให้เฉพาะรถบรรทุก EURO 5 ขึ้นไป, EV TRUCK และรถบรรทุกพลังงานสะอาด เข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาฯ ในช่วงเวลา 21.00 – 06.00 น.
- พื้นที่สีส้ม อนุญาตให้เฉพาะรถบรรทุก EURO 5 ขึ้นไป, EV TRUCK และรถบรรทุกพลังงานสะอาด เข้าพื้นที่สีส้ม ในช่วง 10.00 –15.00 น. และ 21.00 – 06.00 น. ส่วนรถบรรทุก Diesel ต่ำกว่า EURO 5 เข้าพื้นที่สีส้มได้เฉพาะช่วงเวลา 21.00 – 06.00 น.
- พื้นที่สีม่วง อนุญาตให้เฉพาะรถบรรทุก EURO 5 ขึ้นไป, EV TRUCK และรถบรรทุกพลังงานสะอาดเข้า พื้นที่สีม่วง ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนรถบรรทุก Diesel ต่ำกว่า EURO 5 เข้าพื้นที่สีม่วงได้เฉพาะช่วงเวลา 10.00 – 15.00 น. และ ช่วงเวลา 21.00 – 06.00 น.
4. ระยะยาว (พ.ศ. 2581 - 2585) อนุญาตให้เฉพาะรถบรรทุก EURO 5 ขึ้นไป, EV TRUCK 62 และรถบรรทุกพลังงานสะอาด เข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาฯ ในช่วงเวลา 21.00 – 06.00 น.
- พื้นที่สีส้ม อนุญาตให้เฉพาะรถบรรทุก EURO 5 ขึ้นไป, EV TRUCK และรถบรรทุกพลังงานสะอาด เข้าพื้นที่สีส้มในช่วง 10.00 – 15.00 น. และ 21.00 – 06.00 น.
- พื้นที่สีม่วง อนุญาตให้เฉพาะรถบรรทุก EURO 5 ขึ้นไป, EV TRUCK และรถบรรทุกพลังงานสะอาด เข้าพื้นที่สีม่วง ได้เฉพาะช่วงเวลา 10.00 – 15.00 น. และ 21.00 – 06.00 น. ส่วนรถบรรทุก Diesel ต่ำกว่า EURO 5 เข้าพื้นที่สีม่วง ได้เฉพาะช่วงเวลา 21.00 – 06.00 น.
- พื้นที่สีเทา อนุญาตให้เฉพาะรถบรรทุก EURO 5 ขึ้นไป, EV TRUCK และรถบรรทุกพลังงานสะอาด เข้าพื้นที่สีเทา ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนรถบรรทุก Diesel ต่ำกว่า EURO 5 เข้าพื้นที่สีเทาได้เฉพาะช่วงเวลา 10.00 – 15.00 น. และ 21.00 – 06.00 น.
สำหรับพื้นที่รองรับรถบรรทุก สนข.ศึกษาจะพัฒนา ประกอบด้วย
สถานีเปลี่ยนถ่ายและกระจายสินค้า : เชียงรากน้อย, นครชัยศรี, พระรามที่ 2, บางนา - ตราด
จุดพักรถบรรทุก : นครชัยศรี, พระรามที่ 2, วังน้อย, บางนา – ตราด
ส่วนไทม์ไลน์ของมาตรการจำกัดเวลารถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบัน สนข.อยู่ระหว่างนำเสนอแผนพัฒนาโครงสร้างคมนาคมเพื่อรองรับมาตรการจำกัดเวลารถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบ ก่อนเสนอไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้
หลังจากนั้นภายในเดือน ธ.ค.2567 จะนำเสนอแผนพัฒนาดังกล่าวไปยังคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อพิจารณามาตรการจำกัดเวลารถบรรทุกเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยคาดว่าภายในเดือน มี.ค.2568 จะเสนอแผนปฏิบัติการด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับมาตรการจำกัดเวลารถบรรทุกเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการต่อไป