เทรนด์รักษาสุขภาพ ดัน‘ธุรกิจสมุนไพรไทย’ เฟื่องฟู

เทรนด์รักษาสุขภาพ ดัน‘ธุรกิจสมุนไพรไทย’ เฟื่องฟู

กระแสใช้ “สมุนไพรไทย ดีต่อเนื่องหลังโควิด-19  ผู้บริโภคใช้เป็นทางเลือก”ดูแลรักษาสุขภาพ”  ตอกย้ำภาพคนดังใช้”ยาดม” กลายเป็นไวรัลออนไลน์ระดับโลก  ดันเป็น  Soft Power สร้างเศรษฐกิจให้ประเทศไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผย 5 ปี ธุรกิจสมุนไพรเติบโตทิศทางเป็นบวก

KEY

POINTS

Key Point

  • Euromonitor ตลาดของผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทยปี 2570  สูงถึง 74.0 พันล้านบาท
  • กรมพัฒนาธุรกิจการ เผย ธุรกิจสมุนไพร’ ช่วง 5 ปี(ปี 2562 - 2566) มีทิศทางการประกอบธุรกิจที่เป็นบวก
  • กระแสคนดัง “ลิซ่า ลลิษา มโนบาล ” และนักมวยเหรียญเงินโอลิมปิกไทย ใช้”ยาดม”ตอกย้ำสมุนไพรไทยดังทั่วโลก

วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพตัวเอง  ความเชื่อของผู้คนบางส่วนต่อการใช้วัคซีนและยาสังเคราะห์ ทำให้เกิดการหวาดกลัวว่าจะส่งผลต่อร่างกายในอนาคต ผู้คนจึงเริ่มมองหาตัวเลือกในการดูแล บําบัด บรรเทาอาการ และ การรักษาสุขภาพระยะยาว

“สมุนไพร’ จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ ในการดูแลสุขภาพของหลายๆ คน เนื่องจากสมุนไพรเป็นวัตถุที่ได้จากธรรมชาติ พืชพันธุ์ อวัยวะ สัตว์ และแร่ธาตุ ส่งผลให้คนกลุ่มหนึ่งเชื่อมั่นในการนำมาใช้ในการป้องกันโรค การรักษา ส่งผลให้ ธุรกิจสมุนไพร” เติบโตมากในช่วงที่ผ่านมา

จากข้อมูลของ Euromonitor พบว่า การค้าปลีกผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั่วโลกในปี 2565 มีมูลค่า 56.50 พันล้านดอลลาร์ โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีมูลค่าการค้าปลีก ผลิตภัณฑ์สมุนไพรสูงที่สุด เป็นอันดับ 1 มีมูลค่าสูงถึง 32.54 พันล้านดอลลาร์ รองลงมา คือภูมิภาคอเมริกาเหนือ 9.43 พันล้านดอลลาร์ และภูมิภาคยุโรปตะวันตก  8.58 พันล้าน ดอลลาร์

ขณะที่ตลาดของผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทย  (สมุนไพรไทย) ในปี2565 มีมูลค่าสูงถึง 52.10 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี2564 ประมาณ 8% โดยผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีความปลอดภัย มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่า และมีผลข้างเคียงที่น้อยกว่า ความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับการเติบโตที่สูงขึ้น มีการคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรจะเติบโตเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี และจะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 74.0 พันล้านบาทในปี 2570

เทรนด์รักษาสุขภาพ ดัน‘ธุรกิจสมุนไพรไทย’ เฟื่องฟู

"อรมน ทรัพย์ทวีธรรม "อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์  กล่าวว่า ธุรกิจสมุนไพร เติบโตตามกระแสการรักสุขภาพของผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ ตลาดสมุนไพรเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก รวมทั้งกระแสความนิยมในการบริโภค อุปโภคผลิตภัณฑ์ ‘ออร์แกนิค’ ยิ่งตอกย้ำตลาดสมุนไพรให้ขยายวงกว้างและมีกลุ่มผู้บริโภคหลายหลากมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้น ยังมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับสัตว์และสมุนไพรในการกําจัดศัตรูพืชเกิดขึ้นอีกด้วย

จากข้อมูลพบว่า  ‘ธุรกิจสมุนไพร’ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 - 2566) คือ ช่วงก่อน - ระหว่าง - หลัง การระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีและมีทิศทางการประกอบธุรกิจที่เป็นบวก โดย ปี 2562 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ 1,303 ราย ทุน 2,178.55 ล้านบาท

 ปี 2563 จัดตั้ง 1,547 ราย  เพิ่มขึ้น 244 ราย หรือ 18.73% ทุน 5,344.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,165.60 ล้านบาท หรือ 145.31%  

ปี 2564 จัดตั้ง 2,343 ราย (เพิ่มขึ้น 796 ราย หรือ 51.46%) ทุน 4,424.56 ล้านบาท (ลดลง 919.59ล้านบาท หรือ 17.21%) 

ปี 2565 จัดตั้ง 2,571 ราย เพิ่มขึ้น 228 ราย หรือ 9.74% ทุน 5,957.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,532.65 ล้านบาท หรือ 34.64%

ปี 2566 จัดตั้ง 2,534 ราย ลดลง 37 ราย หรือ 1.44%  ทุน 5,855.62 ล้านบาท ลดลง 101.59 ล้านบาท หรือ 1.71%

ปี 2567 มกราคม - กรกฎาคม จัดตั้ง 1,452 ราย ทุน 3,128398 ล้านบาท

เทรนด์รักษาสุขภาพ ดัน‘ธุรกิจสมุนไพรไทย’ เฟื่องฟู

ขณะที่ ธุรกิจสมุนไพร ปี 2564 รายได้ 867,531.41 ล้านบาท กำไร 38,760.99 ล้านบาท 

ปี 2565 รายได้ 905,960.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38,428.69 ล้านบาท หรือ 4.43% กำไร 33,311.40 ล้านบาท ลดลง 5,449.59 ล้านบาท หรือ 14.06%

 ปี 2566 รายได้ 872,466.83 ล้านบาท ลดลง 33,493.27 ล้านบาท หรือ 3.70% กำไร 27,497.70 ล้านบาท   ลดลง 5,813.70 ล้านบาท หรือ 17.46%

"ถึงแม้ว่า ช่วงปี 2565-2566 ผลประกอบการจะลดลงเล็กน้อย แต่ในระยะยาวคาดว่าผลประกอบจะกลับมาเติบโตจากกระแสการนําสมุนไพรมารักษาโรคและเทรนด์รักสุขภาพ โดยการนําเอาสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆซึ่งคาดว่า ธุรกิจสมุนไพรมีแนวโน้มเติบโตได้ดี"นางอรมน กล่าว

โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากสินค้าของไทยได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติที่มักจะซื้อใช้งานเองหรือนำกลับไปเป็นของฝาก อาทิ ยาดม ยาหม่อง เครื่องสำอาง ยา และอาหาร ประกอบกับเกิดปรากฎการณ์บนโลกออนไลน์ที่ผู้มีชื่อเสียงทั้งชาวไทยและต่างชาติหยิบสินค้าไทย (ยาดม) ขึ้นมาใช้งานและมีภาพเผยแพร่บนโซเชียลมีเดียไปทั่วโลก อาทิ นักร้องไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก “ลิซ่า ลลิษา มโนบาล” และล่าสุดนักกีฬายกน้ำหนักไทยที่สูดยาดมก่อนขึ้นไปแข่งขันในกีฬาระดับโอลิมปิกก่อนคว้าเหรียญเงินมาได้จนภาพกลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์และเป็นที่สนใจของชาวต่างชาติ

“ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาจึงเป็นโอกาสสำคัญที่สมุนไพรไทยจะกลายเป็น Soft Power สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ไม่ยากและยังเป็น “โอกาส” ที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยในการเข้าทำธุรกิจในช่วงเวลานี้”นางอรมน กล่าว