ไขข้อสงสัยสร้าง 'อุโมงค์ไฮสปีด' รับเหมาไทยจ้าง 'จีน' สร้าง ผิดหรือไม่ ?
เปิดสัญญาพัฒนา “ไฮสปีดเทรน” สายแรกในไทย ภายใต้กรอบความร่วมมือไทย - จีน คลายข้อสงสัยเอกชนไทยจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างชาติผิดข้อกำหนดหรือไม่ ขณะที่ “คมนาคม” เตรียมตั้งคณะกรรมการสอบเหตุ
KEY
POINTS
- เปิดสัญญาพัฒนา "ไฮสปีดเทรน" สายแรกในไทย ภายใต้กรอบความร่วมมือไทย - จีน คลายข้อสงสัยเอกชนไทยจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างชาติผิดข้อกำหนดหรือไม่
- ข้อกำหนดกรอบความร่วมมือระหว่างไทย - จีน ชี้ชัดต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญจีนออกแบบ ควบคุมงานก่อสร้าง และติดตั้งระบบรถไฟ
- ขณะที่ "เนาวรัตน์พัฒนาการ" คู่สัญญาสร้างงานอุโมงค์ จ้างเหมาช่วงผู้รับเหมาจีนสามารถดำเนินการได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากการรถไฟฯ
- ด้าน "คมนาคม" เตรียมตั้งคณะกรรมการสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตรวจสอบสัญญาจ้างต่างๆ อย่างละเอียดอีกครั้ง
จากกรณีเกิดเหตุดินทรุดตัวภายในอุโมงค์รถไฟคลองไผ่ ช่วงคลองขนานจิตร ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นอุโมงค์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 24 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้มีคนงานที่กำลังปฏิบัติงานขุดเจาะอุโมงค์ ติดอยู่ภายใน 3 ราย
โดยสาเหตุจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าอุโมงค์รถไฟคลองไผ่ดำเนินการขุดอุโมงค์เกือบจะแล้วเสร็จ โดยในปัจจุบันได้ขุดเจาะอุโมงค์ได้ความยาวประมาณ 4,100 เมตร ภายในอุโมงค์ในระหว่างการก่อสร้างมีการทำผนังอุโมงค์ไว้ตลอดแนว บริเวณที่เกิดเหตุชั้นหินและดินทรุดตัวภายในอุโมงค์ ความยาวประมาณ 10 – 30 เมตร อยู่ระหว่างขั้นตอนการทำผนังอุโมงค์
อย่างไรก็ดี คนงานทั้ง 3 รายที่เป็นผู้ประสบภัยนั้น พบว่าเป็นคนงานต่างชาติชาวเมียนมา และจีน ส่งผลให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเอกชนคู่สัญญาดำเนินโครงการนี้ ได้ว่าจ้างบริษัทต่างชาติเข้ามาดำเนินการแทนในลักษณะ “การจ้างเหมาช่วง” (Outsourcing หรือ subcontracting) และสามารถดำเนินการได้หรือไม่
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงประเด็นนี้ว่า เอกชนคู่สัญญาในการก่อสร้างโครงการต่างๆ มีสิทธิในการจ้างเหมาช่วง เพื่อนำผู้เชี่ยวชาญในงานต่างๆ มาดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อโครงการ ในกรณีนี้เอกชนคู่สัญญาสามารถทำได้ แต่จำเป็นต้องทำหนังสือขออนุมัติจากหน่วยงานรัฐคู่สัญญา เพื่อเป็นการการันตีว่าผู้รับเหมาที่จะมารับจ้างเหมาช่วงมีศักยภาพเพียงพอต่อการดำเนินงาน
ขณะเดียวกัน ในโครงการพัฒนาไฮสปีดเทรนสายนี้ เป็นการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อพัฒนารถไฟความเร็วสูงไทย - จีน และเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงสายแรกในไทย ส่งผลให้มีข้อตกลงระหว่างสองประเทศ โดยฝ่ายไทยจะเป็นผู้ลงทุนงานโยธาและอื่นๆ โดยจะต้องว่าจ้างฝ่ายจีนเป็นผู้ออกแบบ ควบคุมงาน ติดตั้งงานระบบรถไฟและการฝึกอบรม
“โครงการรถไฟไฮสปีดสายนี้ นับเป็นโครงการแรกที่เกิดขึ้นในไทย ดังนั้นไทยยังไม่มีประสบการณ์ จึงจำเป็นต้องจ้างฝ่ายจีนเข้ามาออกแบบ ควบคุมงานก่อสร้าง และติดตั้งระบบรถไฟ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี หลังจากนั้นในการก่อสร้างส่วนต่อขยาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ฝ่ายไทยจึงจะดำเนินการเองทั้งหมด”
อย่างไรก็ดี จึงจะเห็นได้ว่างานก่อสร้างทั้ง 14 สัญญาของไฮสปีดสายนี้ จะมีคนจีนอยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง รวมทั้งผู้รับเหมาไทยก็สามารถจ้างเหมาช่วงบริษัทจีนมาทำงานได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากการรถไฟ ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องตรวจสอบต่อไป ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคม จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตรวจสอบสัญญาจ้างต่างๆ อย่างละเอียดอีกครั้ง
สำหรับสัญญาความร่วมมือพัฒนารถไฟความเร็วสูง ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งสองฝ่ายจะใช้ความร่วมมือในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลในการดำเนินโครงการความร่วมมือดังกล่าว
สำหรับช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ฝ่ายไทยจะเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งหมด ร้อยละ 100 (มูลค่าโครงการ 179,413 ล้านบาท) รูปแบบการดำเนินงานแบ่งสัญญาโครงการออกเป็น 2 สัญญา
สัญญา 1: งานก่อสร้างด้านโยธา และค่าอื่นๆ จะดำเนินการโดยฝ่ายไทยทั้งหมด โดยใช้การประกวดราคาตามระเบียบไทย (ผู้รับจ้างไทย) คิดเป็นร้อยละ 75 หรือ 135,647.05 ล้านบาทของมูลค่าโครงการ
สัญญา 2: ประกอบด้วย 3 สัญญาย่อย โดยให้ฝ่ายจีนเป็นผู้ดำเนินการ คิดเป็นร้อยละ 25 หรือ 43,765.16 ล้านบาท ของมูลค่าโครงการ ประกอบด้วย
สัญญา 2.1: งานด้านการออกแบบ
สัญญา 2.2: การควบคุมงานโยธา
สัญญา 2.3: งานระบบรถไฟและการฝึกอบรม
โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2560 วงเงิน 179,413 ล้านบาท และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีมติรับทราบผลการอนุมัติโครงการฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 45/2560 เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2560
ขณะเดียวกัน ครม.ได้มีมติเห็นชอบร่างสัญญา 2.1 การออกแบบรายละเอียด (Detailed Design Services Agreement) เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2560 และร่างสัญญา 2.2 ที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้าง (Construction Supervision Consultant Services Agreement) เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2560
ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้ลงนามในสัญญา 2.1 การออกแบบรายละเอียด และสัญญา 2.2 ที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง โดยจ้างรัฐวิสาหกิจจีน (China Railway Design Corporation หรือ CRDC และ China Railway International หรือ CRIC) เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2560 ในระหว่างการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนา ณ เมืองเซี่ยเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน
สำหรับสัญญา 2.3 งานระบบรถไฟและการฝึกอบรม ลงนามเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 โดย ร.ฟ.ท. ลงนามจ้าง บริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD.) โดยมีขอบเขตงานวางระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และจัดหาขบวนรถไฟความเร็วสูง ที่สามารถทำความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตลอดจนงานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและซ่อมบำรุง และงานถ่ายทอดเทคโนโลยี