เปิดมุมมอง”ทูตไทย” โอกาสการค้าไทยใน “คาซัคสถาน”
“ทูตไทย”ในคาซัคสถาน ชี้ คาซัคสถานเปิดทางขยายการค้าสู่อาเซียนหลังโควิด เร่งปรับประเทศเป็น “Land Link” เชื่อมต่อการค้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนกับยุโรป แนะไทยเร่งปิดดีลเอฟทีเอ EAEU ดันมูลค่าส่งออกไทย
ร.อ.ชัชวรรณ สาครสินธุ์ ร.น. เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน เปิดเผยถึงโอกาสทางการค้าของไทยในคาซัคสถาน ว่า หลังจากโควิด คาซัคสถานเริ่มมองลู่ทางขยายความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยวในอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจาก people-to-people contact ระหว่างประชากรของทั้ง 2 ประเทศ โดยคนคาซัคสถานเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยมากขึ้น โดยเฉพาะภูเก็ตนับจากโครงการ Phuket sandbox ตามด้วยพัทยาและสมุย ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวทางทะเล เนื่องจากความแตกต่างด้านสภาพอากาศ ซึ่งคนคาซัคสถานชอบท่องเที่ยวทางทะเล เพราะประเทศเค้าไม่มีชายหาด ขณะที่อากาศก็หนาวมาก
ขณะที่คาซัคสถาน ก็มีจุดเด่นด้านแหล่งท่องเที่ยวด้านอื่น เช่น ski resort ทะเลสาบ หรือเส้นทางเดิน trekking/hiking ในช่วงหน้าร้อน แหล่งโบราณสถานตามเส้นทางสายไหม ฯลฯ โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวคาซัคสถานมาไทยเพิ่มขึ้นมากราว 3 เท่าหลังโควิด หรือจากเดิมประมาณ 6 หมื่นคน มาเกือบถึง 2 แสนคนหรือ 1% ของประชากรคาซัคสถานที่มีจำนวน 20 ล้านคน จากแรงหนุนของนโยบายฟรีวีซ่า ทั้งนี้เมื่อเกิดภาวะบูมด้านการท่องเที่ยวมีการไปมาหาสู่ระหว่างกันมากขึ้น ก็จะเริ่มเห็นช่องทางการค้าการทำธุรกิจด้านอื่นๆ ระหว่างกัน ดังตัวอย่างที่เห็นได้ทั่วไปที่สนามบินจากการที่ชาวคาซัคสถานเมื่อกลับประเทศก็มักจะหิ้วตะกร้าผลไม้ เช่น มะม่วง มังคุด มะละกอ นำขึ้นเครื่องกลับประเทศด้วย
อย่างไรก็ตามคาซัคสถานยังมีข้อจำกัดเรื่องของการเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางโดยเครื่องบินซึ่งตั๋วโดยสารที่บินตรงระหว่างไทยยังมีราคาค่อนข้างสูง แต่ปัจจุบันก็เริ่มมีทางเลือก โดยมีสายการบินแอร์เอเชียเปิดเที่ยวบินไปคาซัคสถาน แต่ก็ต้องไปขึ้นเครื่องที่กัวลาลัมเปอร์ โดยราคาตั๋วเครื่องบินราว 2 หมื่นบาทต่อเที่ยว
ทั้งนี้ คาซัคสถานเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพไม่สูงมากนัก มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หากคนไทยมีความสนใจก็ควรมาท่องเที่ยวและถือโอกาสศึกษาลู่ทาง จะได้เกิดการแลกเปลี่ยนการเยือนสองทาง ในขณะที่ ภาคการท่องเที่ยวไปไทยไม่น่าห่วงเพราะเค้ามาเที่ยวไทยส่วนใหญ่เป็นแบบครอบครัว ค่าใช้จ่ายต่อทริปสูง จึงถือว่าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชั้นดีที่ไม่ได้มาสร้างปัญหาให้ชุมชนไทยด้วย
รอ.ชัชวรรณ กล่าวว่า คาซัคสถานถือเป็นประเทศที่มีบทบาทมากในภูมิภาคเอเชียกลาง และเป็นประเทศขนาดใหญ่ ประชากรน้อย แต่รายได้ต่อหัวสูง ถือเป็นประเทศที่ร่ำรวยประเทศหนึ่ง เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญคือ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ยูเรเนียม รวมทั้งแร่ธาตุอื่นๆ ที่เป็น critical minerals ที่จำเป็นสำหรับ Green economy รายได้หลักของคาซัคสถาน จึงมาจากการส่งออกน้ำมัน และก๊าซ รวมทั้งแร่ธาตุเหล่านี้ อาทิ โครเมียม ลิเธียม โคบอลท์ แมงกานีซ ทองแดง ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้ยังมีการลงทุนจากต่างชาติไม่มาก
สำหรับภาคเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาที่โลกประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย เศรษฐกิจคาซัคสถานไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างไรก็ดี สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้มีการปิดเส้นทางขนส่งที่ผ่านไซบีเรียของรัสเซีย ปัจจุบันจึงมีการหันมาใช้เส้นทาง Middle Corridor โดยคาซัคสถาน ซึ่งเป็น land lock ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล กำลังปรับตัวเองเป็น “Land Link”ที่เป็นระเบียงกลางเชื่อมต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนกับยุโรป
โดยเส้นทางขนส่งนี้จะเริ่มจากจีนทางรางรถไฟผ่านคาซัคสถาน ทะเลสาบแคสเปียน อาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย และตุรกี ก่อนจะไปถึงประเทศสหภาพยุโรป ซึ่งหากเราส่งสินค้าไปยุโรป เส้นทางนี้ถือเป็นเส้นทางที่น่าจะเป็นตัวเลือกหลักและมีการทดลองใช้มานานพอควรแล้ว เมื่อเทียบกับการขนส่งทางเรือ อย่างไรก็ตามเรายังมีชุดข้อมูลเรื่องโลจิสติกส์เส้นนี้ไม่มาก และในภาพรวม เส้นทางการขนส่งเข้าสู่ตลาดเอเชียกลางนี้ยังถือว่ามีข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งระยะเวลาในการขนส่งที่บางครั้งก็นาน ค่าใช้จ่ายสูง ตลอดจนผู้นำเข้าหรือเอเย่นต์ มักเป็นคนรัสเซียซึ่งมีการทำสัญญากับเอกชนไทยนานแล้ว จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับเอกชนคาซัคสถาน ที่ประสงค์จะดีลกับเอกชนไทยโดยตรง
“ การไม่มีเอฟทีเอกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union: EAEU) ที่มีสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน ก็เป็นอุปสรรคสำคัญ ไทยจึงควรจะเร่งเจรจาและปิดดีลให้เร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ทางการค้าของไทย ซึ่งจะสามารถเพิ่มมูลค่าการค้าของไทยได้มากและจะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งจากเวียดนามและสิงคโปร์ได้ ซึ่งสินค้าเขาเสียภาษี 0 เปอร์เซ็นต์ ”ร.อ.ชัชวรรณ กล่าว
สำหรับสินค้าไทยที่มีโอกาสในคาซัคสถาน คือ สินค้าสำหรับเด็ก (เนื่องจากเป็นประเทศที่มีครอบครัวขนาดใหญ่) เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน ต้นไม้ ดอกไม้เทียม อุปกรณ์เครื่องเขียน เครื่องสำอาง สินค้าเครื่องปรุงอาหารไทย (ซึ่งขณะนี้คนคาซัคสถาน นิยมต้มยำกุ้งมาก) และผลไม้ไทยทั้งสดและแปรรูป เช่น มะม่วง มะละกอ มังคุด แก้วมังกร เป็นต้น
เอกอัครราชทูตฯ กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่จะมาทำการค้าในคาซัคสถานสิ่งแรกที่ควรทำคือ การเดินทางมายังคาซัคสถานเพื่อจะได้เห็นภาพเศรษฐกิจการค้าที่แท้จริง รวมทั้งสภาพทางสังคม รสนิยมการบริโภค ฯลฯ อย่างไรก็ดี หากจะมาประกอบธุรกิจเป็นเรื่องเป็นราวก็ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในเรื่องล่ามด้วย เนื่องจากการติดต่อธุรกิจกับคนคาซัคสถานจะต้องใช้ภาษาคาซัคสถานหรือภาษารัสเซียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนโอกาสสำหรับคนไทยที่จะมาทำงานในคาซัคสถานน่าจะได้แก่การมาเป็นช่างเชื่อมท่อก๊าซ ท่อน้ำมัน ซึ่งก่อนโควิดมีคนงานไทยกว่า 100 คนที่ทำงานเชื่อมท่อน้ำมันในฐานขุดเจาะตามทะเลสาบแคสเปียน รายได้ดีมาก สวัสดิการดี โดยบริษัทมีความชื่นชอบช่างคนไทยเพราะทำงานละเอียด มีคุณภาพ ไม่ต้องกลับมาแก้ไข อย่างไรก็ดี ต้องมีความอดทนและคำนึงถึงสภาพอากาศที่หนาวเย็นด้วย
ส่วนการเปิดสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต.) ในคาซัคสถาน มองว่าจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยสร้างโอกาสทางการค้าของไทยเพิ่มมากขึ้น โดยหากทำได้ ควรรับผิดชอบดูแลทั้ง 5 ประเทศในเอเชียกลาง แถบนี้ทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะแค่คาซัคสถานประเทศเดียว ซึ่งการมาเปิดสำนักงานฯ ไม่น่ายาก เพราะทางคาซัคสถานยินดีที่จะให้ไทยมาตั้งสำนักงานการค้าอยู่แล้ว แต่ในส่วนของเราอาจจะมีขั้นตอนภายในที่ต้องใช้เวลานานกว่าทั้งบุคลากร งบประมาณ เจ้าหน้าที่ เป็นต้น