“ภูมิธรรม” วาง 5 มาตรการ แก้ปัญหานำเข้าสินค้าและบริการไม่ได้มาตรฐาน

“ภูมิธรรม” วาง 5 มาตรการ แก้ปัญหานำเข้าสินค้าและบริการไม่ได้มาตรฐาน

“ภูมิธรรม” ประชุมร่วม 28 หน่วยงาน เดินหน้าแก้ปัญหาการนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานและราคาต่ำจากต่างประเทศ เคาะ เคาะ 5 มาตรการ ดูแลผู้บริโภคและ SME ไทย เข้มใช้กฎระเบียบ กฎหมาย ที่มีอยู่สกัดสินค้าไม่ได้มาตรฐาน

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมแก้ปัญหาการนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานและราคาต่ำจาก ร่วมกับนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารระดับสูงจาก 28 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาสินค้านำเข้าสู่ตลาดที่ไม่ได้มาตรฐานและราคาต่ำ ในการป้องกันและกำกับดูแลทั้งสินค้าและธุรกิจที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายควบคู่กับการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs และ E-Commerce ไทยปรับตัวได้ในโลกการค้ายุคใหม่

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากครม.ให้เป็นประธานประชุมแก้ไขปัญหาและให้รายงานคณะรัฐมนตรีภายในสิ้นเดือนส.ค.นี้ โดยการหารือในวันนี้ เป็นการติดตามการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐตามมติ ครม.ที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการ แนวทางในการแก้ไขปัญหาและปกป้องผลประโยชน์ของผู้ผลิตและผู้ประกอบการในทุกมิติ เช่น ตรวจสอบความถูกต้องของการจดทะเบียนการค้าและใบอนุญาตต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจของต่างชาติ ตรวจสอบคุณภาพสินค้าจากต่างประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานได้รับการรับรองจากหน่วยงานของไทย ตรวจสอบ ใบอนุญาตนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และการชำระอากรขาเข้าของผู้ประกอบการต่างชาติ และตรวจสอบความถูกต้องของการได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง. 4) ควบคู่ไปกับการสร้างภูมิคุ้มกันและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย

“ภูมิธรรม” วาง 5 มาตรการ แก้ปัญหานำเข้าสินค้าและบริการไม่ได้มาตรฐาน

โดยได้ข้อสรุปร่วมกันสำหรับมาตรการที่หน่วยงานรัฐต้องดำเนินการ 5 มาตรการหลัก แยกเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที และมาตรการยั่งยืน รวม 63 มาตรการย่อย ประกอบด้วย

1.ให้หน่วยงานบังคับใช้ระเบียบ กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยบูรณาการตรวจเข้มสินค้า ณ ด่านศุลกากร ทั้งในส่วนของการสำแดงพิกัดสินค้า การชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม การตรวจมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การเพิ่มอัตราการเปิดตู้สินค้า (Full Container Load) ตรวจให้เข้มข้นขึ้น ถ้ามีปัญหาอาจเพิ่มความถี่ในการเปิดตู้ โดยจะมีการทบทวนปรับกฎระเบียบเพิ่มเติม รักษาผลประโยชน์ประเทศอย่างเต็มที่ นอกจากนี้จะเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบของ Cyber Team ตรวจสอบสินค้ามาตรฐานจำหน่ายออนไลน์ในส่วนการประกอบธุรกิจ มีมาตรการเชิงรุกตรวจสอบผู้ประกอบการ/ผู้ให้บริการ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายไทย การป้องปรามการกระทำอันมีลักษณะเป็นนอมินี โดยให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นคนไทยต้องส่งเอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงิน พร้อมกับการขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด

2. ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าอนาคต ซึ่งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) อยู่ระหว่างจัดทำประกาศฯ ให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มต่างประเทศที่มีคุณสมบัติตามกำหนด “ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล โดยให้มีสำนักงานในไทย” พร้อมให้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคไทย นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะเร่งเพิ่มจำนวนรายการสินค้าควบคุมภายใต้มาตรฐานบังคับ ครอบคลุมรายการสินค้าให้มากที่สุดไปด้วยอีกทางหนึ่ง

นายภูมิธรรม กล่าวว่า  3. มาตรการภาษี โดยกรมสรรพากรอยู่ระหว่างปรับปรุงประมวลรัษฎากรสำหรับการกำหนดให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ และแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ ที่จำหน่ายสินค้าในไทย ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรในขณะเดียวกัน กรมการค้าต่างประเทศเตรียมการจัดอบรมให้ความรู้เชิงเทคนิคกับภาคเอกชนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ

4. มาตรการช่วยเหลือ SMEs ไทย โดยได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทุกหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมพัฒนาชุมชน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เป็นต้น เร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้า และการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย เพื่อให้แข่งขันได้ในยุคการค้าโลกใหม่ โดยเฉพาะการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถขยายการส่งออกผ่าน 9 แพลตฟอร์ม E-Commerce พันธมิตรในประเทศเป้าหมาย

5. สร้าง ต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เพื่อส่งเสริมการค้าผ่านช่องทางตลาด E-Commerce ให้เป็นอีกช่องทางในการผลักดันสินค้าไทยผ่าน E-Commerce ไปตลาดต่างประเทศให้ผู้ประกอบการไทย รวมถึงส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้าสำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในระดับภูมิภาค

 “5 มาตรการและแนวทางที่ออกมา ในการดูแลผู้บริโภค ผู้ผลิตผู้ประกอบการไทยควบคู่ไปกับการสร้างความสมดุลระหว่างระเบียบการค้าโลก คำนึงถึงความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน จะไม่ถือเป็นการกีดกันทางการค้า แต่จะคำนึงถึงความตกลงทางการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พร้อมกับรักษาผลประโยชน์ของอุตสาหกรรม ธุรกิจทุกฝ่ายอย่างสมดุลสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถปรับตัวและแข่งขันได้ในโลกการค้ายุคใหม่ ซึ่งทุกประเทศมีกลไกดูแลสินค้าผู้ประกอบการในประเทศของตัวเอง” นายภูมิธรรม กล่าว

ทั้งนี้ผลการปฏิบัติการตามมาตราการดังกล่าวจะมีการรายงานผลต่อศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามสินค้าและธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย โดยปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานรับรายงานทุกสัปดาห์ และประชุมร่วมกันทุก 2 สัปดาห์ ถ้ามีความจำเป็นก็จะทำงานให้เข้มข้นขึ้น สินค้าที่จะจำหน่ายในไทยต้องมีคุณภาพ ถูกกฎหมาย ไม่สร้างความเสียหายให้กับประเทศ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า  รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายและระเบียบที่มีอยู่ให้เข้มงวดให้มากขึ้น ทั้งสินค้านำเข้าและสินค้าในประเทศให้เท่าเทียมกัน โดย  กรมศุลกากร Custom Department ต้องตรวจ เอาจริงเอาจัง ถ้ามีปัญหามากก็ต้องตรวจทั้งหมด  เพราะ ขณะนี้มีสินค้าที่มีปัญหาไม่ได้มาตรฐานจำนวนมาก  โดยสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง  เช่นอาหาร อาหารสัตว์เลี้ยง  เครื่องสำอาง สินค้าของใช้ในครัวเรือน

สำหรับกลุ่มสินค้านำเข้าที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยได้รับผลกระทบซึ่งจะต้องที่เฝ้าระวังและคุ้มเข้มการนำเข้าเป็นพิเศษนั้นมีทั้งกลุ่มของสินค้า ภาคบริการ และภาคการผลิต โดย ในส่วนของสินค้า ประกอบด้วย 4 รายการคือ  1. สินค้าอุปโภคบริโภค  เช่น อาหาร ผัก ผลไม้ เครื่องนุ่งงห่ม เครื่องสําอาง เฟอร์นิเจอร์  อัญมณีและเครื่องประดับเป็นต้น 2.สินค้าพลาสติกและเคมีภัณฑ์ 3.สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และ4.สินค้าเฉพาะเช่น  เซรามิก หัตถกรรมสร้างสรรค์