‘คลัง’ รับภารกิจรัฐบาลใหม่ เร่งปฎิรูป ขยายฐานภาษี เพิ่มจัดเก็บรายได้รัฐ

‘คลัง’ รับภารกิจรัฐบาลใหม่ เร่งปฎิรูป ขยายฐานภาษี เพิ่มจัดเก็บรายได้รัฐ

การแถลงนโยบายของรัฐบาล มีประเด็นความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการจัดหารายได้ใหม่เข้าสู่รัฐเพื่อรองรับภาระด้านการคลัง เช่น การขยายฐานภาษี และนำเอาเศรษฐกิจที่อยู่นอกระบบ (Informal Sector) ที่มีสัดส่วนถึง 50% ของ GDP

KEY

POINTS

  • ประเด็นเศรษฐกิจสำคัญของรัฐบาล "แพทองธาร" คือการจัดหารายได้ใหม่เข้าสู่รัฐเพื่อรองรับภาระด้านการคลัง

  • การขยายฐานภาษี เปลี่ยนโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ไปสู่ระบบ Negative Income Tax นำเอาเศรษฐกิจที่อยู่นอกระบบ (Informal Sector) ที่มีสัดส่วนถึง 50% ของ GDP

  • นโยบายภาษีที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ภาษีแบตเตอรี่ ภาษีคาร์บอน

  • การบริหารทรัพย์สินของรัฐให้ได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะกลายเป็นเม็ดเงินที่กลับเข้าสู่ระบบภาษี 

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีของต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2567 โดยพบว่าในการแถลงนโยบายของรัฐบาล มีประเด็นความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการจัดหารายได้ใหม่เข้าสู่รัฐเพื่อรองรับภาระด้านการคลัง เช่น การขยายฐานภาษี และนำเอาเศรษฐกิจที่อยู่นอกระบบ (Informal Sector) ที่มีสัดส่วนถึง 50% ของ GDP ซึ่งหากสามารถขยายฐานภาษีได้เพิ่มก็เท่ากับภาครัฐจะจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นรายได้ของรัฐบาลต่อไปในอนาคต

“กรุงเทพธุรกิจ” ติดตามสาระสำคัญของนโยบายรัฐบาลส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังที่จะต้องรับมาดำเนินการต่อ เพื่อขยายฐานภาษีและเพิ่มการจัดเก็บรายได้ให้กับรัฐ รวมทั้งเร่งบริหารทรัพย์สินของรัฐให้ได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะกลายเป็นเม็ดเงินที่กลับเข้าสู่ระบบภาษี และกลายเป็นศักยภาพทางนโยบายการคลัง (Fiscal Space) ที่เพียงพอสำหรับการเป็นแกนหลักในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต
 

โดยคำแถลงนโยบายตอนหนึ่งในหัวข้อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายโอกาส ระบุว่า รัฐบาลจะเปลี่ยนโครงสร้างทางภาษีครั้งใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้ ดึงเศรษฐกิจนอกระบบที่มีอยู่มากกว่า 50% เข้าอยูู่ในระบบเพื่อขยายฐานภาษี รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ของการปฏิรูประบบภาษีไปสู่แบบ Negative Income Tax ที่ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับ “เงินภาษีคืนเป็นขั้นบันได” ตามเกณฑ์ที่กำหนด

สศค.หน่วยงานหลักศึกษาปฏิรูปภาษี

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การปฎิรูประบบภาษีเป็นเรื่องระดับนโยบายที่จะต้องมีการรือร่วมกันกับหลายหน่วยงาน โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นหน่วยงานหลักในการศึกษา จัดทำนโยบายและแผนการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล

ทั้งนี้ การใช้ระบบ Negative Income Tax จะทำให้รัฐสามารถดูแลประชาชนได้เลยอย่างตรงจุด ตามฐานข้อมูลผู้ยื่นแบบภาษี โดยไม่จำเป็นต้องให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์สวัสดิการช่วยเหลือจากรัฐอีก ยกตัวอย่างกรณีที่รัฐต้องการช่วยเหลือประชาชนที่มีเงินได้น้อยกว่า 1 แสนบาทต่อปี กรมสรรพากรจะสามารถคืนเงินให้กับประชาชนที่มายื่นแบบได้โดยตรง

ซึ่ง Negative Income Tax จะสร้างแรงจูงใจทำให้ประชาชนเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี

เร่งปรับปรุงภาษีดึงการลงทุน 

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายการลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนคือจะต้องมีการบูรณาการภาษีทั้งระบบ ในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคล เพื่อลดช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวย และคนจนที่มีแนวโน้มจะยิ่งห่างกันมากยิ่งขึ้น อีกทั้งอัตราภาษีเงินได้ที่สูงเกินไปก็จะทำให้ไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ และทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่อยากเข้ามาอยู่ในไทย

“อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลของประเทศไทยถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะต้องลดภาษีเหล่านี้ลงให้เทียบเท่ากับระดับสากล”

สำหรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เกี่ยวข้องกับการบริโภค โดยมีการเก็บภาษีในอัตราเดียว ไม่ได้แยกเก็บไม่ว่าจะเป็นคนรวยคนจน ใครที่บริโภคมากก็จ่ายภาษีมาก ซึ่งอาจจะต้องทำให้มีการจัดสรรภาษีดังกล่าวส่วนหนึ่งไปสู่คนที่มีรายได้น้อย

นอกจากนี้ หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลระบุว่า ต้องสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ โดยรัฐจะดูแลและส่งเสริมพร้อมกับป้องกันผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SME จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
สรรพากรเร่งกม.เก็บภาษีแพลตฟอร์มต่างประเทศ

โดยรายงานจากกรรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในปี 2568 สรรพากรจะมีการบังคับใช้กฎหมาย จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการนำเข้าสินค้า Low-Value Goods มูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ซึ่งจะมีการพัฒนาระบบเพื่อให้แพลตฟอร์มที่มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นผู้นำส่ง VAT 7% คาดว่าจะจัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มราว 1,500 ล้านบาทต่อปี

สรรพากรตั้งเป้ารีดรายได้เพิ่มแสนล้าน

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรถือเป็นกรมจัดเก็บรายได้กว่า 80% ของรายได้รัฐทั้งหมด ซึ่งในปีงบประมาณ 2568 สรรพากรประมาณเป้าการจัดเก็บรายได้ อยู่ที่ 2.3725 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% หรือราว 1 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อน ตามกรอบวงเงินรายจ่ายงบประมาณปี 2568 ที่เพิ่มขึ้น
สรรพสามิตชงปรับนโยบายภาษี

นอกจากนี้ กรมสรรพากรจะยังมีการเสนอและจัดทำนโยบายทางภาษีที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน อีก 2 เรื่อง ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) ตามหลักการ Pillar 2 ที่กำหนดให้กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่เสียภาษีเงินได้ในอัตราภาษี ที่แท้จริงไม่น้อยกว่า 15% และการแก้ไขกฎหมายการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลักถิ่นที่อยู่ เมื่อพำนักในประเทศไทยเกิน 180 วัน บุคคลนั้นจะต้องมีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามหลักของ Wolrd Wide Income เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้อยู่อาศัยในประเทศทุกคนที่มีหน้าที่ยื่นแบบภาษี

นอกจากนั้นยังมีภาษีที่เกี่ยวข้องหลายรายการเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ภาษีแบตเตอรี่ ภาษีคาร์บอน ตามนโยบายหัวข้อการสร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม โดยรัฐบาลจะส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility) ได้แก่ เครื่องยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า ปลั๊กอินไฮบริด ไฮบริด และเซลล์เชื้อเพลิง เร่งดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้มาตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวทางที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) และการถ่ายโอนเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้แก่ธุรกิจไทย ในขณะที่ยังรักษาการจ้างงานควบคู่กัยการส่งเสริมพัฒนายกระดับทักษะและปรับทักษะของแรงงานไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง