สกัดจุดเสี่ยงรัฐบาล ‘แพทองธาร’ ยึดวินัยการคลังดัน 'เงินดิจิทัล'
“แพทองธาร” นัดประชุมทีมเพื่อไทย ถก“เศรษฐา” รับมอบงาน เป็นรัฐบาลต่อเนื่อง ตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีเข้ม ป้องกันจุดเสี่ยงเหมือนรัฐบาลเศรษฐา สานต่อนโยบายรัฐบาลชุดที่แล้ว ยึดกรอบกฎหมายก่อนเดินหน้าเงินดิจิทัล ป้องกัน 4 จุดเสี่ยงดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งข้อกฎหมายการคลัง
KEY
POINTS
- “แพทองธาร” ได้นัดประชุมทีมเพื่อไทยเพื่อหารือกับอดีตนายกฯ “เศรษฐา” รับมอบงานเพื่อให้เป็นรัฐบาลต่อเนื่อง
- หลายนโยบายของรัฐบาลชุดที่แล้วจะนำมาพิจารณาเดินหน้าต่อ โดยเฉพาะดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะยึดกรอบวินัยการเงินการคลัง
- ที่ผ่านมามีการเตือนความเสี่ยง 4 ด้าน สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตทั้งข้อกฎหมาย การคลัง การทุจริต และความไม่พร้อมของระบบ
- การตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีจะเข้มงวด เพื่อป้องกันจุดเสี่ยงเหมือนรัฐบาลเศรษฐา
ความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล แพทองธาร 1 หลังจากมีพระบรมราชโองการฯ โปรดเกล้าฯ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2567 ล่าสุด น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เรียกประชุมแกนนำพรรค และทีมยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ณ อาคารชินวัตร 3 โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมประชุมด้วย
ทั้งนี้ก่อนการประชุม น.ส.แพทองธาร ตอบคำถามสื่อมวลชนว่า การประชุมวันนี้ ซึ่งมีนายเศรษฐา เข้าร่วมด้วย เกี่ยวกับการส่งมอบงานหรือไม่ โดยยอมรับว่า “ใช่ ต้องถามนายเศรษฐา ว่า งานอะไรอยู่ตรงไหนบ้างแล้ว”
ส่วนกรณีรายชื่อแคนดิเดตรัฐมนตรี ที่นายภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำพรรค ระบุว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะส่งรายชื่อผู้ถูกเสนอเป็นรัฐมนตรี มายัง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการนายกฯ ในวันที่ 20 ส.ค.67 โดย น.ส.แพทองธาร ยอมรับว่า “มีการคุยกันเช่นนั้น”
แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยต้องการให้กระบวนการรวบรัดที่สุด เพื่อเดินหน้าทำงานให้มีความต่อเนื่องจากรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยได้ประสานไปยังพรรคร่วมรัฐบาล ให้เร่งรัดจัดทำรายชื่อแคนดิเดตรัฐมนตรี แล้วให้ส่งมายัง นพ.พรหมินทร์ เพื่อส่งต่อรายชื่อไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น และประสานไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจสอบอีกชั้น เพื่อให้เกิดความรอบคอบที่สุด
แหล่งข่าวระบุด้วยว่า สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจที่ น.ส.แพทองธาร แถลงว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ทางทีมยุทธศาสตร์ของพรรค และทีมอดีตนายกฯ ได้รวบรวมความคืบหน้านโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมเพื่อพิจารณาแนวทางที่จะเดินหน้าโครงการต่างๆ ตามที่เคยแถลงนโยบายไว้ต่อสภาฯ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง
สานต่อนโยบายรัฐบาลเศรษฐาไม่ต้องนับ 1 ใหม่
“แนวทางของรัฐบาล “แพทองธาร 1” จะถือว่าเป็นรัฐบาลเพื่อไทยอย่างต่อเนื่องจาก “รัฐบาลเศรษฐา” ไม่ได้ถือเป็นรัฐบาลใหม่ ที่จะต้องนับหนึ่ง หรือต้องรื้อนโยบาย ทำใหม่ทั้งหมดพร้อมกันนี้ ทั้งในสัดส่วนของรัฐมนตรี
รวมถึงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ยังกำลังเร่งสรรหา บุคลากรนอกพรรค ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ มาช่วยงาน น.ส.แพทองธาร ซึ่งมีงานเร่งด่วนคือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันด้วย” แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการหารือของแกนนำ และทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะอดีตรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเพื่อไทยยังให้ความสำคัญนโยบายเรือธงของพรรคที่ถูกประชาชน และสังคมทวงถาม เพราะโจทย์สำคัญคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ตามที่นายกฯ ประกาศไว้ เพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจนว่า จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจฟื้น และเพื่อสร้างความเชื่อมั่น
รวมทั้งให้ความสำคัญ กับเรื่องโครงการที่ย่อยลงมาซึ่งกำลังดูว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ในช่วงของนายกฯ เศรษฐา แต่ละโครงการตามนโยบายต่างๆ ได้ดำเนินการคืบหน้าไปถึงไหน เพื่อเป็นการสานต่ออีกทั้งต้องพิจารณาด้วยว่านายกฯ แพทองธาร จะเพิ่มเติมนโยบายใดเข้ามาด้วย
จับตาปรับดิจิทัลวอลเล็ตลดความเสี่ยง
แหล่งข่าวจากทีมงาน น.ส.แพทองธาร ระบุว่า นายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องชูธงผลักดันเรื่องนโยบายที่เป็นเรือธงต่อ โดยทุกนโยบายก่อนแถลงต่อรัฐสภาต้องพูดคุยในพรรคร่วมรัฐบาลก่อน
สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต น.ส.แพทองธาร มีแนวโน้มจะดำเนินการต่อ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งขณะนี้ได้กำหนดแนวทางว่าต้องอยู่ในระเบียบวินัยการเงินการคลัง ตามที่หลายฝ่ายมีข้อเสนอแนะ
สำหรับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทยที่ชูธงในช่วงรัฐบาลเศรษฐา ประกอบด้วย
นโยบาย “เพิ่มรายได้” 6 ประเด็น
1.การต่างประเทศเชิงรุก
2.เพิ่มราคาสินค้าเกษตร
3.ขับเคลื่อนการท่องเที่ยว
4.เร่งการลงทุน
5.เพิ่มรายได้ประชาชนโดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และเงินเดือน
6.ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์
นโยบาย “ลดรายจ่าย” 4 ประเด็น
1.ลดค่าใช้จ่ายพลังงาน
2.พักหนี้เกษตรกร
3.แก้หนี้ประชาชน
4.ปราบอาชญากรรมออนไลน์
นโยบาย “ขยายโอกาส” 11 ประเด็น
1.ขับเคลื่อนดิจิทัลวอลเล็ต
2.ยกระดับบริการสาธารณสุข 30 บาทรักษาทุกที่ดำเนินการแล้ว 40 จังหวัด
3.แก้ปัญหายาเสพติด
4.แก้น้ำกิน-น้ำใช้ทั้งระบบ
5.เร่งรัดออกโฉนด
6.แก้วิกฤติ PM2.5 ที่ต้นตอ
7.ผ่านกฎหมายฉบับสำคัญ
8.ปรับลดกำลังกองทัพอย่างมีขั้นตอน
9.การคมนาคม ลดภาระประชาชน สร้างอนาคตประเทศไทย
10.รับมือวิกฤติทันการณ์ เพื่อความเชื่อมั่นประเทศไทย
11.หวยเกษียณ กระตุ้นการออมแบบสมัครใจแก้ปัญหาคนไทยแก่คนไม่มีเงินเก็บ
“ดิจิทัลวอลเล็ต”มีความเสี่ยงข้อกฎหมาย
รายงานข่าวระบุว่า สำหรับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตถือเป็นนโยบายที่มีความเสี่ยง โดยในช่วงรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน หลายหน่วยงานได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อเตือนการดำเนินโครงการดังกล่าว
ดังนั้นดิจิทัลวอลเล็ตจึงถือเป็นจุดเสี่ยงกรณีที่รัฐบาล น.ส.แพทองธาร จะดำเนินการต่อในรูปแบบเดิมที่จะมีความเสี่ยง 4 ด้าน คือ
1.ความเสี่ยงทางกฎหมาย โดยโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในรูปแบบเดิมมีจุดเสี่ยงทางกฎหมายหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 ในประเด็นที่วันเริ่มโครงการจะต้องมีงบประมาณรองรับไม่เต็มจำนวน ซึ่งกำหนดวงเงินไว้ที่ 450,000 ล้านบาท
2.ความเสี่ยงทางการคลัง ในกรณีทำให้หนี้สาธารณะสูงใกล้ระดับ 70% ของ GDP โดยอาจขัด พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และ พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ.2491
นอกจากนี้ มีความเสี่ยงในการบริหารงบประมาณหลังจากที่มีการกันงบประมาณมาใช้ดำเนินโครงการเงินดิจิทัล ซึ่งจะกระทบงบประมาณโครงการอื่นในปี 2567-2568
3.ความเสี่ยงต่อการทุจริต โดยในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมาคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งหนังสือเตือนกรณีการทุจริตเชิงนโยบายที่อาจทำให้นายกรัฐมนตรี และ ครม.มีความผิด
4.ความเสี่ยงจากความไม่พร้อมของระบบ โดยโครงการดิจิทัลวอลเล็ตยังมีความเสี่ยงในขั้นตอนการดำเนินการจากเทคโนโลยีที่ซับซ้อน ซึ่งครอบคลุมระบบการชำระเงินและระบบ Open loop ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีความพร้อมในระบบชำระเงิน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์