เครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ คีย์เวิร์ดท้าทายนโยบาย‘แพทองธาร’

เครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ คีย์เวิร์ดท้าทายนโยบาย‘แพทองธาร’

“เครื่องยนต์เศรษฐกิจ” เป็นอีกคีย์เวิร์ดที่มีการระบุในร่างนโยบายรัฐบาลที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 ก.ย.2567 ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้

หลังจากในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีปัญหาขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ รวมทั้งประเทศไทยเจอปัญหาติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางมานาน หากนับเฉพาะการเป็นประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูงถือว่าติดกับดักนี้มาตั้งแต่ปี 2554

ร่างนโยบายของ แพทองธาร ประกาศที่จะขับเคลื่อนนโยบายระยะกลางและระยะยาวมีแผนที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ (Industry Transformation)และพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ หรือ New Growth Engine ที่จะปูพื้นฐานให้เศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เพื่อเร่งให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้เร็ว และถ้าประเทศไทยไม่ดำเนินการอะไรจะทำให้ GDP ขยายตัวต่ำกว่า 3%

สำหรับการสร้าง New Growth Engine ของรัฐบาลจะเริ่มจากการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมไปสู่อุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ รวมถึงการผลักดันเศรษฐกิจสีเขียว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การกำกับดูแลให้เกิดการจัดสรรคลื่นความถี่และสิทธิในวงโคจรดาวเทียมให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ และการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเงินของโลก 
   

การสร้าง New Growth Engine จึงถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับรัฐบาลแพทองธาร เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งที่ผ่านมาหลายฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าประเทศไทยจะต้องก้าวข้ามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพให้ได้ และจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างภาคการผลิตที่ประเทศไทยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และสินค้าไทยเริ่มเห็นสัญญาณการไม่เป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น
   

รัฐบาลแพทองธาร มีเวลา 3 ปี ที่จะวางทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เพียงพอที่รัฐบาลจะวางพื้นฐานของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และถึงแม้ว่าจะไม่สำเร็จในรัฐบาลชุดปัจจุบันแต่จำเป็นที่จะเริ่มต้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเริ่มได้ดีในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมบางส่วน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่สามารถรองรับการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปได้สำเร็จ ดังนั้นเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่จึงเป็นประเด็นท้าทายอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลปัจจุบัน