ภูมิธรรม เรียกทุกหน่วยงานถกทางแก้น้ำท่วมด่วน

ภูมิธรรม เรียกทุกหน่วยงานถกทางแก้น้ำท่วมด่วน

“ภูมิธรรม” เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือแผนบริหารจัดการด่วน หลัง น้ำท่วม 6 จังหวัด ขณะสทนช.ประกาศเฝ้าระวังฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงทุกภาคจนถึงวันที่ 30 ส.ค. ด้านกรมชลฯเตือนลุ่มน้ำยม ท่วมหนัก แพร่ สุโขทัยใน 2 วันนี้

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมด่วนเพื่อติดตามแผนบริหารจัดการน้ำเนื่องจากเกิดอุทกภัยแล้ว 6 จังหวัด โดยจะประชุมที่กรมชลประทานช่วงบ่ายวันนี้(22 ส.ค. 67)

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่แจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำหลากทั้งนี้กรมชลประทานวางแผนจัดจราจรน้ำในลุ่มน้ำยมเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะไหลลงมาจากจังหวัดแพร่ โดยการหน่วงน้ำไว้บริเวณด้านเหนือประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์

จากนั้นจะผันน้ำส่วนหนึ่งเข้าคลองยม-น่าน ผ่านทางประตูระบายน้ำคลองหกบาท ก่อนจะระบายลงสู่แม่น้ำยมสายเก่าและแม่น้ำน่านตามลำดับ ส่วนด้านท้ายน้ำจะระบายลงแม่น้ำยมสายหลัก พร้อมแบ่งการระบายน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งซ้ายและขวา เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

ภูมิธรรม เรียกทุกหน่วยงานถกทางแก้น้ำท่วมด่วน

นอกจากนี้ยังได้ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาการรับน้ำเข้าทุ่งบางระกำ โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งให้ทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนในพื้นที่ให้รับทราบสถานการณ์อย่างทั่วถึงและต่อเนื่องด้วย

 

โดยช่วงเวลา 18.00 น. ของวานนี้ (21 ส.ค. 2567) สถานการณ์น้ำที่สถานีวัดน้ำ Y.20 อำเภอสอง จังหวัดแพร่ได้เพิ่มขึ้นสูงจนถึงระดับวิกฤต โดยมีน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,390 ลบ.ม./วินาที และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจึงขอให้พื้นที่ตอนล่างในเขตจังหวัดสุโขทัย เตรียมรับสถานการณ์น้ำที่อาจจะล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำในอีก 2 วันข้างหน้านี้(23-24 ส.ค. 2567)

 ด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานว่า มีน้ำท่วมแล้ว 6 จังหวัดได้แก่ จังหวัดเชียงราย (อำเภอเวียงชัย เชียงแสน ป่าแดด เทิง พญาเม็งราย แม่สาย และแม่จัน) จังหวัดพะเยา (อำเภอเมืองพะเยา เชียงม่วน เชียงม่าน ปง ดอกคำใต้ ภูซาง และจุน) จังหวัดน่าน (อำเภอเชียงกลาง และเฉลิมพระเกียรติ) จังหวัดแพร่ (อำเภอร้องกวาง) จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอเมือง วังโป่ง และชนแดน) และจังหวัดอุดรธานี (อำเภอเมืองอุดรธานี ไชยวาน และกู่แก้ว)

ภูมิธรรม เรียกทุกหน่วยงานถกทางแก้น้ำท่วมด่วน

ปริมาณน้ำฝนสะสมสูงสุด 24 ชั่วโมงวานนี้(21 ส.ค. 67) ที่จังหวัดพะเยาสูงถึง 237 มิลลิเมตร ภาคใต้สุงสุดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช 97 มิลลิเมตร ภาคตะวันตกที่จังหวัดราชบุรี 82 มิลลิเมตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดเลย 74 มิลลิเมตร ภาคตะวันออกที่จังหวัดจันทบุรี 48 มิลลิเมตร และภาคกลางที่จังหวัดชัยนาท 40 มิลลิเมตรจากปริมาณน้ำฝนสะสมที่สูงในลุ่มน้ำยมโดยเฉพาะจังหวัดแพร่และพะเยาทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำยมสูงขึ้นต่อเนื่อง 

ขณะที่สทนช. ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศพบว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้

จึงได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำตามฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) รวมถึงการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี ล่าสุดออกประกาศเตือนต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากทุกภาคในช่วงวันที่ 24 – 30 ส.ค. 2567 ดังนี้

ภูมิธรรม เรียกทุกหน่วยงานถกทางแก้น้ำท่วมด่วน

- ภาคเหนือได้แก่ จังหวัดเชียงราย (อำเภอเมืองเชียงราย แม่สาย เชียงแสน เวียงแก่น ขุนตาล พญาเม็งราย เวียงชัย เทิง และแม่ลาว) จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอแม่อาย และเชียงดาว) จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ปางมะผ้า ปาย ขุนยวม แม่ลาน้อย แม่สะเรียง และสบเมย) จังหวัดตาก (อำเภอเมืองตาก ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด พบพระ และอุ้มผาง) จังหวัดลำปาง (อำเภอวังเหนือ และงาว) จังหวัดพะเยา (อำเภอเมืองพะเยา แม่ใจ ภูซาง ปง เชียงคำ จุน และเชียงม่วน)

จังหวัดน่าน (อำเภอเมืองน่าน เฉลิมพระเกียรติ ปัว ท่าวังผา เวียงสา ทุ่งช้าง เชียงกลาง บ่อเกลือ สองแคว และภูเพียง) จังหวัดแพร่ (อำเภอเมืองแพร่ เด่นชัย สอง ลอง และวังชิ้น) จังหวัดสุโขทัย (อำเภอเมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย ทุ่งเสลี่ยม และศรีสำโรง) จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ลับแล พิชัย ทองแสนขัน และท่าปลา) จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอชาติตระการ นครไทย วังทอง และเนินมะปราง) จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ หล่มเก่า และหล่มสัก)

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ จังหวัดเลย (อำเภอนาแห้ว เชียงคาน ด่านซ้าย และปากชม) จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย สังคม ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ โพนพิสัย และโพธิ์ตาก) จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ ปากคาด บุ่งคล้า โซ่พิสัย เซกา และบึงโขงหลง) จังหวัดหนองบัวลำภู (อำเภอเมืองหนองบัวลำภู ศรีบุญเรือง และโนนสัง) จังหวัดอุดรธานี (อำเภอเพ็ญ บ้านดุง และหนองหาน) จังหวัดสกลนคร (อำเภอเมืองสกลนคร บ้านม่วง คำตากล้า วานรนิวาส สว่างแดนดิน และพรรณานิคม) จังหวัดนครพนม (อำเภอเมืองนครพนม บ้านแพง ศรีสงคราม ท่าอุเทน นาหว้า โพนสวรรค์ ปลาปาก และธาตุพนม)

- ภาคตะวันตกได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี (อำเภอเมืองกาญจนบุรี สังขละบุรี ทองผาภูมิ ศรีสวัสดิ์ ไทรโยค และด่านมะขามเตี้ย) จังหวัดราชบุรี (อำเภอสวนผึ้ง และบ้านคา) จังหวัดเพชรบุรี (อำเภอแก่งกระจาน และหนองหญ้าปล้อง) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอหัวหิน ปราณบุรี และบางสะพาน)

- ภาคตะวันออกได้แก่ จังหวัดนครนายก (อำเภอเมืองนครนายก ปากพลี และบ้านนา) จังหวัดปราจีนบุรี (อำเภอเมืองปราจีนบุรี ประจันตคาม นาดี และกบินทร์บุรี) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี มะขาม ขลุง และแหลมสิงห์) จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด บ่อไร่ เขาสมิง แหลมงอบ คลองใหญ่ และเกาะกูด)

- ภาคใต้ได้แก่ จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กระบุรี ละอุ่น กะเปอร์ และสุขสำราญ) จังหวัดพังงา (อำเภอเมืองพังงา คุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง และท้ายเหมือง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง) จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี คีรีรัฐนิคม พุนพิน พระแสง และเวียงสระ) จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ลานสกา ถ้ำพรรณรา และทุ่งใหญ่) จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง ปะเหลียน นาโยง กันตัง ห้วยยอด รัษฎา และวังวิเศษ) จังหวัดพัทลุง (อำเภอเมืองพัทลุง ปากพะยูน กงหรา ศรีนครินทร์ และควนขนุน) จังหวัดสตูล (อำเภอเมืองสตูล ควนโดน ควนกาหลง ทุ่งหว้า และมะนัง)

พร้อมกันนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุทัยธานี เลย บึงกาฬ สกลนคร อุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม นครพนม มุกดาหาร ยโสธร ศรีษะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด และสุราษฎร์ธานี รวมถึงเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกักที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างเก็บน้ำและส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ

ส่วนแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำได้แก่

- ลำน้ำงาว (อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย)

- แม่น้ำสาย (อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย)

- แม่น้ำอิง (อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย)

- แม่น้ำน่าน (อำเภอเมืองน่าน เวียงสา เชียงกลาง ภูเพียง และท่าวังผา จังหวัดน่าน)

- แม่น้ำยม (อำเภอปง เชียงม่วน จังหวัดพะเยา อำเภอเมืองแพร่ สอง และหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ อำเภอเมืองสุโขทัย สวรรคโลก ศรีสำโรง ศรีสัชนาลัย และกงไกรลาส จังหวัดสุโขทัย อำเภอเมืองพิษณุโลก พรหมพิราม และบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก)

- แม่น้ำแควน้อย (อำเภอนครไทย และวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก)

- แม่น้ำป่าสัก (อำเภอหล่มสัก และหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์)

- ลำน้ำก่ำ (อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม)

- แม่น้ำตราด (อำเภอเมืองตราด เขาสมิง และบ่อไร่ จังหวัดตราด)

นอกจากนี้สทนช. ในฐานะผู้แทนของประเทศไทยในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) จะคอยติดตามสถานการณ์และแจ้งต่อคณะกรรมาธิการฯ ได้ทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเทศสมาชิก MRC จะได้พิจารณาการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเพื่อหลีกเลี่ยงอุทกภัยจากปริมาณน้ำที่ล้นตลิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ริมตลิ่ง ในหลายจังหวัดของประเทศไทยได้แก่ จังหวัดบึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานีด้วย

ด้านกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย GISTDA ติดตามสถานการณ์อุทกภัย ภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel-1A บันทึกเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 เวลา 18.20 น. แสดงพื้นที่สถานการณ์น้ำท่วม 6 จังหวัดได้แก่ จังหวัดอุดรธานี เชียงราย เพชรบูรณ์ หนองคาย น่าน และพะเยา รวมพื้นที่ประมาณ 121,099 ไร่แล้ว