'วีริศ' ผู้ว่าการรถไฟฯ คนที่ 30 รับโจทย์ปิดจ๊อบลงทุนระบบราง 6.39 แสนล้าน

'วีริศ' ผู้ว่าการรถไฟฯ คนที่ 30 รับโจทย์ปิดจ๊อบลงทุนระบบราง 6.39 แสนล้าน

“สุริยะ” สั่งการบ้านผู้ว่าการรถไฟฯ คนใหม่ ปิดจ๊อบลงทุนระบบรางในรัฐบาลนี้ เม็ดเงินลงทุนกว่า 6.39 แสนล้านบาท ลุยรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง ขยายไฮสปีดไทย - จีนเฟส 2 ทยอยเปิดประมูลไตรมาส 1 ปีหน้า หวังช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และเชื่อมการค้าเส้นทางไทย - ลาว – จีน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 ก.ย.2567 เห็นชอบแต่งตั้ง นายวีริศ อัมระปาล เป็นผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คาดว่าเร็วๆ นี้น่าจะลงนามสัญญาจ้างได้ทันที และตนจะเดินทางไปมอบนโยบายให้ผู้ว่าการฯ คนใหม่ ภายในต้นเดือนต.ค.นี้ 

สำหรับนโยบายสำคัญที่ตนจะเร่งรัดให้ผู้ว่าการรถไฟฯ ดำเนินการหลังจากนี้ คือ การเดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้แล้วเสร็จตามแผน เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะการพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ภายใต้กรอบความร่วมมือไทย - จีน ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา จะต้องแล้วเสร็จเปิดบริการกลางปี 2571 

อีกทั้งการรถไฟฯ ต้องเร่งรัดเปิดประกวดราคางานก่อสร้างส่วนของระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย พร้อมทั้งเริ่มกระบวนการจัดหาเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ให้บริการเดินรถ ซึ่งคาดว่าส่วนของงานก่อสร้างจะผ่านการพิจารณาจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. และเข้าสู่การพิจารณาใน ครม.ภายในปีนี้ เพื่อเริ่มกระบวนการเปิดประมูลจัดหาผู้รับเหมาในไตรมาส 1 ปี 2568 

“ปีหน้าจะครบรอบ 50 ปีสัมพันธ์ไทย - จีน โครงการไฮสปีดสายนี้ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทั้งสองประเทศต้องการพัฒนาเพื่อเชื่อมการค้า และการขนส่งในเส้นทาง One Belt One Road เชื่อมต่อแนวเส้นทางไฮสปีดไทย - ลาว - จีน ดังนั้นโจทย์สำคัญคือ การรถไฟฯ ต้องเร่งรัดโครงการนี้ให้เป็นไปตามแผน เป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องการผลักดันด้วย”

นอกจากนี้ โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 รวมจำนวน 7 เส้นทาง ปัจจุบันพบว่าผ่านการพิจารณาจาก ครม.ไปเพียง 1 เส้นทาง และยังเหลืออีก 6 เส้นทาง ถือเป็นเรื่องที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นภายในรัฐบาลนี้ เพราะหากพัฒนารถไฟทางคู่ครบตามแผน จะทำให้โครงข่ายระบบรางสมบูรณ์ และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับ รฟท.ซึ่งปัจจุบันสถานะอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สศช. เชื่อว่าภายในรัฐบาลนี้จะอนุมัติ และเปิดประมูลทั้งหมด ปิดตำนานโครงการลงทุนระบบรางที่ค้างอยู่

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ผู้ว่าการรถไฟฯ คนใหม่ จะต้องขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า โดยมีเป้าหมายให้การรถไฟฯ กลับมาเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่สำคัญของประเทศ พร้อมทั้งจะต้องกำหนดนโยบาย และทิศทางในการแก้ปัญหาให้ชัดเจน โดยเฉพาะการไขปัญหาหนี้สะสม ที่ในปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึงกว่า 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ทั้งจากการขนส่งผู้โดยสาร การขนส่งสินค้า การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

\'วีริศ\' ผู้ว่าการรถไฟฯ คนที่ 30 รับโจทย์ปิดจ๊อบลงทุนระบบราง 6.39 แสนล้าน

โดยหลังจากที่ตนเข้ามากำกับ รฟท.นั้น จะตรวจดูสัญญาเช่าที่ดินของการรถไฟฯ พร้อมทั้งพิจารณาที่ดินแปลงใหญ่ที่มีความพร้อมในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาประมูลพัฒนาโครงการต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้มีที่ดินแปลงใหญ่เตรียมเปิดประมูล อาทิ ที่ดินสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่ดินสถานีมักกะสัน ที่ดิน RCA และที่ดินสถานีธนบุรี เป็นต้น

สำหรับการให้บริการผู้โดยสารนั้น มอบหมายให้ รฟท. ยกระดับขบวนรถไฟ โดยการปรับปรุงขบวนรถไฟชั้น 3 (รถพัดลม) ให้เป็นขบวนรถปรับอากาศ (รถแอร์) เพื่อยกระดับการให้บริการพี่น้องประชาชน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้วย ทั้งนี้ จะสามารถทำให้ รฟท. มีรายได้จากการให้บริการขบวนรถไฟพาณิชย์ได้เพิ่มมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าอัตราค่าโดยสารจะไม่กระทบต่อกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ โครงการลงทุนระบบรางที่ รฟท.ต้องเร่งรัด พบว่ามีมูลค่ารวมมากกว่า 6.39 แสนล้านบาท ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ภายใต้กรอบความร่วมมือไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร รวมมูลค่าการลงทุน 341,351.42 ล้านบาท ส่วนแพ็กเกจระบบรถไฟทางคู่ ระยะ 2 ที่ค้างจากการเสนอเข้า ครม.ชุดก่อนหน้า สถานะมีความพร้อมด้านผลศึกษาแล้ว รวม 6 เส้นทาง มูลค่า 298,060 ล้านบาท ประกอบด้วย 

ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 281 กิโลเมตร วงเงิน 81,143 ล้านบาท, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร วงเงิน 30,422 ล้านบาท, ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร วงเงิน 66,270 ล้านบาท, ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร วงเงิน 68,222 ล้านบาท, ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงิน 44,103 ล้านบาท และช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร วงเงิน 7,900 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีโครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่ต้องเสนอเข้า ครม. เพื่อทำให้ระบบขนส่งสายนี้เชื่อมต่อชานเมืองเข้าสู่เมืองชั้นในอย่างสะดวก ประกอบด้วย โครงการส่วนต่อขยายรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต - มธ.ศูนย์รังสิต วงเงิน 6,473 ล้านบาท และส่วนต่อขยายรถไฟสายสีแดง ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 15,176 ล้าน 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์