“ต้นทุนสูง-กฎตลาดเปลี่ยน”ท้า“โคนม-ทุเรียนป่าละอู”ปรับทัพรับเกมใหม่
“นม”มีโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายและเป็นสารตั้งต้นเมนูน่าอร่อยหลากหลาย ประเทศไทยผลิตนมและผลิตภัณฑ์หล่อเลี้ยงคนไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและมีศักยภาพมายาวนาน
ข้อมูลจาก กลุ่มวิจัยเศรษฐกิจการปศุสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ได้ประเมินสถานการณ์อุตสาหกรรมนมในประเทศ ว่า ด้านการผลิต คาดปริมาณ นํ้านมดิบปี 2567 ทั้งหมด 1,079 พันตัน มูลค่า 22,660 ล้านบาท ส่วนปริมาณนํ้านมดิบที่มีเอ็มโอยู ( MOU) ระหว่างผู้เลี้ยงกับผู้ประกอบการปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.2566-ก.ย.2567) ของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือ มิลค์บอร์ด จำนวน 2,983 ตันต่อวัน หรือ ประมาณ 1,088.80 พันตันต่อปี
ข้อมูลดังกล่าวนี้สะท้อนศักยภาพของอุตสาหกรรมนมของไทย ซึ่งกำลังเผชิญความท้าทายจากข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทยออสเตรเลีย และ เอฟทีเอไทย-นิวซีแลนด์ ที่ไทยผูกพันเปิดเสรีทางการค้าในสินค้า 3 รายการ ได้แก่ น้ำนมดิบ นมผงขาดมันเนย และเครื่องดื่มประเภทนม/นม UHT ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2548
จากวันนั้นถึงวันนี้ เอฟทีเอออสเตรเลีย ไทยมีข้อผูกพันต้องเปิดเสรีสินค้านมผงเต็มมันเนย (Whole milk) เนยและชีส ด้วยการลดภาษีเป็น 0% ภายใน 10-15 ปี หรือ ปี 2563 ที่ผ่านมา และ ผูกพันน้ำนมดิบและนมพร้อมดื่ม ด้วยการลดภาษี 0% ในเวลา 20 ปี หรือ 1 ม.ค. 2568
ขณะที่ นิวซีแลนด์ ไทยมีข้อผูกพันต้องเปิดเสรีสินค้า นม ครีม และนมผงขาดมันเนย ด้วยการลดภาษี 0% ภายใน 20 ปี หรือ 1 ม.ค. 2568
นอกจากผลของข้อตกลงการค้าแล้วเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกำลังเผชิญความท้าทายอื่นอีกมากและมีกลยุทธ์ปรับตัวที่น่าสนใจ
ประจักษ์ มีลิ ผู้จัดการสหกรณ์โคนม-ไทยเดนมาร์ค ห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า การจัดการเพื่อให้อาชีพหลักคือการเลี้ยงโคนมสามารถอยู่รอดได้ต้องใช้ความพยายามและการแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ๆ เริ่มจากปัญหาเกษตรกรในพื้นขาดแคลน“หญ้าเนเปียร์”ต้องซื้อจากพื้นที่อื่น เช่น สุพรรณบุรี กลายเป็นต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยวัว 1 ตัวจะกินหญ้าอย่างน้อย 40 กิโลกรัม(กก.)ต่อวัน
นอกจากหญ้าแล้ววัวต้องกินอาหารสัตว์ด้วย ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ อย่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ที่ทำให้ต้นทุนอาหารเพิ่มขึ้นจากลูกละ 300 บาท เป็น 400 บาท ซึ่งปัญหานี้ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขได้ จึงต้องใช้วิธีบริหารจัดการต้นทุนเริ่มที่ต้นทุนอาหารของวัวก่อน
“แม่วัวใช้เวลาประมาณ 3 ปีจากลูกวัวจนเป็นแม่วัว ต้นทุนการเลี้ยงเฉลี่ย 300 บาทต่อตัวต่อวัน ถ้าได้น้ำนม 15 กก.ถือว่าได้กำไรแล้วถ้าจะให้ได้มากกว่านั้นก็ต้องลดปริมาณอาหารลงเพื่อลดต้นทุนให้อยู่ที่ 150 -200 บาท แต่คุณภาพน้ำนมอาจจะไม่ดี ดังนั้น ต้องบริหารต้นทุนแทนด้วยการหาแหล่งหญ้าที่มีราคาเหมาะสมและผสมอาหารให้วัวเท่าที่จำเป็นพร้อมมองหาอาหารเสริมในท้องถิ่นที่มีคุณภาพใกล้เคียงแต่ราคาต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม ด้วยลักษณะเฉพาะของพื้นที่นี้มีสภาพอากาศที่ดี จึงเป็นตัวช่วยให้วัวนมของเรามีผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง”
สำหรับ การบริหารจัดการภายในฟาร์มก็เป็นสิ่งจำเป็น ปัจจุบันเกษตรกรหลายรายกำลังปรับพื้นที่เพื่อปลูกทุเรียน เพื่อใช้ประโยชน์จากสภาพอากาศที่เหมาะสมซึ่งเป็นจุดขายของ“ทุเรียนป่าละอู” ซึ่งจะช่วยให้ฟาร์มมีรายได้เข้ามา ชดเชยหากกรณีต้นทุนการผลิตวัวนมผันผวนจนกระทบผลกำไร
นอกจากการจัดการด้านการผลิตแล้ว การปรับตัวเพื่อวางกลยุทธ์ทางธุรกิจก็เป็นสิ่งจำเป็นปัจจุบันสหกรณ์กำลังหาตลาดด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น นมอัดเม็ด โดยเฉพาะรสทุเรียน และนมสำหรับชงกาแฟซึ่งยอมรับว่าตลาดยังมีข้อจำกัดคือวางขายเฉพาะเครือข่ายร้านค้าที่มีข้อตกลงไว้ แต่มองว่าศักยภาพและคุณภาพของสหกรณ์น่าจะสามารถบุกตลาดต่างประเทศได้ เช่น ตลาดจีน ตลาดสิงคโปร์ สปป.ลาว หรือแม้แต่กัมพูชา ซึ่งมีข้อสังเกตจากการไปออกร้านตามสถานที่ต่างๆที่มีชาวต่างชาติพบว่าได้รับความสนใจอย่างมาก แต่ยังติดปัญหาการสื่อสารที่ทำให้ไม่สามารถต่อยอดความสำเร็จจากการออกร้านได้เท่าที่ควร
ส่วนผลหลังการเปิดเสรีเอฟทีเอ ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์นั้นมั่นใจว่าจะรับมือได้เพราะคุณภาพสินค้าที่ผลิตได้ซึ่งมีปัจจัยสภาพอากาศดีจากที่ตั้งบนพื้นที่สูงเป็นแต้มต่อ และการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี ทำให้ผลิตภัณฑ์นมของสหกรณ์เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและหากทำตลาดต่างประเทศอย่างจริงจังก็มั่นใจว่า จะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้มากขึ้นและมั่นคงขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ พื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีลักษณะทางภูมิศาสตร์เฉพาะซึ่งนอกจากจะเหมาะสมสำหรับการเลี้ยงโคนมแล้ว ยังเป็นพื้นที่ปลูกทุเรียนป่าละอู ซึ่งประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ทุเรียนป่าละอู เมื่อก.ค. 2557
จิระวัฒน์ เลิศอัคราวิโรฒ ควาลิตี้ไทม์ ฟาร์มสเตย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในชาวสวนทุเรียนป่าละอูที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ จีไอ เล่าว่า ทุเรียนป่าละอูต่างจากที่อื่นอย่างชัดเจนเพราะมีเนื้อเนียนนุ่มละมุน หอม แห้งและกลิ่นไม่ฉุน ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดมาก
อย่างไรก็ตาม ปัญหาภัยแล้งช่วงที่ผ่านมา ฝนไม่ตกเลยทำให้ ผลผลิตน้อย ปีนี้จึงมีผลผลิตทุเรียนป่าละอู่น้อยหรือลดลงไป 30 -40% สำหรับพื้นที่ปลูกทุเรียนป่าละอูปัจจุบันอยู่ที่ 1,000 ไร่แต่ยอมรับว่าผู้ปลูกส่วนใหญ่ยังไม่ใช่มืออาชีพ
“ของผมมีพื้นที่ปลูกอยู่ที่ 50 ไร่เบื้องต้นไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากนักเพราะมีแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงเพียงพอทำให้ผลผลิตปีนี้มากกว่าปีที่แล้ว ซึ่งมีการวางแผนเพื่อจะให้มีทุเรียนนอกฤดูด้วยในช่วงพ.ย.-ธ.ค. และตอนนี้กำลังมองพืชอีกชนิด คือ อาโวคาโด ที่มีอยู่หลายสายพันธุ์มีข้อดีคือเนื้อละเอียดและเนียนมากแตกต่างจากที่อื่น เป็นอีกพืชเศรษฐกิจที่แจ่มใสมากกว่าทุเรียนเพราะเป็นผลไม้สุขภาพราคา 120 บาทต่อกก. และ 1 กก. มีประมาณ1-2 ลูกเป็นผลไม้ที่มีอนาคตเพราะการจัดการไม่ได้ยุ่งยากเท่าทุเรียน”
สำหรับราคาทุเรียนป่าละอู เฉลี่ยที่ลูกละ 250-300 บาท ราคาดีกว่าปีที่แล้ว ตลาดส่วนใหญ่ขายในประเทศเป็นหลักซึ่งไม่พอกับความต้องการของตลาด
“แม้จะมีราคาดีเป็นที่ต้องการของตลาดแต่การปลูกและดูแลมีต้นทุนที่สูงมาก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 30,000 บาทต่อเดือน ส่วนเรื่องยาฆ่าแมลงไม่ได้ใช้มากเพราะพยายามจะลดการใช้อยู่แล้ว”
สำหรับพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีสภาพแวดล้อมที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลที่เหมาะสมกับทุเรียนซึ่งมีลักษณะเฉพาะแม้จะนำทุเรียนพันธุ์อื่นๆจากแหล่งอื่นๆมาก็ยังเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
“ตอนแรกปลูกไว้ 600 ต้นทำตายไป 400 ต้น ตอนนี้รู้วิธีปลูกทุเรียนแล้ว และลูกค้าจะเป็นคนทั่วไปที่ฟาร์มขายเอง ทางออนไลน์ หรือจัดบุฟเฟ่ต์ทุเรียนบ้างเพื่อเป็นโปรโมชั่น ตอนนี้กำลังแปรรูปเป็นไอศครีมเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจและต่อยอดให้อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่ีผลตอบแทนดี และมั่นคง”