กรมพัฒน์ รับลูก”ภูมิธรรม” สอบเพิ่ม 6 ธุรกิจเสี่ยงเป็นนอมินี
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตรวจกลุ่มธุรกิจเสี่ยงฝ่าฝืนกฎหมายไทยเพิ่มเติม 6 ธุรกิจ หลังเอกชนร้องพบคนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจ เสี่ยงเป็นนอมินี ส่วนคืบหน้าตรวจนอมินีปี 67 ลุยสอบเชิงลึก 165 รายใน 4 กลุ่มธุรกิจ จาก 6 จังหวัด เจอผิดส่งต่อดีเอสไอฟัน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า หลังจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามสินค้าและธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และได้กำชับให้ 28 หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามกฎหมายที่ทุกหน่วยงานมีอยู่ เพื่อป้องกันและปราบปรามสินค้า และธุรกิจที่ฝ่าฝืนในไทยนั้น
ในส่วนของกรม จะเพิ่มการตรวจสอบกลุ่มธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง, ธุรกิจคลังสินค้า, ธุรกิจก่อสร้างและวิศวกรรม, ธุรกิจค้าเหล็ก, ธุรกิจบริการขนส่งและโลจิสติกส์ ฯลฯ ที่มีความเสี่ยงว่าจะมีคนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (นอมินี) และทำธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมายไทยหรือไม่ ตามที่ภาคเอกชนร้องเรียน นอกเหนือจากที่ตรวจสอบธุรกิจเสี่ยงเป็นประจำอยู่แล้ว
โดยภาคเอกชนให้ข้อมูลว่า มีอีกหลายธุรกิจที่อาจมีความเสี่ยง ซึ่งกรมจะไปตรวจสอบว่า ธุรกิจเหล่านั้น จดทะเบียนนิติบุคคลถูกต้องหรือไม่ เป็นธุรกิจของไทยหรือต่างชาติ ถ้าเป็นต่างชาติ มีการขออนุญาตทำธุรกิจภายใต้พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวถูกต้องหรือไม่ หรือมีคนไทยเป็นนอมินี
อย่างธุรกิจก่อสร้างและวิศวกรรม ก็มาพร้อมกับการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่มีความเสี่ยงเป็นนอมินี และยังพบเห็นว่า มีคนต่างชาติมาไลฟ์สดขายอสังหาริมทรัพย์ในไทยด้วย ส่วนธุรกิจโลจิสติกส์ ภาคเอกชนก็บอกว่า มีบริษัทต่างชาติเข้ามาให้บริการในไทยด้วย
ทั้งนี้ หากภาคเอกชนมีข้อมูล หรือมีเบาะแสใดๆ สามารถแจ้งเรื่องมาที่กรมได้ และกรมพร้อมจะตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ เพื่อให้ธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจในไทย ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายไทย
นางอรมน กล่าวอีกว่า สำหรับการตรวจสอบกลุ่มธุรกิจเสี่ยงนอมินีนั้น กรมได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรตรวจสอบต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว และล่าสุด ปี 67 ได้ทำแผนตรวจสอบธุรกิจเป้าหมายที่มีความเสี่ยงเป็นนอมินี 26,019 ราย ใน 4 กลุ่มธุรกิจ คือ ธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ภัตตาคาร ร้านอาหาร, ธุรกิจค้าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจโรงแรม และรีสอร์ต และธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพฯ
โดยล่าสุดได้คัดกรองธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง และต้องตรวจสอบเชิงลึก เพื่อติดตามงบการเงิน สถานที่ตั้ง ตาม พร้อมออกหนังสือให้นิติบุคคลชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจและการลงทุน 498 ราย และในจำนวนนี้พบว่าไม่มีความผิดปกติ 333 ราย ยังคงมีความเสี่ยงสูงอยู่ 165 ราย ที่ต้องตรวจสอบเพิ่มและอยู่ระหว่างส่งต่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบเชิงลึกต่อไป
ส่วนกรณี TEMU ที่ไทยต้องการให้มาจดทะเบียนนิติบุคคลในไทยนั้น เบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์ได้มีการประสานไปทางสถานทูตจีนว่า หากเป็นไปได้อยากได้รับความร่วมมือให้มาจดทะเบียน ตั้งสำนักงานที่ประเทศไทย เนื่องจากหากผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน ก็จะสามารถประสานงานได้สะดวก ซึ่งสถานทูตจีนรับจะประสานงานให้