หอการค้าไทยหวั่นน้ำท่วมลากยาวกระทบเศรษฐกิจกว่าหมื่นล้านบาท
หอการค้าไทย ประเมินความเสียหายน้ำท่วมภาคเหนือ 8 พันล้านบาท ภาคเกษตรอ่วมสุด เสียหายกว่า 7 พันล้านบาท หวั่นน้ำท่วมยืดเยื้อ ขยายวงกว้าง ทำเศรษฐกิจสูญเสียกว่าหมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.06% ของ GDP มั่นใจกรุงเทพฯ ไม่ท่วมเหมือนปี 54
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาคเอกชนได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ ซึ่งยังมีแนวโน้มที่ฝนจะตกเพิ่มอีกระลอก โดยหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินมูลค่าความเสียหายกรณีสถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่ภาคเหนือ เบื้องต้นประมาณ 8,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.05% ของ GDP (สมมติให้สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายภายใน 15 วัน)
ทั้งนี้ จากการประเมิน พบว่า ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีมูลค่าความเสียหายถึง 7,168 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 89.6% ของความเสียหายทั้งหมด รองลงมาเป็นภาคบริการ เสียหาย 693 ล้านบาท (8.66%) และภาคอุตสาหกรรมเสียหาย 139 ล้านบาท (1.74%)
โดยจังหวัดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ เชียงราย มีมูลค่าความเสียหายรวม 3,632 ล้านบาท รองลงมาคือ พะเยา 2,034 ล้านบาท และสุโขทัย 1,359 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หลายจังหวัดยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดน้ำท่วม โดยเฉพาะฝนตกหลังเขื่อนที่อาจสร้างผลกระทบเพิ่มเติม
“หากสถานการณ์ยืดเยื้อถึง 1 เดือน และขยายวงกว้างอาจเสียหายรวมกว่าหมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.06% ของ GDP "นายสนั่น กล่าว
นายสนั่น กล่าวว่า ในระยะสั้นหอการค้าฯ เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้การสั่งการ และมอบหมายนโยบายข้ามกระทรวงเกิดการบูรณาการ การทำงานอย่างคล่องตัว และจะต้องเตรียมแผนรับมือมวลน้ำที่จะไหลลงมาสู่ภาคกลาง และกรุงเทพฯ ตลอดจนปริมาณฝนที่คาดว่าจะมีการตกหลังเขื่อนในช่วงเดือนกันยายน และตุลาคม ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มเติมได้
หากรัฐบาลมีแผนเชิงป้องกันไว้ล่วงหน้าที่ชัดเจนก็จะช่วยลดผลกระทบ และความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และเศรษฐกิจได้มาก
สำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะมีโอกาสเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเหมือนกับปี 2554 หรือไม่ ส่วนนี้หอการค้าฯ มองว่ามีความเป็นไปได้น้อย โดยประเมินจาก 5 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่
1.ปริมาณฝนสะสมปี 2567 น้อยกว่า ปี 2554 โดยในปี 2554 มีปริมาณฝนสะสมทั้งปีสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 24% ขณะที่ปี 2567 มีปริมาณฝนสะสมตั้งแต่ ม.ค.- 20 ส.ค.67 ต่ำกว่าค่าปกติ 4%
2.จำนวนพายุที่คาดว่าจะเข้าประเทศไทยปี 2567 น้อยกว่า ปี 2554 โดยในปี 2554 มีพายุเข้าถึง 5 ลูก ขณะที่ปี 2567 คาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนที่เข้าประเทศไทยเพียง 1-2 ลูก
3. ความสามารถในการรองรับน้ำของเขื่อนหลักปี 2567 ดีกว่าปี 2554 ณ วันที่ 30 ส.ค.2567 เขื่อนหลัก 4 แห่งมีปริมาณน้ำใช้การ 7,208 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 40% ของความจุ ยังรับน้ำได้อีก 10,967 ล้านลูกบาศก์เมตร (เทียบกับปี 2554 ที่สามารถรับน้ำเพิ่มได้เพียง 4,647 ล้านลูกบาศก์เมตร) แสดงว่าเขื่อนหลัก 4 แห่ง ยังมีความสามารถในการรองรับน้ำได้อีกมาก
4. แนวโน้มสถานการณ์น้ำในลำน้ำสายหลัก ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติถึงน้ำน้อย
5. ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C.2 แม่น้ำเจ้าพระยา ยังไม่มากเท่ากับปี 2554 ซึ่งปี 2567 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,307 ลูกบาศก์เมตร/วิ (คาดการณ์สูงสุด 2,860 ลูกบาศก์เมตร/วิ) เทียบกับปี 2554 ที่มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,284 ลูกบาศก์เมตร/วิ (ค่าสูงสุด 4,689 ลูกบาศก์เมตร/วิ)
นายสนั่น กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์น้ำในปี 2567 มีความรุนแรงน้อยกว่าปี 2554 อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้มีความเป็นไปได้น้อยที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเหมือนกับปี 2554
แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญทันทีหลังสถานการณ์ระดับน้ำลดลง และเข้าสู่ภาวะปกติคือ การช่วยเหลือ ซ่อมแซม และฟื้นฟู ให้ประชาชน และภาคธุรกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น ประชาชนที่บ้านจมหายหรือเสียหายทั้งหลังควรได้รับเงินชดเชยหรือเงินช่วยเหลือ
ส่วนของภาคธุรกิจ ก็ต้องเร่งสำรวจจัดลำดับความเสียหาย ซึ่งหอการค้าฯ เห็นว่ารัฐบาลควรมีนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐ เร่งจัดมาตรการทางการเงินช่วยเหลือ เช่น การพักชำระหนี้ การลดดอกเบี้ย หรือแม้แต่ Soft Loan เพื่อช่วยปรับปรุง ซ่อมแซม เครื่องไม้เครื่องมือในการประกอบธุรกิจ เพื่อให้ภาคธุรกิจกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็ว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์