ปลดล็อกผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อป กฎหมายต้องไปให้ทันเทคโนโลยี
นักลงทุนกำลังกำหนดเงื่อนไขใหม่เพื่อพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุน ซึ่งเงื่อนไขที่ว่านี้มีความเข้มข้นในกลุ่มการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศหรือ FDI ที่มีส่วนสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจไทย
ทั้งในแง่เม็ดเงินลงทุน การขับเคลื่อนกิจกรรมการลงทุน หรือ แม้แต่การจ้างงานและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เงื่อนไขใหม่ที่ว่านี้ คือ “พลังงานสะอาด” ได้แก่ น้ำ ลม และแสงอาทิตย์ ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบัน กำลังบอกว่าใครๆก็ผลิตไฟฟ้าได้จากพลังงานเหล่านี้ได้ แต่ข้อกฎหมายปัจจุบันยังไม่เอื้ออำนวยให้เท่าที่ควร
เมื่อเร็วๆนี้ ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 4/2567 ที่ประชุมได้นำพิจารณามาตรการการส่งเสริมที่สำคัญคือด้านผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานทดแทน ที่ประชุมเสนอให้มีการติดตั้ง ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีการเสนอปรับปรุงมาตรการ ให้เหมาะสมต่อการลงทุนในยุคที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืน ทั้งนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่
1. การแก้ไขกฎหมายในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เนื่องจากกฎหมายโรงงานเดิมกำหนดว่าการติดตั้ง Solar Rooftop ที่มีกำลังผลิตเกินกว่า 1 เมกะวัตต์ เข้าข่ายเป็นโรงงานต้องขอรับใบอนุญาต การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ทุกภาคส่วนใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เพื่อยกระดับระบบพลังงานไฟฟ้าไทยให้มีความเสถียร ยั่งยืน เป็นพลังงานสะอาด และราคาถูก ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญที่จะตอบสนองกติกาสากลและช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าการปลดล้อกกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในปี พ.ศ. 2567
2. กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยี คัดแยกซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และสามารถนำวัสดุพลอยได้ (By-Products) จากกระบวนการคัดแยก ได้แก่ แผ่นซิลิกอน และแถบลวดนำมาผลิตเป็นโลหะเงิน โลหะทองแดง อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์และโลหะซิลิกอน สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าของเสียและรักษาวัตถุดิบให้หมุนเวียนภายในประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ รวมทั้งลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมจากการจัดการอย่างไม่ถูกต้อง
ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเดินหน้าแก้ไขกฎหมายปลดล็อคให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก Solar Rooftop ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอีกต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขกฎกระทรวง คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี พ.ศ. 2567
โดยการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางการผลักดันให้ทุกภาคส่วนใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เพื่อยกระดับระบบพลังงานไฟฟ้าไทยให้มีความเสถียร ยั่งยืน เป็นพลังงานสะอาดและราคาถูก ซึ่งจะเป็นจุดแข็งสำคัญที่จะตอบสนองกติกาสากลและช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ให้เพิ่มมากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศแบบ “ซีโร่คาร์บอน”
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประสานข้อมูลกับภาคเอกชน อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคศูนย์การค้า ภาคโรงแรม และภาคบริการ พบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการติดตั้ง โซล่าเซลล์มีราคาที่ถูกลง ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่ประสงค์จะติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) เป็นจำนวนมาก เช่น อาคารโรงงาน ศูนย์การค้า โรงแรม มหาวิทยาลัย เป็นต้น
ตามกฎหมายโรงงานเดิมกำหนดว่าการติดตั้ง Solar Rooftop ที่มีกำลังผลิตเกินกว่า 1,000 กิโลวัตต์ หรือ 1 เมกะวัตต์ เข้าข่ายเป็นโรงงานต้องขอรับใบอนุญาต อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการผลิตโซล่าเซลล์มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณมากโดยใช้จำนวนแผงเซลล์แสงอาทิตย์หรือพื้นที่ติดตั้งลดลงกว่าเดิมถึง 2.7 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2557 อีกทั้งยังมีมาตรฐานควบคุมด้านความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“การปลดล็อคดังกล่าวไม่เพียงแต่จะช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจจากการติดตั้ง Solar Rooftopได้ง่ายขึ้น ยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 500 tCO2/เมกะวัตต์/ปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้62,500 ต้น นับเป็นการผลักดันให้ผู้ประกอบการเกิดการขับเคลื่อนทางธุรกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน"
สำหรับการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดดังกล่าว จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายความเป็น
กลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608)ของประเทศไทย ต่อไป
ก่อนหน้านี้ จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ได้เคยออกมาระบุว่า อยู่ระหว่างขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายปลดล็อกให้การติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบันมีจำนวนมาก
สอดคล้องกับแผนของกรอ.ที่ เตรียมผลักดันให้มีการแปลงเครื่องจักรเป็นทุนจาก Solar Rooftop ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือธุรกิจธุรกิจขนาดกลางและย่อม( SMEs)โดยผู้ประกอบการสามารถนำ Solar Rooftop เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อ อีกทั้งผู้ประกอบการที่ไม่มีทุนสำหรับติดตั้ง Solar Rooftop สามารถนำโครงการไปขอสินเชื่อสำหรับติดตั้ง Solar Rooftop จากสถาบันทางการเงิน เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
โดยในปี 2566 มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนำ Solar Rooftop มาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร จำนวน 169 ราย เพิ่มขึ้นกว่า 90% เมื่อเทียบกับปีก่อน และในปี 2567 คาดว่าจะมีการนำ Solar Rooftop มาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร เพิ่มขึ้นกว่า 100%
เมื่อเทคโนโลยีและกฎระเบียบเดินไปในทิศทางเดียวกัน อย่างกรณี Solar Rooftopที่การติดตั้งง่ายขึ้น ใช้พื้นที่น้อยลงส่งผลให้ดีมานด์เพิ่มแต่หากฎหมายยังจำกัดเรื่องข้อกำหนดต้องขออนุญาตแล้วก็อาจทำให้การพัฒนาพลังงานสะอาดไม่ก้าวไปได้ไกลเท่าที่ควรซึ่งสวนทางกับเทคโนโลยีและความต้องการของพลังงานสะอาดโลก