อย่าคาดหวังผลบวกเศรษฐกิจมากเกินไป เมื่อแจก 'ดิจิทัลวอลเล็ต' เป็นเงินสด!

อย่าคาดหวังผลบวกเศรษฐกิจมากเกินไป เมื่อแจก 'ดิจิทัลวอลเล็ต' เป็นเงินสด!

"สุวิทย์" ชี้ดิจิทัลวอลเล็ตแจกเป็นเงินสดไม่ได้ผลบวกต่อเศรษฐกิจเหมือนเงื่อนไขที่ออกแบบไว้ในดิจิทัลวอลเล็ต ชี้มีช่องโหว่เงินไม่ลงระบบเศรษฐกิจเพียบ รัฐบาลหวังเงินดิจิทัลวอลเล็ตก้อนแรก 1.4 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ ภูมิธรรม หวังเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย 2 รอบ

หลายปัจจัยที่ทำให้โครงการดิจิทัลวอลลเล็ตเรือธงในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดโครงการทั้งวงเงินที่ใช้ในโครงการและรูปแบบที่จะมีการแจกเงินจากเดิมเป็นการแจกเงินให้ใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ตผ่านแอปทางรัฐ  มาเป็นการแจกเงินสดให้กับกลุ่มคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มคนพิการ เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินจำนวน 1.22 แสนล้านบาท และงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนปีงบประมาณ 2567 สามารถทำได้ทันภายในวันที่ 30 ก.ย.2567 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดปีงบประมาณ 2567

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวว่าการปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในส่วนแรกเป็นการแจกเป็นเงินสดนั้นเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็ว ประชาชนประมาณ 14 ล้านคนจะได้เงินคนละ 10,000 บาท รวมเป็นวงเงินประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลคาดหวังว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยคาดหวังว่าเงินจำนวนนี้จะไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อย่างน้อย 2 รอบ

อย่างไรก็ตามในแง่ของการแจกเงินสดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแม้จะมีความสะดวกในการใช้จ่ายของประชาชน แต่ว่าผลที่จะเกิดต่อระบบเศรษฐกิจนั้นอาจไม่สามารถคาดหวังได้มากนักเนื่องจากมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายที่รัฐบาลควบคุมการใช้จ่ายได้ยากซึ่งทำให้ความมุ่งหวังที่จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายนี้ไม่สามารถคาดหวังผลบวกทางเศรษฐกิจได้มากเท่ากับการทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเหมือนกับที่รัฐบาลเคยได้ออกแบบไว้แต่แรก

นายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าว่า ปกติแล้วการแจกเงินสดให้กับประชาชนเงินสดได้ใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทยเคยใช้มาแล้วในช่วงที่เราเผชิญกับโควิด-19 ซึ่งขณะนั้นมีโครงการแจกเงินผ่านโครงการคนละครึ่งที่ใช้ร่วมกันระหว่างเม็ดเงินของภาครัฐที่ลงไปกระตุ้นภาคเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ภาครัฐมีการใช้งบประมาณในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไปเป็นจำนวนมากหากรวมงบประมาณในส่วนที่ใช้เยียวยาและด้านสาธารณสุขใช้เงินไปกว่า 1.5 ล้านล้านบาท แต่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากโควิดช้ามาก ขณะที่เวียดนาม อินโดนิเซีย นั้นใข้เวลาในการที่เศรษฐกิจจะฟื้นขึ้นมาได้ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี เศรษฐกิจก็ฟื้นกลับมาอยู่ในช่วงเดียงกันของโควิด-19 ซึ่งส่วนนี้ก็ต้องมาพิจารณาแล้วว่ามาตรการที่ใช้ในขณะนั้นไม่ได้ผลดีต่อระบบเศรษฐกิจเท่าที่ควร เพราะหากดีนั้นเศรษฐกิจไทยจะจ้องกลับมาขยายตัวได้ในระยะเวลาเพียง 1 – 2 ปีเท่านั้น แต่ขณะนี้เศรษฐกิจไทยเรายังไม่ฟื้นจากโควิด-19 เต็มที่นักและยังมีปัญหาเศรษฐกิจหลายเรื่องโดยเฉพาะการขาดสภาพคล่องของประชาชน และตัวเลขหนี้เสีย (NPL) ที่ยังพุ่งสูงต่อเนื่อง

นายสุวิทย์ระบุว่าปกติแล้วเมื่อมีเม็ดเงินใหม่ลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของประชาชนนั้นแม้เงินจะหมุนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 3 – 4 รอบ แต่ละรอบก็จะมีการหมุนของเม็ดเงินที่ลดลงเรื่อยๆ หากไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายในแต่ละรอบ หรือกำหนดพื้นที่การใช้จ่ายแบบที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเคยกำหนดเอาไว้ ปริมาณเงินที่ลงไปจะไม่หมุนเวียนได้เต็มที่ และทำให้การขยายตัวของจีดีพีไม่ได้มากเท่าที่ควร

โดยจากการคำนวณในครั้งแรกที่จะมีการออกมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตแบบที่มีการกำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายและกำหนดพื้นที่จะทำให้จีดีพีขยายตัวได้ประมาณ 0.6 – 1.1% แต่หากมีการปรับเปลี่ยนโครงการแจกเป็นเงินสดและไม่ได้มีการควบคุมอะไรในการใช้จ่ายของประชาชนจะเหลือไม่เกิน 0.5 – 0.6% เท่านั้นซึ่งถือว่าไม่ได้ช่วยเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าที่ควร

“หากแจกเงินสดให้ประชาชนไปใช้จ่ายเป็นเงินสด ผลที่ออกมาจะไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจเติบโตมาก เนื่องจากไม่มีการควบคุม วางแผนให้เงินหมุนเวียนได้หลายรอบ ซึ่งเงินสดที่จะได้บางคนได้ไปก็อาจไม่ได้นำไปใช้ทันที บางคนนำไปใช้หนี้ก็ไม่เกิดการหมุนเวียน บางคนก็นำไปซื้อสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งก็ไม่ทำให้ Multiplier Effect ในประเทศเกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย”นายสุวิทย์ กล่าว