กระทรวงเกษตรฯ เพิ่มเป้า 1 ล้านไร่ ปลูกข้าวโพดหลังนา ปี67/68
กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้ง เป้าหมาย 1 ล้านไร่ มุ่งเพิ่ม ปริมาณผลผลิต ขยายพื้นที่ปลูกทั้งในและนอกเขตชลประทาน
นายนวนิตย์ พลเคน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประเทศไทย ครั้งที่ 2/2567ว่า
ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบร่างโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้ง ปี 2567/68 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ ลดการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากต่างประเทศ และส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้ง เป้าหมายพื้นที่ดำเนินการ จำนวน 1 ล้านไร่
แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกปัจจุบัน จำนวน 661,644 ไร่ พื้นที่ปลูกใหม่ (ขยายพื้นที่ปลูก) จำนวน 338,356 ไร่ เกษตรกรเป้าหมาย 100,000 ราย โดยดำเนินการในพื้นพื้นที่เหมาะสมมาก และเหมาะสมปานกลาง ทั้งพื้นที่ในเขตชลประทาน หรือนอกเขตชลประทาน ที่มีศักยภาพในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีกทั้งมีศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำ เช่น มีระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้า แหล่งน้ำธรรมชาติ บ่อตอก บ่อบาดาล เป็นต้น ระยะเวลาดำเนินการ กันยายน 2567 - สิงหาคม 2568
พร้อมกันนี้ ได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งฯ เพื่อติดติดตาม กำกับดแลการผลิต ชี้แจงประชาสัมพันธ์โครงการ ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ทั้งระดับกระทรวง ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล และที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำรายละเอียดสนับสบสนุนในกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งฯ เพื่อฝ่ายเลขาฯ รวบรวมจัดทำโครงการให้สมบูรณ์ และนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) เพื่อพิจารณาต่อไป
สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่า การส่งออกประมาณ 80,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่การผลิิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย พบว่าปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ โดยการคาดการณ์ผลผลิตข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ปีการผลิต 2567/68 อยู่ที่ 4,970,897 ตัน แบ่งเป็นฤดูฝน 4,433,522 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.83 และฤดูแล้ง 537,375 ตัน ลดลงร้อยละ 3,57 เมื่อเทียบกับปี 2566/67 (ข้อมูล ณ มิถุนายน 2567 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร)
โดยในปี 2567 คาดว่าอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีความต้องการข้าวโพดเสียงสัตว์ประมาณ 8.91 ล้านต้น (ข้อมูล ณ ธันวาคม 2566 โดยสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย) ในขณะที่ปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผลิตได้ในประเทศมีเพียง 4.97 ล้านตัน ทำให้ต้องมีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และวัตถุดิบ ทดแทน เช่น ข้าวสาลี และกากถั่วเหลือง เป็นต้น โดยในปี 2566 มีการ นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปริมาณ 1.33 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 15,187 ล้านบาท (ข้อมูล ณ กุมภาพันธ์ 2567 โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร)