ทุ่มทุนสร้าง 3 ท่าเรือน้ำลึก ดันรายได้ท่องเที่ยวทางทะเล
กรมเจ้าท่าลุยศึกษา "ท่าเรือสำราญ" 3 จังหวัด ตั้งเป้าดันเป็นศูนย์กลางจอดแวะพัก และขยายขีดความสามารถรับเรือสำราญใหญ่ที่สุดในโลก หวังดันรายได้ท่องเที่ยวทางทะเล ประเดิมปีนี้ชง ครม.อนุมัติ "เกาะสมุย" เป็นโครงการแรก
จากโอกาสทางการเติบโตของการท่องเที่ยวทางทะเลผ่านเรือสำราญขนาดใหญ่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมเจ้าท่าจึงได้เริ่มว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ และได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2563 - 2566 ภายใต้แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว วงเงินรวม 156.15 ล้านบาท
โดยแผนพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ มีจำนวน 3 โครงการ ได้แก่
1. โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
โครงการนี้จะใช้พื้นที่ในการพัฒนาประมาณ 47 ไร่ แยกเป็นพื้นที่บนฝั่ง 15 ไร่ และพื้นที่นอกชายฝั่ง 32 ไร่ รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 12,172 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุน 6,414.41 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา 5,757.19 ล้านบาท รูปแบบการลงทุนในลักษณะ PPP Net Cost โดยให้เอกชนเป็นผู้ร่วมลงทุนในการก่อสร้างและการดำเนินงานทั้งหมด โดยรัฐจะชำระค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคืนให้ในระยะเวลา 10 ปี
โดยโครงการนี้จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2568 จนถึงปี 2604 โดยเริ่มก่อสร้างในปี 2572 และจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2575 ซึ่งมีระยะเวลาการให้บริการยาวนานถึง 30 ปี คาดการณ์ว่าหลังจากเปิดให้บริการจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ตั้งแต่ 200,000 ถึง 400,000 คนต่อปี และรองรับเรือสำราญได้ 240 เที่ยวต่อปี
จากการศึกษาโครงการฯ คาดว่าโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ที่เกาะสมุยจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจตลอดระยะเวลา 30 ปี ประมาณ 46,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์สูงกว่า 15%
สถานะโครงการปัจจุบันกรมเจ้าท่าได้ส่งรายงานผลการศึกษา ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาแล้ว คาดว่าจะสามารถนำโครงการเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ก่อนสิ้นปี 2567 และจะเริ่มก่อสร้างในปี 2572 เมื่อโครงการนี้เสร็จสิ้นจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพการท่องเที่ยวของประเทศไทยในระดับโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
2. โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต เพื่อรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal)
โครงการนี้จะปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตให้สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ บริเวณชายฝั่งอันดามัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2567 โดยจะดำเนินการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ด้วยการขยายความยาวหน้าท่าเทียบเรือ ขุดลอกความลึกของร่องน้ำเท่ากับ -10.5 เมตร จากระดับน้ำลงต่ำสุด หรือ -12.8 เมตร เทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง
นอกจากนี้ จะขุดลอกเพื่อขยายแอ่งกลับลำเรือให้มีความเหมาะสม ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นและติดตั้งไฟหัวเขื่อน และก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารและเครื่องมืออุปกรณ์ที่เป็นมาตรฐานของท่าเทียบเรือสำราญที่เป็นท่าเรือต้นทาง (Home Port) โดยเมื่อท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตได้รับการปรับปรุงตามแผนดังกล่าว จะทำให้ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตมีศักยภาพเป็นท่าเรือแบบ Hybrid ที่เป็นทั้ง Home Port รองรับเรือ Cruise ขนาดกลางถึงเล็ก และเป็นท่าเรือแวะพัก (Port of call) รองรับเรือ Cruise ขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียที่บรรทุกผู้โดยสารได้ถึง 4,200-4,900 คน
3. โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณอ่าวไทยตอนบน บริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี
โครงการจะพัฒนาบริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยท่าเรือเป็นลักษณะผสมผสาน (Hybrid) โดยจะเป็นท่าเรือต้นทาง (Home Port) สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1,500 คนต่อชั่วโมง และท่าเรือแวะพัก (Port of Call) จะสามารถรองรับผู้โดยสาร จำนวน 3,500 - 4,000 คนต่อชั่วโมง
อีกทั้งท่าเรือนี้จะพัฒนาให้สามารถรองรับเรือสำราญที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ รองรับเรือสำราญเข้าเทียบท่าได้พร้อมกัน 2 ลำ ความยาวท่าเทียบเรือ 300 เมตร พร้อมก่อสร้างอาคารพักผู้โดยสาร อีกทั้งจะพัฒนาที่จอดรถยนต์ เพื่อรองรับการเชื่อมต่อทางบกไปยังแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาที่จอดเรือโดยสาร และเรือเร็ว เพื่อเชื่อมต่อการท่องเที่ยวไปยังเกาะแก่งต่างๆ
สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้น ประเมินวงเงินลงทุนอยู่ที่ 7,412 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าลงทุนก่อสร้าง 5,934 ล้านบาท และค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) 1,478 ล้านบาท โดยกรมเจ้าท่าจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost สัญญาสัมปทาน 30 ปี คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลภายในปี 2568 ก่อนดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2569 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2572