“เศรษฐกิจการเมืองไทย ยุ่งเหยิงหรือแยบยล?” คำตอบต่อคำถามนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราถามใคร

“เศรษฐกิจการเมืองไทย ยุ่งเหยิงหรือแยบยล?”  คำตอบต่อคำถามนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราถามใคร

หนี้สินครัวเรือนกำลังลุกลามจากระดับรากหญ้าขยับขึ้นไปถึงชนชั้นกลาง รัฐบาลชุดที่แล้วก็ยังอยู่ในระหว่าง “การพยายามที่จะหาทางแก้ไขโดยจะกระตุ้นเศรษฐกิจ” ล่าสุดมีการนำเสนอความคิดแนวใหม่โดยวิสัยทัศน์ของเจ้าของพรรคใหญ่มาเตรียมใช้เพื่อปลดโซ่ตรวนเศรษฐกิจซบเซาและสร้างความหวังว่าอีกไม่นานไทยจะทะยานขึ้นไปแข่งขันในระดับโลกได้แต่เศรษฐกิจก็ยังต้องรอการเมือง

สำหรับกลุ่มที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและอำนาจการต่อรองสูงในปัจจุบันนั้น ความยุ่งเหยิงที่มีอยู่เป็นเพียงแค่โจทย์ในระยะสั้น แต่แท้จริงอาจเป็นความแยบยลเพื่อควบคุมการเมืองไทยในระยะยาว

ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเป็นที่รู้กันว่าไทยจัดอยู่ในระดับโลก เหตุแห่งความเหลื่อมล้ำส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอุปนิสัยวัฒนธรรมประเพณีช่วยเอื้ออำนวยให้ปัญหายืดเยื้อต่อไป นับวันก็มีเพียงแค่ความอยากที่จะแก้ไขและถกเถียงทฤษฎีกันมากมาย แต่ในทางปฏิบัติแล้วยังไม่เห็นผล

ตราบใดที่ผู้มีอำนาจในการต่อรองสูงกว่ายังได้ประโยชน์จากความเหลื่อมล้ำ ชาวไทยส่วนใหญ่คงเพียงเห็นแค่คำสัญญาว่า "อีกไม่นานปัญหานี้ก็จะหมดไป ชนชั้นนำกำลังแก้ไขอยู่ และถ้าพวกเขาพวกเขามีอำนาจและมีเสถียรภาพ ปัญหาเหล่านี้ก็จะหมดไป"

แต่โดยธรรมชาติแล้วผู้ที่ได้เปรียบจะไม่ทำอะไรหากผู้เสียเปรียบยังยอมทน

หนี้สินครัวเรือนกำลังลุกลามจากระดับรากหญ้าขยับขึ้นไปถึงชนชั้นกลาง รัฐบาลชุดที่แล้วก็ยังอยู่ในระหว่าง “การพยายามที่จะหาทางแก้ไขโดยจะกระตุ้นเศรษฐกิจ” แต่มีหลายฝ่ายท้วงติงจนกระทั่งนายกฯถูกปลดออกไป

ล่าสุดมีการนำเสนอความคิดแนวใหม่โดยวิสัยทัศน์ของเจ้าของพรรคใหญ่มาเตรียมใช้เพื่อปลดโซ่ตรวนเศรษฐกิจซบเซาและสร้างความหวังว่าอีกไม่นานไทยจะทะยานขึ้นไปแข่งขันในระดับโลกได้

แต่เศรษฐกิจก็ยังต้องรอการเมือง ขณะนี้นายกฯคนใหม่ซึ่งยอมรับว่าตนยังอ่อนประสบการณ์แต่เข้มข้นโดยดีเอ็นเอของบิดาได้รับความไว้วางใจโดยเสียงส่วนใหญ่ในสภาฯกำลังเดินหน้าจัดตั้งคณะรัฐมนตรีด้วยความระมัดระวัง เพราะมีกับระเบิดดักรออยู่แทบทุกฝีก้าว

การร้องเรียนกล่าวโทษเป็นข่าวหน้าหนึ่งแทบทุกวัน “โดยเฉพาะเรื่องจริยธรรมความซื่อสัตย์สุจริตซึ่งเป็นมาตรฐานแปลกใหม่ถึงขั้นพิสดารในสายตาของหมู่มวลนักกฎหมายมืออาชีพ”

การจ้องจับผิดกันทั้งแบบเปิดเผยและใต้ดิน ผ่านองค์กรอิสระหรือโจมตีโดยโซเชียลมีเดีย กลายเป็นพฤติกรรมยอดนิยมที่สร้างความยุ่งเหยิงในระยะนี้

ประชาชนกำลังเสื่อมศรัทธากับผู้นำทางการเมืองโดยเฉพาะกลุ่มต่างๆที่เคยบริหารประเทศมาแล้ว การแย่งชิงอำนาจโดยใช้ชั้นเชิงในสภาฯหรือผ่านองค์กรอิสระเพื่อทำให้พรรคการเมืองแตกแยกหรือหวังเพิ่มจำนวนส.ส.ในสภาเพื่อความได้เปรียบและผลประโยชน์ของกลุ่มตน โดยเฉพาะการสร้างฐานเสียงโดยนโยบายประชานิยมและแผ่อิทธิพลแต่งตั้งตำแหน่งยุทธศาสตร์ของข้าราชการประจำที่ฝักใฝ่ฝ่ายตนเพื่อชนะการเลือกตั้งในครั้งหน้า ส่วนประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งก็ไม่สามารถจะบังคับให้การเมืองเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่พวกเขาต้องการได้ แผนการจัดตั้งรัฐบาลนำโดยพรรคการเมืองของคนหนุ่มสาวกลุ่มเสรีนิยมกลับถูกขัดขวางโดยอ้างเงื่อนไขแห่งชาติที่ยังประนีประนอมกันไม่ได้

ฝ่ายใดคุมอำนาจก็ใช้ความกลัวแปลงเป็นความเกลียด กระบวนการนิติบัญญัติภายใต้รัฐธรรมนูญที่ควรถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงและองค์กรอิสระที่ใช้อำนาจเกินเจตนารมย์กลายเป็นเครื่องมือแห่งเสถียรภาพของฝ่ายอนุรักษ์นิยมเพื่อจำกัดบทบาทของคนรุ่นใหม่ แต่ในที่สุดเครื่องมือเหล่านี้ก็ถูกนำมาใช้กีดกันและเป็นกับระเบิดในการตั้งคณะรัฐมนตรีและการบริหารรัฐบาลอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

พรรคฝ่ายค้านที่ถูกยุบไปก็กัดฟันสร้างบ้านใหม่ขึ้นมาสู้ต่อ สมาชิกสมัครกันล้นหลาม เงินเรี่ยรายเกินเป้า การทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลชุดที่แล้วมีประสิทธิภาพอย่างไรก็มั่นใจว่าฝ่ายค้านชุดใหม่นี้ก็จะทำหน้าที่ได้ดีสม่ำเสมอต่อไป

หวังว่าพวกเขาจะใช้เวลาระหว่างรอคอยโอกาสที่จะเข้ามาบริหารประเทศสะสมประสบการณ์และฝึกฝนความอดทนอดกลั้นโดยความสงบและหลีกเลี่ยงความรุนแรงโดยมีวินัยสูงเช่นที่ผ่านมา

ความยุ่งเหยิงทางเศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบัน แม้จะเป็นโอกาสให้บุคคลบางกลุ่มได้เปรียบในภาวะเศรษฐกิจและการเมือง แต่กำลังส่งผลเสียหายต่อภาพรวม ยิ่งการตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นช้าประชาชนก็หาที่พึ่งไม่ได้ ข้าราชการทุกกรมกองกำลังทำงานไปเรื่อยๆเหมือนเรือลอยตามน้ำโดยไม่มีกัปตัน องค์กรอิสระทั้งหลายก็มีภาพลบถึงขั้นถูกวิจารณ์ว่ามีอิสระแท้จริงเพียงใด ทำไมจึงมีอำนาจล้นฟ้าถึงขั้นที่บางองค์กรสามารถยุบพรรคฝ่ายค้านและล้มรัฐบาลได้ จึงไม่แปลกใจเลยที่เสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปถึงขั้นยกเลิกองค์กรอิสระเหล่านี้เริ่มหนาหูขึ้น

ต่างประเทศเองก็กำลังปวดหัวกับระบบการคานอำนาจทางการเมืองแบบแปลกๆของไทยเช่นกัน

ฝรั่งมังค่าวิจารณ์กันว่าไทยแลนด์บริหารโดย ข้าราชการประจำ นิติบัญญัติ ตุลาการ องค์การอิสระและโซเชียลมีเดีย ส่วนข้าราชการการเมืองนั้นกลายเป็นตำแหน่งชั่วคราวกันไปแล้ว รัฐบาลที่เลือกตั้งมาเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีสองครั้งและอยู่ได้ ไม่ถึงปี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในหนึ่งปีมีสองคนและรัฐบาลชุดหน้าก็มีข่าวว่าจะเป็นหน้าใหม่

การประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติในเดือนกันยายน การเข้าร่วม BRICS ในเดือนตุลาคม และการประชุมสุดยอดAPECที่ประเทศเปรูในเดือนพฤศจิกายนนี้ก็ยังไม่รู้ว่านโยบายคืออะไร

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นกุญแจสำคัญต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและความมั่นคงของไทยในฐานะสมาชิกประชาคมโลก จับตามองโดยใกล้ชิดว่ารัฐบาลแพทองธารจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากเพียงใด การแต่งตั้งคนมีฝีมือที่ได้รับความศรัทธาและเชื่อมั่นโดยข้าราชการกระทรวงต่างประเทศและเป็นที่รู้จักและนับถือเป็นวงกว้างในการทูตระหว่างประเทศมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และมีตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศรวมทั้งที่ปรึกษาเต็มพิกัดนั้นจะเป็นเครื่องชี้ว่ารัฐบาลชุดใหม่นี้มีความตั้งใจจริงมากเพียงใดที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจและปฏิรูปการเมืองไทยอย่างจริงจัง 

ภาวะน้ำท่วมเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายสร้างคะแนนนิยมเพื่อการเลือกตั้งในครั้งหน้า ซึ่งขณะนี้แม้ประเมินว่าอาจต้องรออีกสามปีแต่แทบทุกพรรคการเมืองก็เตรียมใจไว้แล้วว่าอาจมีอุบัติเหตุปุบปับให้เกิดการเลือกตั้งได้ก่อนกำหนด รัฐบาลชุดใหม่จะอยู่ถึงปีหรือไม่ก็ไม่มีใครกล้ารับประกัน

รัฐบาลเศรษฐา1และ2 มีโอกาสบริหารประเทศ 11 เดือนครึ่งท่ามกลางความกดดันจากทุกด้าน ผลงานของนักเดินสายขายความเชื่อมั่นในต่างประเทศด้วยความขยันขันแข็งนั้นกลายเป็นอดีตไปแล้ว แผนการลงทุนจากต่างประเทศทั้งเงินและเทคโนโลยีมูลค่าหลายแสนล้านบาทก็ดูเหมือนจะชะลอลงหรือชะงักไประยะหนึ่ง

รัฐบาลแพทองธารที่จะ“สับเปลี่ยนตัวละครแต่ไม่เปลี่ยนขั้ว”ก็ควรสรุปโดยเร็ว และกระบวนการขององค์กรอิสระควรให้โอกาสรัฐบาลได้ทำงานเพื่อแก้ไขวิกฤตหลายเรื่องโดยด่วนก่อนที่จะสายเกินไปชาวไทยมีความอดทนสูงแต่ความเปราะบางทางเศรษฐกิจอาจผลักดันให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันโดยที่นายกฯมือใหม่จะรับมือไม่ไหวก็เป็นไปได้ครับ