10 ปี 'ชัยวัฒน์' CEO บางจาก เคลื่อนองค์กร 100 ปี คู่สังคมไทย

10 ปี 'ชัยวัฒน์' CEO บางจาก เคลื่อนองค์กร 100 ปี คู่สังคมไทย

เปิดผลงาน 10 ปี "ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช" CEO บางจาก ขับเคลื่อนองค์กร 100 ปี คู่กับสังคมไทยอย่างยั่งยืน ตั้งเป้ายอดขายทะลุ 1 ล้านล้านบาท ในปี 2573

KEY

POINTS

  • ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่เข้ามาบริหารงานในกลุ่มบางจากฯ ยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมาก จนปัจจุบันบางจากฯ ได้ครบรอบ 40 ปี มุ่งสู่ทศวรรษที่ 5 
  • จากโรงกลั่นขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย กลายเป็นดีที่สุดในโลก โดยได้รับรางวัล GPEA โรงกลั่นที่มีคุณภาพสูงสุดในประเทศไทยในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา
  • จากการเปลี่ยนตราสัญลักษณ์เป็น “ใบไม้ใบใหม่” สะท้อนภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งในฐานะผู้นำด้านพลังงานของประเทศที่มีความทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเปลี่ยนโลโก้แล้วกว่า 80% 
  • ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาบางจากฯ มีรายได้ระดับ 1.2 แสนล้านบาทต่อปี ปีนี้เพียงครึ่งปีสามารถทำรายได้รวมกว่า 293,438 ล้านบาท ตั้งเป้าปี 2573 จะมีรายได้รวม 1 ล้านล้านบาท 

หากย้อนดูรายได้ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จากผลการดำเนินงานในปี 2556 พบว่า บางจากฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการรวม 186,514 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,731 ล้านบาท 

ผ่านมา 10 ปีพบว่า ผลการดำเนินงานปี 2566 หลังจากปิดดีลประวัติศาสตร์ ในการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) หรือ BSRC (ชื่อเดิม บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)) มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 385,853 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น18% จากปี 2565) EBITDA 41,680 ล้านบาท และมีกำไรสำหรับงวดปี 2566 ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 13,233 ล้านบาท สูงสุดสร้างสถิติใหม่นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯ 

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่เข้ามาบริหารงานในกลุ่มบางจากฯ ยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมาก จนปัจจุบันบางจากฯ ได้ครบรอบ 40 ปี มุ่งสู่ทศวรรษที่ 5 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบางจากฯ มีการปรับเปลี่ยนไปเยอะ จากโรงกลั่นขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย กลายเป็นดีที่สุดในโลก โดยได้รับรางวัลโรงกลั่นที่มีคุณภาพสูงสุดในประเทศไทยในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา จากทางAsia Pacific Quality Organization, Inc. (APQO) ในรางวัล Global Performance Excellence Award (GPEA) 2023 ระดับ World Class ซึ่งเป็นการต่อยอดโรงกลั่นศรีราชา เพื่อพัฒนาให้เป็นโรงกลั่นชีวภาพ ตอบโจทย์เทรนดโลกมุ่งสู่ความยั่งยืน

จากการเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์ของบางจากฯ เป็น “ใบไม้ใบใหม่” สะท้อนภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งในฐานะผู้นำด้านพลังงานของประเทศที่มีความทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนโลโก้ที่สถานีบริการน้ำมันมากกว่า 80% แล้ว ตามแนวคิดที่อยากเห็สถานีบริการบางจากเด็กลง และมีความเป็นวัยรุ่น 

ทั้งนี้ จากการรีแบรนด์ดังกล่าว บางจากฯ ได้รับการยอมรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี จากยอดขายครึ่งปีที่ผ่านมาทั้งน้ำมันกลุ่มเบนซิน และกลุ่มแก๊สโซฮอล์ สวนทางกับยอดขายตลาดรวมที่ตกลง แต่บางจากฯ มียอดขายเพิ่มขึ้น 5% โดยส่วนหนึ่งมาจากการปรับปรุงสถานีบริการน้ำมัน และการเพิ่มร้านสะดวกซื้อที่มีคุณภาพในปั๊มน้ำมัน เป็นต้น 

นายชัยวัฒน์ เล่าว่า ต้องยอมรับว่าบางจากฯ เกิดขึ้นมาจากสถานีบริการน้ำมันกึ่งรัฐวิสาหกิจ ปัจจุบันได้แปลงตัวเองมาเป็นเอกชนมากขึ้น เพื่อให้มีความคล่องตัวมากขึ้น จากรายได้รวมช่วง 10 ปีที่ผ่านมาระดับ 1.2 แสนล้านบาท แต่เพียงครึ่งปีของปี 2567 บางจากฯ สามารถทำรายได้จากการขายและการให้บริการ 293,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 98% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 คิดเป็น EBITDA รวม 26,072 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48% จากช่วงเดียวกันของปี 2566 

"คาดว่าทั้งปี 2567 บางจากฯ จะมีรายได้จากการขายและการให้บริการระดับ 6 แสนล้านบาท และ EBITDA จากช่วง 10 ปีก่อน 7-8 พันล้านบาท และ EBITDA ปีที่แล้วระดับ 4.2 หมื่นล้านบาท จะเพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาท และรายได้จากการขายและการให้บริการจะเป็น 1 ล้านล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 5 เท่าในปี 2573 ดำเนินกลยุทธ์ตามแนวคิด Bangchak 100x สร้างความสุขให้กับพนักงาน เติบโตเป็นองค์กรที่ยั่งยืน 100 ปีคู่สังคมไทย" นายชัยวัฒน์ กล่าว

สำหรับสถานะการเงินปัจจุบันของกลุ่มบางจากมีเงินสดอยู่ที่ 45,284 ล้านบาท สินทรัพย์ 353,122 ล้านบาท EBITDA 50,000 ล้านบาท พร้อมวางแผนการลงทุน 6 ปี (2025-2030) ที่ 120,000 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนลงทุนในกลุ่มธุรกิจแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ประมาณ 42,000 ล้านบาท คิดเป็น 35%, ธุรกิจ refinery & marketing (โรงกลั่น, SAF, การตลาด) ราว 30%

ธุรกิจ Green Power เงินลงทุน 30,000 ล้านบาท และธุรกิจ bio-base & new business ประมาณ 10% “เงินลงทุนในช่วง 120,000 ล้านบาท จะแบ่งเป็น M&A ในสัดส่วน 45% ประมาณ 55,000 ล้านบาท ลงทุนในกลุ่มทรัพยากรธรรมชาติ 60% และกลุ่ม green power 40%

นายชัยวัฒน์ เล่าว่า บางจากได้ขยายธุรกิจการตลาดภายใต้แนวคิด “Greenovative Destination” ผ่านการเพิ่มเครือข่ายสถานีบริการกว่า 2,400 แห่งภายในปี 2573 จากปัจจุบันที่มีสถานีบริการ 2,214 แห่ง เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดเป็น 33% จากครึ่งปีแรกของปี 2567 อยู่ที่ 28.8%

ทั้งนี้ เพื่อรองรับเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง บางจากได้ติดตั้ง EV charge station ภายในสถานีบริการเพื่อรองรับผู้ใช้บริการ ซึ่งตั้งเป้าในทุก ๆ 100 กิโลเมตรจะมีสถานีชาร์จไฟฟ้า

ด้านกาแฟอินทนิลปัจจุบันมีมากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ โดยภายในปี 2573 ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนเป็น 2,400 แห่ง 

สำหรับธุรกิจโรงกลั่นและการกลั่นน้ำมัน จะมุ่งเน้นการสร้าง synergy ระหว่างโรงกลั่นระดับโลก 2 แห่ง คือ โรงกลั่นพระโขนงและโรงกลั่นศรีราชา

โดยได้ตั้งเป้าหมายอัตราการกลั่นน้ำมัน 280,000 บาร์เรลต่อวัน ในปี 2568 จาก nameplate capacity (กำลังการกลั่นติดตั้ง) รวม 294,000 บาร์เรลต่อวัน และเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพื่อเพิ่มค่าการกลั่น (GRM) รวมถึงการขยายการผลิตผลิตภัณฑ์เฉพาะทางที่มีมูลค่าสูง เช่น Unconverted Oil และขี้ผึ้ง

นอกจากนี้ ในปี 2568 จะเป็นปีแห่งการบุกเบิกความเป็นผู้นำในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ดำเนินการโดยบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด ด้วยกำลังการผลิต 7,000 บาร์เรลต่อวัน มีความพร้อมในการจัดวัตถุดิบสำหรับการผลิต จากเครือข่ายพันธมิตรและการรับซื้อน้ำมันผ่านโครงการทอดไม่ทิ้งทั่วประเทศ มาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนและน้ำมันแนฟทายั่งยืน

ประกอบไปด้วย 2 หน่วยหลัก คือ หน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันใช้แล้ว (Pretreating Unit, PTU) และหน่วยผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel Unit, SAFU) ซึ่งใช้เม็ดเงินลงทุนต่ำสุดในบรรดา SAF ทั่วโลก

ทั้งนี้ ปัจจุบันการก่อสร้าง หน่วยผลิต SAFU ดำเนินการไปแล้วประมาณ 55% ใช้เงินลงทุน 85,000 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถเริ่มผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนได้ภายในเดือนมี.ค. 2568 มีกำลังการผลิต 1,000,000 ลิตรต่อวัน ลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 80%

"ด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและยุทธศาสตร์ที่แข็งแกร่ง เพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่องและบรรลุเป้าหมาย พร้อมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยและภูมิภาค รวมถึงขยายธุรกิจสู่ตลาดโลกอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการพัฒนาอย่างยั่งยืน"